Amazon จากร้านหนังสือออนไลน์สู่บริษัทเทคฯ มูลค่าล้านล้านดอลลาร์

โดย ธีรภัทร เมธานุเคราะห์ นักวิเคราะห์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง
5 Min Read
21 กุมภาพันธ์ 2567
7.404k views
TSI_Article_552_Inv_Thumbnail
Highlights
  • Amazon เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในหลากหลายด้าน ตั้งแต่ขายสินค้าออนไลน์ ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ อีกทั้งยังมีบริการด้าน Cloud Computing ที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม โดยมุ่งมั่นในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเป็นผู้นำในวงการอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีในระดับโลก

  • Amazon เป็นบริษัทที่มีจุดเด่นในการเติบโตต่อเนื่องของรายได้ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 27% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

  • นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น Amazon ได้แล้วผ่านตลาดหุ้นไทย เพียงมีบัญชีซื้อขายหุ้นก็เทรดได้ แถมยังซื้อขายเป็นเงินบาท ผ่านแอปพลิเคชัน Streaming

Amazon.com (Amazon) เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าบริษัทนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการขายหนังสือออนไลน์ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1997 (ตัวย่อ AMZN) โดยมีมูลค่าตลาด (Market Cap) ณ ขณะนั้นเพียง 438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนมีวิวัฒนาการต่อมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีภายใต้ปรัชญาการทำธุรกิจที่เอาความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้ง ผ่านมา 27 ปี ปัจจุบันหุ้น AMZN มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2024) โดยหากเปรียบเทียบการลงทุนหุ้น AMZN ในราคา 100 บาทที่ราคา IPO ถึงตอนนี้จะมีมูลค่า 2.3 แสนบาท ในขณะที่ลงทุนดัชนี S&P 500 ในช่วงเวลาเดียวกันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 592 บาท ปัจจุบัน AMZN เป็นหนึ่งในสมาชิกของหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ที่มีอิทธิพลต่อการปรับขึ้นของดัชนี S&P 500 ในช่วงที่ผ่านมา

Graph comparing AMZN stock value against the S&P 500 index since entering the market

จากธุรกิจขายหนังสือออนไลน์มาเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่

Amazon.com Inc. (Amazon) ก่อตั้งขึ้นโดยนาย Jeff Bezos ในปี 1994 ซึ่งขณะนั้นทำงานที่บริษัทเฮดจ์ฟันด์ใน Wall Street หลังจากอ่านรายงานบทวิเคราะห์ที่คาดการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่โต 2,300% ต่อปี ทำให้เขามองเห็นโอกาสการทำธุรกิจผ่านช่องทางเว็บไซต์ จึงลาออกจากงานมาตั้งบริษัทของตนเองเพื่อทำธุรกิจขายของออนไลน์ โดยเริ่มจากการขายหนังสือก่อนแล้วต่อมาจึงเพิ่มจำนวนรายการสินค้ามากขึ้น รวมทั้งให้ผู้ขายทั่วไปใช้แพลตฟอร์ม Amazon ในการขายสินค้า ก่อนขยายไปยังธุรกิจด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการให้บริการด้านซอฟต์แวร์ จนกระทั่งปี 2006 Amazon ได้ก้าวข้ามจากบริษัทอีคอมเมิร์ซมาเพิ่มการให้บริการระบบคลาวด์ (Cloud Computing) ภายใต้ชื่อ Amazon Web Services (AWS) จนมาเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน

 

การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซสูงกว่ายอดค้าปลีก

ตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกมีการเติบโตที่สูงมากเมื่อเทียบกับยอดค้าปลีก อ้างอิงข้อมูลจาก eMarketer (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2023) ประมาณการว่าในช่วงปี 2016 - 2022 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกมีการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี (เทียบกับยอดค้าปลีกที่ 5% - 6%) และคาดว่าจะมีมูลค่า 6.3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เพิ่มขึ้น 10.4% จากปีก่อนหน้า โดยประเทศจีนมีมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่สุดในโลกราว 3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่ง รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกาที่ 1.2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แม้สหรัฐฯ มีตลาดค้าปลีกใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะผ่านสมาร์ตโฟน และความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าที่มีให้เลือกมากกว่า จากข้อมูลของ Statista ระบุว่าในปี 2022 ที่ผ่านมา Amazon มีส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซมากที่สุดในสหรัฐฯ ที่ 63% สูงกว่าอันดับสองคือ Walmart ที่มีส่วนแบ่งตลาด 11%

Top 10 US E-commerce Retailer Market Share, 2022

AWS เป็นระบบประมวลผลบน Cloud ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก

ปัจจุบัน AWS เป็นระบบประมวลผลบน *Cloud ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก จากการที่มีโซลูชันให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้หลากหลายนับตั้งแต่การคำนวณ การจัดเก็บข้อมูล ไปจนถึงการทำ Machine Learning มีผู้ใช้บริการทั้งบริษัทเอกชน Start-ups หน่วยงานรัฐบาล และสถานศึกษา โดยข้อมูลจาก Gartner ระบุว่าในปี 2022 AWS ของ Amazon มีส่วนแบ่งตลาด Cloud ทั่วโลกในแง่ของรายได้ 40% ทิ้งห่าง AZURE ของ Microsoft ที่ 21.5% โดย AWS ถือเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้ Amazon มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนราวสองในสามแม้มีสัดส่วนรายได้ไม่ถึงหนึ่งในห้า และจะเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตกำไรของ Amazon ต่อไป

Worldwide IaaS Public Cloud Services Market Share, 2021-2022 (Million USD)

*หมายเหตุ : Cloud Computing หรือ Cloud คือการให้บริการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งประกอบด้วยการคำนวณ การจัดเก็บข้อมูล เซิร์ฟเวอร์ บริการเน็ตเวิร์ด ไปจนกระทั่งปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีข้อดีคือ ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องลงทุนในทรัพยากรเหล่านี้ เพียงแค่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตก็ใช้งานได้ และสามารถปรับเพิ่มหรือลดขนาดตามความต้องการใช้เพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจ รวมทั้งไม่ต้องมีภาระในการ Maintenance และระบบก็จะมีการ Upgrade ให้เป็นเวอร์ชันที่ทันสมัยทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง

 

ทั้งนี้ตลาด Cloud มีมูลค่าใหญ่มาก จากการประมาณการของ IDC ในปี 2023 คาดว่ามีมูลค่า 6.6 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% YoY และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 19% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้าจนแตะ 1.34 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2027 โดยมีปัจจัยหนุนจากที่องค์กรมีการทำ Digital Transformation รวมทั้งการเข้ามาของ Generative AI ที่ต้องการความสามารถในการประมวลผลและเนื้อที่การจัดเก็บข้อมูลมากมายมหาศาล

 

รายได้หลักของ Amazon ประกอบด้วย

  1. Online Stores เป็นรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์และมีเดียคอนเทนต์ที่บริษัทบันทึกเป็นรายได้ทั้งหมด ซึ่งมีมากกว่า 12 ล้านรายการ
  2. Third-Party Seller Services เป็นรายได้ค่าบริการที่จัดเก็บจากผู้ขายสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ Amazon ในรูปของคอมมิชชัน แม้มีสัดส่วนประมาณ 24% ของรายได้รวม แต่ในแง่ของปริมาณสินค้ามีมากกว่า 60% ที่ขายผ่าน Amazon โดยมีจำนวนสินค้ามากกว่า 350 ล้านรายการ
  3. Amazon Web Services (AWS) เป็นรายได้จากการให้บริการบนระบบคลาวด์ ตั้งแต่การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การใช้บริการ Server และ Storage การสร้างและดูแลเว็บไซต์ ไปจนถึงระบบอีคอมเมิร์ซ
  4. Advertising Services เป็นรายได้จากการโฆษณาบนเว็บไซต์ของ Amazon ที่ผู้ขายสินค้า สำนักพิมพ์ ผู้เขียน ต้องการให้ลง เป็นต้น
  5. Subscription Services เป็นรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งรายเดือนและรายปีที่มาจากค่าสมาชิก Amazon Prime ที่มีทั้งหมดประมาณ 7 ล้านคน หรือราว 61% ของคนอเมริกัน
  6. Physical Stores เป็นรายได้จากการขายสินค้าที่มาจากร้านสาขาที่บริษัทจัดตั้งเองและร้านสาขาของ Whole Foods Group ที่บริษัทเข้าซื้อกิจการในปี 2017 ณ สิ้นปี 2023 มีทั้งหมด 707 สาขาทั่วโลก
Chart showing Amazon's revenue breakdown for fiscal year 2023

จุดเด่นของผลประกอบการบริษัท Amazon คือรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องมาตลอดทุกปีนับตั้งแต่ที่บริษัทก่อตั้ง ไม่เว้นแม้กระทั่งปีที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ หรือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากที่เคยทำรายได้ 148 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1997 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาเป็น 5.7 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023

 

ในขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทส่วนใหญ่ออกมาเป็นบวก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Amazon มีผลขาดทุน 2 ครั้ง คือในปี 2014 ที่มาจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนขยายธุรกิจ และในปี 2022 จากการขาดทุนเงินลงทุนในบริษัทผลิตรถไฟฟ้า Rivian ที่เริ่มก่อตั้ง

 

สำหรับในปี 2023 ที่ผ่านมา Amazon ทำกำไรสุทธิได้ 3.0 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จากที่เคยทำได้ 1.15 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 27% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  

Amazon's financial performance, 1995-2023

กฎแห่งความสำเร็จของ Amazon (The Amazon Way)

Amazon ถือเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ จนทำให้หลายบริษัทนำหลักการในการดำเนินธุรกิจของ Amazon มาใช้เป็นแบบอย่าง โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่สำคัญอย่าง การยึดลูกค้าเป็นที่ตั้ง (Customer Obsession) คือการใส่ใจลูกค้าอย่างจริงจังที่สุด ฟังความต้องการของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ และหาสิ่งที่ตรงใจลูกค้าที่สุดอยู่ตลอดเวลา โดยทำงานแบบย้อนกลับหลัง (Working Backwards) เพื่อสืบต้นตอว่าลูกค้าชอบอะไร และออกแบบขั้นตอน วิธีการ และผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจ และตอบโจทย์จนกว่าลูกค้าจะพอใจ ทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำซึ่งถือเป็นเคล็ดลับแห่งความสำเร็จของ Amazon มาจนถึงทุกวันนี้

 

โอกาสลงทุนหุ้น Amazon ผ่านตลาดหุ้นไทย

ปัจจุบัน นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ซื้อขายบนกระดานตลาดหุ้นไทย เช่น DRx (Fractional DR) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ออก DRx จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้ถือ DRx จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนลงทุนหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศโดยตรง

 

ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัท แอมะซอน.คอม อิงค์ (Amazon.com Inc.) หรือ DRx ของหุ้น AMZN มีสัญลักษณ์ซื้อขาย คือ AMZN80X เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น AMZN ได้บนกระดานตลาดหุ้นไทย (อัตราส่วน 1 หุ้น Amazon : 4,000 DRx) ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องยุ่งยากในการไปลงทุนหุ้น AMZN ในต่างประเทศโดยตรง มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ เนื่องจาก DRx สามารถลงทุนขั้นต่ำโดยเริ่มต้นที่ 0.0001 หน่วยเท่านั้น และสามารถเลือกซื้อขายเป็นจำนวนเงินบาท หรือ จำนวนหน่วยของ DRx ก็ได้

 

นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายได้ตามเวลาทำการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดซื้อขายในเวลา 2 ทุ่มถึงตี 4 ของวันถัดไป ทำให้การเคลื่อนไหวของราคา DRx จะสอดคล้องกับหุ้น Amazon.com ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) สหรัฐอเมริกา โดยนักลงทุนสามารถซื้อขาย DRx ได้อย่างสะดวกผ่านแอปพลิเคชัน Streaming เช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้น เพียงแค่เปิดบัญชี DRx ซึ่งเป็นบัญชีย่อยภายใต้บัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มเติม หรือนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่แล้วสามารถขอเปิดบัญชี DRx ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Streaming

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน หลักการเลือกลงทุน และวิธีการลงทุน DRx ในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “DRx ลงทุนไซซ์เล็ก เพื่อโอกาสใหญ่ในตลาดโลก” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: