9 แผนการเงิน ควรทำช่วงต้นปีเสือ

โดย อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง, CFP® รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
2 Min Read
31 มกราคม 2565
4.171k views
PF_9 แผนการเงินควรทำช่วงต้นปีเสือ_Thumbnail
Highlights

“เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” เป็นประโยคที่ใช้ได้กับการวางแผนการเงิน ดังนั้น หากเริ่มต้นได้เร็วและวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสไตล์การเก็บออม การลงทุน และการใช้ชีวิต ก็จะทำให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคงในระยะยาว

ก้าวสู่ต้นปีใหม่ ถือเป็นฤกษ์ดีที่จะได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเช็คสุขภาพทางการเงิน การวางแผนการออมและการลงทุน การปรับพอร์ตลงทุน การวางแผนการเงินในเรื่องต่าง ๆ ไปจนถึงการวางแผนภาษี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเริ่มวางแผนกัน แต่สิ่งที่เจอกลับกลายเป็นว่าวางแผนดีแต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มลงมือลุยทำงาน ก็ใช้ช่วงจังหวะดี ๆ ช่วงต้นปี วางแผนการเงิน เพื่อให้การออมและการลงทุน เฮง ๆ รวย ๆ ตลอดปี 2565

 

1. ตรวจสอบความมั่งคั่ง ตรวจสอบว่าปีที่ผ่านมาได้รับผลตอบแทนจากการเก็บออมและการลงทุนเท่าไร โดยดูจากยอดรวมเงินฝาก ยอดลงทุนในกองทุนรวม ยอดรวมในหุ้น หุ้นกู้ และสินทรัพย์อื่น ๆ ว่ายอดคงเหลือเท่าไร เติบโตมากกว่าเดิม (กำไร) หรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน
 
2. ตั้งเป้าหมายทางการเงินว่ามีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแผนเกษียณ การศึกษาของลูก ท่องเที่ยว ลงทุน ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือปลดหนี้ เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองจะต้องเก็บเงินต่อเดือนเท่าไร สำหรับแผนการเงินที่ดีต้องมีความชัดเจนทั้งจำนวนเงินที่ต้องเก็บ ระยะเวลาเก็บออมและลงทุน ความสำคัญของเป้าหมาย เพื่อจะได้เรียงลำดับความสำคัญในการเก็บตั้งแต่แรก
 
3. สำรวจความเพียงพอของเงินสำรองฉุกเฉิน ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รายได้อาจลดลงหรือถึงขั้นตกงาน ดังนั้น ผู้ที่มีรายได้ประจำควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ส่วนผู้ที่มีอาชีพอิสระควรมีอย่างน้อย 6 - 12 เดือน หมายความว่า หากยังมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ ก็ควรเริ่มเก็บให้เพียงพอก่อน
 
4. จัดพอร์ต (ปรับพอร์ต) ลงทุนรับปีใหม่ ควรยกเครื่องกันตั้งแต่ต้นปี โดยกลุ่มสินทรัพย์ใดน่าลงทุนก็ให้จัดเข้ามาในพอร์ตลงทุน ขณะที่สินทรัพย์ใดมีแนวโน้มไม่ดีก็ปรับลดลง รวมถึงมองเทรนด์การลงทุนนับจากนี้ไปว่าเทรนด์ไหนมา เช่น ปี 2565 เทรนด์เทคโนโลยี เทรนด์สุขภาพ และแนวการลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG) น่าจะไปได้ดี ดังนั้น สามารถแบ่งสัดส่วนการลงทุนมากขึ้นเพื่อช่วยให้พอร์ตลงทุนโดยรวมเติบโตขึ้น ส่วนการจัดพอร์ตลงทุนสามารถกระจายการลงทุนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
5. วางแผนปลดหนี้ หากพอร์ตการลงทุนให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่กำลังจ่าย เช่น ดอกเบี้ยบ้าน หรือดอกเบี้ยบัตรต่าง ๆ ควรนำเงินไปปลดหนี้ให้หมดเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการลดต้นลดดอก ยิ่งโปะหนี้ได้เยอะ ปลดหนี้ได้เร็ว ก็จะมีเงินเหลือ จากนั้นค่อยนำมาลงทุน
 
6. ปรับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำรวจเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันเกษียณ มีเงินเพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณหรือไม่ หากเงินยังห่างจากเป้าหมาย อาจเพิ่มอัตราสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มากขึ้น
 
7. เงินลงทุนในกองทุนรวม RMF และ SSF ปัจจุบันทั้งสองกองทุนมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย ที่สำคัญถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเงินเก็บเพื่อการเกษียณ ดังนั้น สามารถวางแผนเพิ่มเงินลงทุนได้ตั้งแต่ต้นปี คำแนะนำคือ ใช้วิธีการลงทุนด้วยการหักบัญชีรายเดือนหรือ Saving Plan เพื่อที่จะสร้างวินัยการออมและถือเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ DCA ได้อีกด้วย
 
8. เลือกสิทธิรักษาพยาบาล สำหรับมนุษย์เงินเดือน ทุกต้นปีประกันสังคมมักจะให้สิทธิในการเลือกสถานรักษาพยาบาล ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบสิทธิและเลือกสถานรักษาพยาบาลใหม่ตามเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ควรตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลของประกันกลุ่มที่มีเพื่อจะได้บริหารการใช้จ่ายภายในวงเงินที่มีในแต่ละปี
 
9. วางแผนความคุ้มครองทรัพย์สิน หนี้สิน ชีวิต และสุขภาพ โดยตรวจสอบว่าที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ สวัสดิการที่ได้รับเพียงพอหรือไม่ หากไม่มีจะรับความเสี่ยงได้ด้วยตัวเองหรือไม่ เช่น หากเกิดเหตุไม่คาดฝันจนมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่อาจกระทบกับแผนการเงินอื่น ๆ หรือพอร์ตลงทุน ดังนั้น ควรบริหารความเสี่ยงด้วยการสร้างความคุ้มครองผ่านการทำประกันชีวิต การทำประกันภัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการปกป้องความมั่งคั่งของตัวเองและคนรอบข้าง

สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวทางวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต และการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ในการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเอง เพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคตของตนเองได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ชีวิตดี เริ่มต้นที่การวางแผน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้เทคนิคการจัดสรรเงินออมและการลงทุนแบบ DCA เพื่อสร้างวินัยในการออมให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนสร้างเงินออมเพื่ออนาคต” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: