เมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้ว การที่คนเราจะเข้าไปร่วมวงสนทนากับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราอาจจะต้องรู้จักกับคนกลุ่มนั้นหรือมีความเกี่ยวข้องกันทางใดทางหนึ่ง มิเช่นนั้นการที่เราเดินเข้าไปคุยในวงสนทนาเลย อาจทำให้ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพหรืออาจจะเป็นการรบกวนคนกลุ่มนั้น อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไป การถือกำเนิดขึ้นของโซเชียลมีเดียทำให้การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ผู้คนนับล้านคนสามารถสนทนา แสดงความคิดเห็นหรือพูดคุยกันได้ในหลากหลายหัวข้ออย่างอิสระโดยการคลิกเพียงปุ่มเดียว โดยที่เราไม่ต้องรู้จักหรืออยู่ใกล้กันทางกายภาพกับคู่สนทนาเลยด้วยซ้ำ และหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่ทุกคนน่าจะรู้จักและได้รับความนิยมมากที่สุดในศตวรรษนี้ก็คือ Facebook ซึ่งบริษัทที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้มีชื่อว่า Meta Platforms (META)
พันธกิจหลักของ META คือ การมอบพลังให้แก่ผู้คนในการสร้างชุมชนและทำให้โลกทั้งใบใกล้ชิดกันมากขึ้น และด้วยเหตุนี้เองทำให้บริษัทเดินหน้าขยายขอบเขตเครือข่ายโซเชียลมีเดียต่อเนื่อง โดยนอกจาก Facebook แล้ว META ยังเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น Messenger, Instagram, WhatsApp และ Threads เป็นต้น
โดยในบทความนี้ ผมจะขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับบริษัท Meta Platforms ผู้ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานกว่าวันละ 3.19 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap.) อยู่ที่ 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2024)
รายได้ของ Meta Platforms มาจากอะไร?
หากอ้างอิงจากงบการเงินปี 2023 รายได้ของบริษัทจะแบ่งเป็น 2 ธุรกิจ คือ
รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายพื้นที่โฆษณาบนสื่อโซเชียลมีเดียของ Family of Apps ซึ่งก็คือ WhatsApp, Facebook, Messenger, Instagram และ Threads ให้แก่นักการตลาดเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดที่หลากหลาย โดยต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการพัฒนากว่า 80% ของบริษัทอยู่ในธุรกิจส่วนนี้
2. Reality Labs (1.4%)
รายได้ของธุรกิจ Reality Labs มาจากการขายผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับแว่น AR / VR และ MR ทั้งหมด โดยต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการพัฒนา 20% อยู่ในธุรกิจกลุ่มนี้
ทั้งนี้หากแบ่งรายได้ตามภูมิภาคจะมาจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (46%) ยุโรป (24%) เอเชีย (19%) และอื่น ๆ (11%)
เคยมีประโยคหรือวลีที่แชร์กันอย่างแพร่หลายบนโลกออนไลน์ว่า “Facebook กำลังจะล่มสลาย” หรือ “ไม่มีคนเล่น Facebook กันแล้วตอนนี้” แต่หากลองพิจารณาผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าคำพูดดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยผมขอนำเสนอส่วนที่น่าสนใจของผลประกอบการไตรมาสล่าสุด Q4/2023 ของบริษัท Meta Platforms ที่เพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 ดังนี้
จะเห็นได้ว่า Meta Platforms ยังมีการเติบโตในทุกมิติสำคัญ ซึ่งแตกต่างกับคำพูดในโลกออนไลน์ที่มีการกล่าวถึงกัน หรือแม้กระทั่งโพสต์ดังกล่าวที่มีการแชร์กันอย่างแพร่หลาย ก็ยังถูกแชร์อยู่บนแพลตฟอร์ม Facebook ดังนั้นในโลกของการลงทุน การแยกข้อเท็จจริงออกจากวาทกรรมและการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจก็อาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสร้างผลกำไร
Meta เอาด้วย ร่วมวงเทรนด์ AI
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งมีการเปิดตัว Generative AI ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์รูปแบบหนึ่งที่ใช้สำหรับสร้างเนื้อหาได้อย่างหลากหลายแบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาช่วย ซึ่ง Meta ก็เป็นหนึ่งในนั้น บริษัทได้เปิดตัว Llama และนำมาพัฒนาจนเป็นเวอร์ชัน Llama 2.0 และได้ผนวกรวมกับแพลตฟอร์มของบริษัท เช่น บริการ Meta AI เป็นแชทบ็อตสนทนาลักษณะเดียวกับ ChatGPT โดยผู้ใช้งานสามารถค้นหา Reels (วิดีโอสั้น) ถามคำถาม และสร้างรูปภาพได้ตามที่ต้องการ เพียงพิมพ์คำถามหรือคำสั่งลงในกล่องข้อความ
ด้วยนวัตกรรมที่ล้ำสมัยนี้ส่งผลให้ธุรกิจโฆษณามีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งก็ได้สะท้อนออกมาผ่านจำนวนผู้ใช้งานรายวันและราคาเฉลี่ยต่อโฆษณาตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ ในการเผยผลประกอบการไตรมาสล่าสุด Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Meta เผยว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทในปี 2024 และมีแผนที่จะซื้อชิปประมวลผลสำหรับ AI รุ่น H100 จาก Nvidia กว่า 350,000 ตัว ซึ่งคาดว่าจะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI และพัฒนาโมเดล Llama 3.0 โดย Zuckerberg เห็นถึงความสามารถของ AI ที่จะเข้ามามีบทบาทในหลาย ๆ ด้าน รวมไปถึงธุรกิจแว่น AR / VR และ Metaverse พร้อมปิดท้ายด้วยการกล่าวว่า “มนุษย์จะพูดคุยกับ AI มากขึ้นในอนาคต”
โอกาสลงทุนหุ้น Meta Platforms ผ่านตลาดหุ้นไทย
ปัจจุบัน นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ซื้อขายบนกระดานตลาดหุ้นไทย เช่น DRx (Fractional DR) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ออก DRx จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้ถือ DRx จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนลงทุนหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศโดยตรง
ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัท META PLATFORMS, INC. หรือ DRx ของหุ้น META มีสัญลักษณ์ซื้อขาย คือ META80X เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น META ได้บนกระดานตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องยุ่งยากในการไปลงทุนหุ้น META ในต่างประเทศโดยตรง มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ เนื่องจาก DRx สามารถลงทุนขั้นต่ำโดยเริ่มต้นที่ 0.0001 หน่วยเท่านั้น และสามารถเลือกซื้อขายเป็นจำนวนเงินบาท หรือ จำนวนหน่วยของ DRx ก็ได้
นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายตามเวลาทำการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดซื้อขายในเวลา 2 ทุ่มถึงตี 4 ของวันถัดไป ทำให้การเคลื่อนไหวของราคา DRx จะสอดคล้องกับหุ้น META ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) โดยนักลงทุนสามารถซื้อขาย DRx ได้อย่างสะดวกผ่านแอปพลิเคชัน Streaming เช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้น เพียงแค่เปิดบัญชี DRx ซึ่งเป็นบัญชีย่อยภายใต้บัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มเติม หรือนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่แล้วสามารถขอเปิดบัญชี DRx ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Streaming
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน หลักการเลือกลงทุน และวิธีการลงทุน DRx ในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “DRx ลงทุนไซซ์เล็ก เพื่อโอกาสใหญ่ในตลาดโลก” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่