5 ธีมลงทุนที่ทั่วโลกถามถึงมากที่สุดในปีมังกร 2024

โดย จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)
3 Min Read
19 กุมภาพันธ์ 2567
3.8k views
TSI_Article_551_Inv_Thumbnail
Highlights

5 ธีมการลงทุนจากรายงาน Global Fund Manager Survey (FMS) ที่นักบริหารเงินทั่วโลกและเอเชีย เห็นในทิศทางเดียวกันมากที่สุด ซึ่งเป็นธีมที่น่าสนใจเพื่อวิเคราะห์และการประเมินความเสี่ยง และน่าจะมีพลังไปต่อได้ในปีมังกรนี้ โดยธีมที่ทำผลงานได้ดีต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา เช่น ธีม Magnificent Seven (M7) ธีมหุ้นญี่ปุ่น เป็นต้น

ตลาดการเงินเปิดปีมังกร 2024 มาด้วยความคาดหวังที่สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา เหตุผลสำคัญมาจากอารมณ์ของตลาด ที่พลิกจาก “ความไม่แน่ใจ” ไปเป็น “ความกล้า” ด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่เศรษฐกิจโลกที่พลิกเป็นเติบโตแบบไม่มีความเสี่ยงถดถอย นโยบายการเงินพลิกจากเข้มงวดกลับมาผ่อนคลายอย่างรวดเร็ว และภาคธุรกิจที่พลิกจาก Late Cycle กลายเป็นความหวังของการเข้าสู่ New Growth Cycle จากการปฏิวัติเทคโนโลยีรอบใหม่

 

รายงาน Global Fund Manager Survey (FMS) ของ Bank of America Securities ล่าสุดประจำเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกับตั้งหัวเรื่องว่า Magnificent Sentiment ที่บอกถึงความมั่นใจของนักลงทุน ว่าตลาดทุนจะเข้าสู่ Bull Market แน่นอน

 

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จในการลงทุน ไม่ได้เกิดจากแค่ Sentiment ที่สดใส แต่บริบทของการลงทุน (Narrative) และ Fundamental หรือปัจจัยพื้นฐานก็ต้องสอดรับด้วย

 

ผมจึงนำ 5 ธีมลงทุน” ที่นักบริหารเงินทั่วโลกและเอเชียจาก FMS กำลังเห็นไปในทางเดียวกันมากที่สุด (Crowded Trade) มาวิเคราะห์หาโอกาส และประเมินความเสี่ยงไปพร้อมกัน

 

1. Magnificent Seven เป็นธีมที่ถูกถามถึงมากที่สุด ด้วยการเติบโตสูงที่มาพร้อมกับคุณภาพ

Magnificent Seven (M7) เป็นธีมลงทุนที่ทั่วโลกเห็นไปทางเดียวกันมากที่สุดอันดับหนึ่งมายาวนานนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 โดยผลตอบแทนของ Bloomberg Magnificent 7 ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นแรงถึง 84% และตั้งแต่ต้นปี 2024 ถึงตอนนี้บวกไปแล้วถึงกว่า 11%

 

เหตุผลของการลงทุนธีม M7 คือภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ถดถอย นักลงทุนสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีเงินสดเหลือ และเมื่อคิดลงทุน หุ้น M7 ก็มักเป็นตัวเลือกแรกต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021

 

M7 ไม่ใช่แค่การรวมหุ้นใหญ่เติบโตสูงอย่าง Nvidia (NVDA), Amazon.com (AMZN) หรือ Tesla (TSLA) เข้าด้วยกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผสมผสานเข้ากับหุ้นใหญ่ High Quality Tech อย่าง Apple (AAPL), Meta Platforms (META), Alphabet (GOOGL) และ Microsoft (MSFT)

 

การผสมผสานนี้ทำให้ทั้งกลุ่มการลงทุน ไม่ดูแพงเกินไป ในขณะเดียวกันแนวโน้มการเติบโตก็ยังคงสูงกว่าตลาด แต่ความเสี่ยงที่ต้องระวังของ M7 คือรายได้ที่สุดท้ายต้องชะลอตัวลง และการกำกับควบคุมที่จะเข้มงวดขึ้น ประเด็นเหล่านี้เคยเกิดขึ้นกับหุ้น Tech ในอดีตปี 2000 เป็นที่มาของ Dot Com Crisis มาแล้ว  

 

2. AI เกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงแห่งทศวรรษ รับแรงหนุนหลักจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

แรงส่งหลักของธีม Artificial Intelligence หรือ AI มาจากการที่นักลงทุนพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจเติบโต และกลุ่มเทคโนโลยี คือกลุ่มที่ตลาดมองว่ามีโอกาสสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งมานานนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ล่าสุดดัชนี Index Artificial Intelligence ก็ตอกย้ำด้วยการทำผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมากว่า 40%

 

แม้ธีม AI ไม่ได้ประกอบด้วยหุ้นใหญ่ที่ทุกคนรู้จักเหมือน M7 แต่ AI ได้รับความสนใจมาก จนถูกนำไปเปรียบเทียบกับธีมปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีต เช่น ไฟฟ้า PC หรือ Internet นอกจากนี้ ก็มีแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย CHIPS and Science Act และนโยบายการเงินที่คาดว่าจะผ่อนคลายในปีนี้

 

ความเสี่ยงหลักคล้ายกับ M7 คือเรื่องการกำกับและควบคุมที่จะเข้มงวดขึ้น แต่ด้วยความที่หุ้นในธีม AI ประกอบด้วยหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ความเสี่ยงที่ต้องระวังเพิ่มเติม คือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจพลิกกลับไปถดถอย

 

3. จีน ถูกถามมากที่สุดว่าควรทิ้งพญามังกรในปีมังกรหรือไม่

หุ้นจีน เป็นเพียงหนึ่งเดียวในกลุ่มการลงทุนที่มีคนสนใจว่าควร “ขายทิ้ง” ไม่ใช่ถือต่อ สะท้อนด้วยดัชนี MSCI China Index ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาที่ปรับตัวลดลงกว่า 26%

 

นักบริหารเงินทั่วโลกลงความเห็นว่าธีม “ขายหุ้นจีน” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากที่สุดอันดับสอง รองจากธีมซื้อหุ้น M7 เหตุผลหลักคือตลาดมองว่าโครงสร้างการเติบโตของจีนเปลี่ยนไปแล้ว การกระตุ้นของภาครัฐไม่มีผลเหมือนสมัยก่อน อีกทั้งความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก็ไม่มีวี่แววที่จะกลับมาปรองดอง

 

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ขายแล้วไม่ลง สามารถเป็นโอกาสในการฟื้นตัวได้เช่นกัน นักบริหารเงิน 33% ของตลาดอยากเห็นการแก้ไขปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ให้จบเสียก่อน ส่วน 14% เชื่อว่าความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ต้องลดระดับลงจนนักลงทุนสหรัฐฯ กล้าที่จะกลับมาลงทุน และ 9% ต้องการการกระตุ้นเชิงนโยบายที่มากพอให้นักลงทุนรายย่อยของจีนกล้ากลับเข้าลงทุน

 

4. ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่กลับมาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในรอบกว่า 40 ปี

ดัชนี Nikkei 225 ทำผลงานบวกช่วงปีที่ผ่านมาถึง 33% และต้นปีนี้ก็ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแล้วกว่า 10% ถือเป็นการลงทุนรายประเทศที่ดีที่สุด

 

เหตุผลของการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของหุ้นญี่ปุ่นรอบนี้ค่อนข้างแข็งแกร่ง ไล่ตั้งแต่การปรับระดับบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ส่งผ่านผลตอบแทนกลับให้นักลงทุนมากขึ้น บวกกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ส่งผลให้บริษัทปรับค่าจ้างพนักงาน เป็นแรงส่งของเศรษฐกิจ ผู้บริหารเงินทั่วโลกมองว่าโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลบวกกับหุ้นญี่ปุ่นได้ไกลเกินกว่าปี 2024 อีกด้วย

 

ความเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือการกลับทิศนโยบายการเงินเป็นเข้มงวด ที่อาจทำให้เงินเยนแข็งค่า กระทบกับแนวโน้มกำไรของบริษัทในอนาคต

 

5. อินเดีย ประเทศที่นักลงทุนหลายท่านเชื่อว่าจะเป็นตัวแทนของเอเชียแทนที่จีน

หุ้นอินเดียเป็นการลงทุนที่นักลงทุนเอเชียมองบวกมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น และในช่วงปีที่ผ่านมา MSCI India Index บวกขึ้นแข็งแกร่งถึง 28%

 

นอกจากอินเดียจะมีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงต่อเนื่องเป็นเหตุผลหลักของการลงทุนแล้ว ปีนี้ก็มีการเลือกตั้งรออยู่ โดยตลาดเชื่อว่าจะสร้างความต่อเนื่องให้กับนโยบายเศรษฐกิจทั้งเรื่องภาษีและการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม

 

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของหุ้นอินเดีย คือองค์ประกอบของตลาดที่หุ้นส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเก่า เช่น การเงิน พลังงาน และวัสดุก่อสร้าง แนวโน้มการเติบโตที่สูง จึงทำให้ราคาหุ้นแพง มีความเสี่ยงปรับฐานสูงกว่าธีมอื่น

 

ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่านักลงทุนคงเข้าใจโอกาสและความเสี่ยงของทั้ง 5 ธีมยอดนิยมปีมังกรนี้มากขึ้น ในมุมมองของผม การลงทุนในธีมสุดฮิตเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ต้องเข้าใจว่าเมื่อนักลงทุนสนใจมาก ราคาก็มีโอกาสผิดจากพื้นฐานมาก ไม่มีใครบอกได้ 100% ว่าเราอยู่จุดเริ่มต้นหรือจุดจบของฟองสบู่การเงินเหล่านี้

 

สิ่งสำคัญที่สุด คือต้องมองให้ออกว่าอะไรคือความเสี่ยง อะไรคือสิ่งที่อาจทำให้ฟองสบู่ของความนิยมนี้แตกลงได้ ท้ายที่สุด ต้องไม่ลืมที่จะกระจายการลงทุนให้เหมาะสม เมื่อรู้ว่าเป็น Crowded Trade ยิ่งไม่ควรให้พอร์ตลงทุนของเรา กระจุกอยู่ในธีมเหล่านี้ ธีมใดธีมหนึ่งมากเกินไปครับ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: