จัดพอร์ตลงทุนตามวัย

โดย SET
3 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
9.248k views
TSI_Article_046_Inv_Thumbnail
Highlights
  • การจัดพอร์ตลงทุนเป็นการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ทั้งจากสภาวะตลาดหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ และสามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่เป็นที่นิยม คือ “การจัดพอร์ตตามวัย”

  • หลักการสำคัญ คือ คนอายุน้อยจะสามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่าคนที่อายุมากกว่า และมีระยะเวลาลงทุนที่นานกว่า จึงควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้เงินได้เติบโตในช่วงแรก และค่อยๆ ลดความเสี่ยงของสินทรัพย์ลง เมื่อเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ

  • การจัดพอร์ตตามวัยเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการลงทุนที่จำเป็นต้องนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงิน ผลตอบแทนที่คาดหวัง ข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงระยะเวลาในการลงทุนของแต่ละบุคคล

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ช่วงวัย” และ “อายุ” เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดสรรเงินลงทุน ทั้งที่จริงแล้วปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการจัดสรรเงินลงทุนของแต่ละคนนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับตัวแปรอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพทางการเงิน วัตถุประสงค์การลงทุน ระยะเวลาในการลงทุน อาชีพ หน้าที่การงาน ไปจนถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ


แล้ววัยไหนควรจะลงทุนอย่างไร
?


เรื่องพวกนี้รู้ไว้ไม่เสียหลาย เผื่อจะได้มีแนวทางในการจัดพอร์ตลงทุนอย่างมีแบบแผนและสอดรับกับวัยของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่เส้นทางแห่งความมั่งคั่งในที่สุด



วัยเริ่มต้นทำงาน อายุ
21 - 30 ปี

TSI_Article_046_Inv_จัดพอร์ตลงทุนตามวัย_01

เป็นวัยที่ได้เปรียบในการออมและการลงทุนมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากนัก มีเวลาและกำลังในการหารายได้อีกนาน จึงสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นได้ถึง 90% โดยควรเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงทางการเงิน มีเงินปันผลที่น่าพอใจ และมีโอกาสเติบโตในอนาคต ส่วนอีก 10% ที่เหลือควรเก็บเป็นเงินฝากและตราสารหนี้ต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ที่มีความปลอดภัยของเงินต้นสูง และได้อัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน



วัยสร้างครอบครัว อายุ
31 - 40 ปี

TSI_Article_046_Inv_จัดพอร์ตลงทุนตามวัย_02

เป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุดในชีวิต และเป็นช่วงที่การเงินค่อนข้างจะตึงเครียดกว่าช่วงอื่นๆ แม้หน้าที่การงานจะเริ่มมั่นคง รายได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ภาระค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว แต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเทอมลูก ฯลฯ เมื่อมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็น้อยลง ผู้ที่อยู่ในวัยนี้จึงควรลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงเหลือเพียง 50% ขณะเดียวกันก็เพิ่มสัดส่วนของเงินฝากและตราสารหนี้ให้มากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง


วัยปึกแผ่นมั่นคง อายุ 41 - 55 ปี

TSI_Article_046_Inv_จัดพอร์ตลงทุนตามวัย_03

เป็นช่วงที่ชีวิตมีหลักฐานมั่นคงที่สุด ฐานเงินเดือนสูงขึ้น แม้จะยังมีภาระทางการเงินอยู่ แต่ก็ผ่อนคลายลงไปมาก ไม่เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ หากเก็บออมและลงทุนอย่างมีวินัยมาตั้งแต่ต้น ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่ครอบครัวและฐานะทางการเงินดี มีความสมดุลที่สุดในทุกๆ ด้าน แต่เนื่องจากวัยที่เริ่มมากขึ้น มีเวลาหารายได้เหลืออีกไม่กี่ปี การลงทุนของคนวัยนี้จึงเน้นให้นำเงิน 70% ไปไว้ในที่ปลอดภัยอย่างเงินฝากและตราสารหนี้ ส่วนที่เหลืออีก 30% ให้แบ่งมาลงทุนในหุ้นระยะยาว เพื่อเพิ่มพูนเงินออมและเงินลงทุนให้มากขึ้น



วัยเกษียณ อายุ
55 ปีขึ้นไป

TSI_Article_046_Inv_จัดพอร์ตลงทุนตามวัย_04

เป็นช่วงที่บางคนไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว ขณะที่บางคนก็เหลือเวลาหารายได้อีกไม่เกิน 5 ปี ในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ด้วยเงินสะสมของตนเอง แม้ค่าใช้จ่ายบางอย่างจะลดลง แต่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามวัยและสุขภาพ เงินออมกว่า 90% จึงควรอยู่ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ใช่ว่าคนวัยนี้จะลงทุนในหุ้นไม่ได้ หากใครมีทรัพย์สินเงินทองเก็บออมไว้มากพอ ก็อาจจัดสรรเงินไม่เกิน 10% ไปลงทุนในหุ้น เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น ถึงแม้จะผิดพลาดเกิดสูญเงินก้อนนี้ไป ก็คงไม่กระทบฐานะการเงินโดยรวมมากนัก


ตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงแนวทางในการจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับช่วงวัยเท่านั้น เราสามารถปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นๆ ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อให้ได้พอร์ตลงทุนที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุด


สำหรับนักลงทุนที่สนใจ สามารถเรียนรู้และทดลองสร้างพอร์ตลงทุนส่วนตัว ผ่านระบบพอร์ตลงทุนจำลอง (Virtual Portfolio) โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนจริง ซึ่งครอบคลุมทั้งหุ้น อนุพันธ์ และกองทุนรวม เพียงเข้าเว็บไซต์ www.settrade.com และสมัครสมาชิก SET Member เพียงเท่านี้ก็สามารถเข้าไปสร้างพอร์ตลงทุนจำลองได้ฟรี!!


ดาวน์โหลดคู่มือการใช้งาน Virtual Portfolio >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: