เคล็ดลับเบื้องต้น วิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล

โดย ภัทรธร ช่อวิชิต AISA นักลงทุนเน้นคุณค่า
3 Min Read
29 กุมภาพันธ์ 2567
2.56k views
TSI_Article_554_Inv
Highlights
  • โรงพยาบาลเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต เมื่อประชากรมีอายุยืนขึ้น ความต้องการในการใช้บริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น การมาของโรคอุบัติใหม่ การขยายตัวของเมือง เทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และเป็นกลุ่มหุ้นขวัญใจนักลงทุน

  • แม้ธุรกิจโรงพยาบาลจะไม่ค่อยซับซ้อน แต่ต้องประเมิน วิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะงบการเงินให้รัดกุมก่อนตัดสินใจลงทุน

หากเอ่ยถึงหุ้นกลุ่มยอดนิยมที่นักลงทุนชื่นชอบ คือ กลุ่มโรงพยาบาล เพราะถือเป็นธุรกิจหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันก็มีโรคที่อุบัติใหม่และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และหากมองในเชิงการดำเนินธุรกิจถือเป็นธุรกิจที่ทนทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดี พูดง่าย ๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะซบเซาหรือขยายตัวก็มีแนวโน้มเติบโต เพราะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยหรือความต้องการใช้บริการโรงพยาบาล ทำให้เป็นธุรกิจที่เติบโตได้ในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลจะเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำและเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับมีปัจจัยเฉพาะตัว เช่น การรับรู้รายได้ทางบัญชี ต้นทุนทางการเงิน กฎระเบียบ การแข่งขัน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะการวิเคราะห์งบการเงิน ซึ่งในเบื้องต้นมีขั้นตอน ดังนี้

 

แบ่งประเภทของหุ้นโรงพยาบาลเพื่อวิเคราะห์ให้ง่ายขึ้น

การวิเคราะห์ควรเริ่มจากการดู Business Model พูดง่าย ๆ ให้ดูวิธีการทำมาหากิน ว่ามีรายได้หลักจากลูกค้ากลุ่มไหน โดยดูได้จากคำอธิบายผลประกอบการจากรายงานประจำปี รวมถึงบริษัทได้ส่งข้อมูลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ข่าวบริษัทจดทะเบียน) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนมีไอเดียในการลงทุน เช่น บริษัทกำลังเน้นลูกค้ากลุ่มไหนและเติบโตมากน้อยแค่ไหน โดยสามารถแบ่งกลุ่มหุ้นโรงพยาบาลตามกลุ่มลูกค้าได้ดังนี้

  • ลูกค้าเงินสดและลูกค้าประกัน ลักษณะธุรกิจทั่วไปของโรงพยาบาล จะเปิดดำเนินการเพื่อรักษาลูกค้าในบริเวณใกล้ ๆ โดยลูกค้าจะมี 2 กลุ่ม คือ ลูกค้าเงินสดและลูกค้าที่ใช้สิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิบัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม ประกันสุขภาพ เป็นต้น โดยกลุ่มลูกค้าเงินสดเมื่อรักษาเสร็จจะจ่ายเงินทันที (โรงพยาบาลได้เงินสด ไม่มีลูกหนี้การค้า) ขณะที่หากรับลูกค้าใช้สิทธิต่าง ๆ โรงพยาบาลต้องออกค่าใช้จ่ายก่อนแล้วค่อยรอเก็บเงินจากประกัน ทำให้ในงบการเงินจะเห็นลูกหนี้การค้า จึงต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงกว่าโรงพยาบาลที่เน้นรับลูกค้าเงินสด

 

ดังนั้น สังเกตว่าโรงพยาบาลที่เน้นรับสิทธิประกันสังคม มักจะเลือกตั้งสาขาโรงพยาบาลใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม โดยรายได้มาจากภาครัฐจะจ่ายเหมาเป็นรายหัว ทำให้การดำเนินธุรกิจช่วงแรก ๆ จะไม่ค่อยมีกำไร เพราะจำนวนผู้ประกันตนมีน้อย จึงต้องสะสมฐานลูกค้า 2 - 3 ปี จึงจะเริ่มมีกำไร

 

  • ลูกค้าในและต่างประเทศ ปัจจุบันนักลงทุนจะเห็นข้อมูลเกี่ยวกับส่วนแบ่งลูกค้าระหว่างในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็จะประเมินได้ว่ามีการเติบโตอย่างไร เช่น ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าต่างประเทศก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะไม่สามารถเดินทางเข้ามารักษาได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็มีกลยุทธ์รับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น ต้องนำปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาประเมินด้วย เช่น คุณภาพและความเชี่ยวชาญของแพทย์ บุคลากร ราคาค่ารักษาพยาบาล หรือโรงพยาบาลบางแห่งก็ใช้เทรนด์เพื่อทำการตลาด การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

 

  • โรงพยาบาลเฉพาะทาง ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น โดยจะเน้นบริการเฉพาะด้านที่เชี่ยวชาญ เช่น ความงาม ทันตกรรม หรือผู้มีบุตรยาก เป็นต้น

 

ลักษณะร่วมของงบการเงินธุรกิจโรงพยาบาล

  • โครงสร้างงบดุล ลักษณะธุรกิจโรงพยาบาลจะเป็นการลงทุนซื้อที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เพื่อรองรับความต้องการเอาไว้ ทำให้สินทรัพย์รายการ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ มีขนาดรายการใหญ่เกิน 50% ของสินทรัพย์รวม โดยทั่วไปจะบอกขนาดของโรงพยาบาลเป็นจำนวนเตียง ยิ่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีจำนวนเตียงมาก

 

สำหรับสินค้าคงเหลือ จะเป็นยาและอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้ง ถัดมาเป็นลูกหนี้การค้า หากโรงพยาบาลมีลูกค้าเงินสดจำนวนมาก ทำให้ลูกหนี้การค้าต่ำ และลูกหนี้การค้าจะเพิ่มขึ้นเมื่อรับลูกค้าประกันชีวิต ประกันภัยที่มีค่ารักษาพยาบาล ส่วนลูกหนี้การค้าที่รับลูกค้าประกันสังคมก็ต้องพิจารณาแต่ละกรณี ว่าสามารถเบิกจากเงินรายหัวของผู้ประกันตนได้หรือไม่ หากกรณีที่เบิกไม่ได้จะทำให้มีรายจ่ายเป็นผลขาดทุนด้านเครดิตในงบกำไรขาดทุน

 

ส่วนของหนี้สิน โครงสร้างหนี้สินของธุรกิจโรงพยาบาลจะสัมพันธ์กับโครงสร้างสินทรัพย์ โดยหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ระยะยาว เพราะจะกู้มาเพื่อลงทุนซื้อที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ที่มีอายุยาว อย่างไรก็ตาม สังเกตว่าโดยส่วนใหญ่ธุรกิจดังกล่าวจะมีหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ต่ำ เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวกสูง ทำให้มีเงินไปจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยค่อนข้างเร็ว พูดง่าย ๆ สามารถจ่ายหนี้หมดภายในเวลารวดเร็ว

 

สำหรับหนี้ที่สามารถใช้เป็นสัญญาณการเติบโตในอนาคต คือ เงินรับล่วงหน้าจากลูกค้า ซึ่งจะเป็นเงินที่ลูกค้าวางมัดจำแล้วมาใช้บริการต่อไป โดยเฉพาะโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เน้นความงาม เพราะเมื่อลูกค้าตกลงใช้บริการก็จะจ่ายเงินมัดจำไว้ก่อน และเมื่อมาใช้บริการ หนี้ดังกล่าวก็ลดลงและกลายเป็นรายได้ แต่หากลูกค้าไม่มาใช้สิทธิก็ตีกลับเป็นรายได้ในอนาคต ดังนั้น หากโรงพยาบาลมีเงินรับล่วงหน้าจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเมินได้ล่วงหน้าว่าอนาคตจะมีรายได้เติบโตขึ้นด้วย

 

  • งบกำไรขาดทุน เมื่อลูกค้ามาใช้บริการก็จะเกิดรายได้ และเพื่อให้วิเคราะห์ชัดเจนยิ่งขึ้น ในคำอธิบายผลประกอบการจะมีตัวเลขที่สะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วย เช่น จำนวนเตียง โดยจะบอกจำนวนเตียงทั้งหมด อัตราครองเตียง รายได้เฉลี่ยต่อเตียงต่อคืน เป็นต้น

 

สำหรับต้นทุนขาย จะเป็นค่าหมอ พยาบาล อุปกรณ์การแพทย์และค่าเสื่อมอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ส่วนค่าใช้จ่ายขายและบริหารจะเป็นค่าทำการตลาด ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น ๆ และเมื่อหักดอกเบี้ยและภาษีก็จะได้กำไรสุทธิ

 

อัตราส่วนทางการเงิน

เนื่องจากงบการเงินของหุ้นโรงพยาบาลมีสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนเยอะ ทำให้ธุรกิจนี้มีค่าใช้จ่ายคงที่สูง ในช่วงแรก ๆ ของการขยายตึกใหม่ การเพิ่มจำนวนเตียง รายได้ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน อัตรากำไรขั้นต้นจะต่ำลง กำไรไม่โต ราคาหุ้นไม่ไปไหนเป็นปี และเมื่อรายได้มากขึ้น เมื่อเลยจุดคุ้มทุน อัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แสดงว่ารายได้โตไวกว่าต้นทุนคงที่แล้ว ถ้าไตรมาสต่อไปรายได้ยังเพิ่มขึ้นอยู่ กำไรจะกระโดดแรง ราคาหุ้นมักจะขึ้นแรงไปด้วย

The graph illustrates the price movement, initial profit rate, and basic profit per share of Bumrungrad Hospital from 2017 to 2023

ตัวอย่าง หุ้น BH

บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) มีกลยุทธ์เน้นลูกค้าต่างชาติ โดยก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 มีอัตราครองเตียงเต็มตลอด จึงเติบโตได้ต่อเนื่อง และที่สำคัญมีการปรับขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล แต่มาเจ็บหนักช่วง COVID-19 เมื่อลูกค้าต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาไม่ได้ จึงเหลือแต่ลูกค้าคนไทยทำให้รายได้ปรับลดลง แต่ค่าใช้จ่ายไม่ลดลงตาม ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิลดลง เมื่อประเทศไทยเริ่มเปิดเมือง ทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้รายได้และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น และเมื่อรายได้ถึงจุดคุ้มทุน ทำให้ปัจจุบันอัตรากำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิสูงกว่าช่วง COVID-19 ไปเรียบร้อย

 

การประเมินมูลค่าหุ้น

ธุรกิจโรงพยาบาล เป็นธุรกิจที่มีกำไรสม่ำเสมอ ขณะที่ ROE อยู่ในระดับสูงและสม่ำเสมอ และสังเกตว่ามีการเติบโตต่อเนื่องทำให้ P/E Ratio ของหุ้นกลุ่มนี้มักจะมีค่าเฉลี่ยสูงประมาณ 20 - 30 เท่า ด้านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจจะเน้นขยายโรงพยาบาลหรือสร้างโรงพยาบาลใหม่ ซึ่งช่วง 1 - 2 ปีแรก จะเป็นจังหวะที่ยังไม่คุ้มทุน กำไรจะอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ราคาหุ้นไม่ค่อยขยับ แต่เมื่อเริ่มมีสัญญาณอัตรากำไรขั้นต้นเริ่มปรับเพิ่มขึ้น นักลงทุนควรประเมินว่ากำไรของโรงพยาบาลเปิดใหม่จะเติบโตมากน้อยแค่ไหน

 

วิธีเบื้องต้นในการประเมินกำไร คือ จำนวนเตียง เช่น สมมติว่าโรงพยาบาลแห่งใหม่มีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้น 30% หากอัตรากำไรเท่าเดิม หมายความว่ากำไรจะเติบโต 30% จากนั้นนำกำไรที่ได้คูณค่าเฉลี่ย P/E Ratio ก็จะได้ราคาหุ้นที่เหมาะสม หากถึงจุดคุ้มทุน กำไรเพิ่มขึ้นตามการประเมิน ราคาหุ้นมักจะปรับขึ้นตามไปด้วย

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Financial Statement Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: