ท่ามกลางความกังวลใจของนักลงทุน ทั้งเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนในประเด็นปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) รวมถึงปัจจัยเชิงลบภายในประเทศ ทำให้นักลงทุนมองหากลยุทธ์ลงทุนเพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนหรืออย่างน้อยก็จำกัดความเสี่ยงเมื่อตลาดเป็นขาลง การลงทุนในตลาดอนุพันธ์ ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และมีกลยุทธ์ให้เลือกใช้ …ดังนี้
กลยุทธ์ Protective Put ด้วยการใช้ Options ผสม Futures
Options ตราสารอนุพันธ์ที่มีผลตอบแทนไม่สมมาตร สามารถทำกำไรได้ไม่จำกัด แต่จำกัดผลขาดทุนได้ และด้วยคุณลักษณะของ Options ทำให้นำมาใช้สร้างกลยุทธ์ได้หลากหลาย เช่น กลยุทธ์แบบ Protective Put
หากติดตามนักวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทยในปี 2024 และคาดว่า SET50 Index มีโอกาสฟื้นตัว แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นความไม่แน่นอนยังคงมีสูง ดังนั้น หากนักลงทุนเปิด Long SET50 Index Futures และหาก SET50 Index ปรับตัวลดลง อาจทำให้พอร์ตลงทุนขาดทุนได้ไม่จำกัด
ด้วยเหตุนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุนที่ไม่จำกัด นักลงทุนสามารถนำ Options มาผสมเพื่อสร้างเป็นกลยุทธ์เพื่อจำกัดผลขาดทุนได้ เช่น ในกรณีเปิด Long SET50 Index Futures โอกาสที่จะขาดทุน คือ SET50 Index มีการปรับตัวลดลง ดังนั้น เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงก็สามารถทำการ Long Put Options ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะพบว่าในกรณีที่ราคา SET50 Index ปรับลดลง จะมีผลขาดทุนเกิดขึ้นจากการ Long Futures แต่จะได้กำไรจากการ Long Put Options มาชดเชย
แต่หาก SET50 Index ปรับขึ้น จะสามารถทำกำไรจากการ Long Futures ได้ และ SET50 Index ปรับขึ้นมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้กำไรเพิ่มมากขึ้นตามเท่านั้น ขณะที่การ Long Put Options จะไม่เกิดการใช้สิทธิ เพราะนักลงทุนจะมีเสียเพียงแค่ค่า Premium ของ Options ดังกล่าว
จะเห็นได้ว่าเมื่อนำ Put Options เข้ามาผสมกับการ Long Futures จะทำให้พอร์ตลงทุนจำกัดผลขาดทุนได้ (กรณี SET50 Index ปรับลงไม่เป็นไปอย่างที่คาด) และยังเปิดโอกาสทำกำไรได้หาก SET50 Index ปรับตัวขึ้น (ผลตอบแทนจะเป็นดังภาพที่ 1)
กลยุทธ์ Spread Trading
นอกจากนักลงทุนสามารถลงทุน SET50 Index Futures ในรูปแบบของการเก็งกำไรแบบขาเดียว (Outright) ก็ยังลงทุนในอีกรูปแบบที่เรียกว่า Spread Trading ได้ ซึ่งเป็นการเก็งกำไรส่วนต่างของราคา Futures ที่มีสินค้าอ้างอิงเดียวกัน แต่มีวันหมดอายุสัญญาต่างกัน ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ว่าส่วนต่างราคา Futures ระหว่าง Series ไกล และ Series ใกล้จะมากขึ้นหรือลดลง โดยที่การ Long Spread หมายถึง การซื้อ Series ไกลพร้อมกับขาย Series ใกล้ ในทางตรงกันข้ามการ Short Spread หมายถึง การขาย Series ไกลพร้อมกับซื้อ Series ใกล้
แต่ก่อนที่จะลงลึกไปถึงการซื้อขายแบบ Spread Trading นักลงทุนต้องเข้าใจคำสั่งแบบ Combination Order ก่อน เนื่องจากการทำ Spread Trading จำเป็นต้องใช้การส่งคำสั่งในรูปแบบดังกล่าว โดย Combination Order คือ การส่งคำสั่งซื้อขายเพียงคำสั่งเดียว แต่สามารถซื้อสัญญาใน Series หนึ่งพร้อมกับขายสัญญาในอีก Series หนึ่ง ซึ่งราคาซื้อขายจะเป็นราคา Futures ของ Series ไกลลบด้วย Series ใกล้ และสัญลักษณ์ที่ใช้ซื้อขายจะขึ้นต้นด้วย S50 และตามด้วยชื่อย่อ Series ใกล้ และ Series ไกล เช่น S50H24M24 เป็นต้น
โดยนักลงทุนที่เข้าไป Long Spread กำลังคาดการณ์ว่าส่วนต่างราคา Futures ระหว่าง Series ไกล และ Series ใกล้จะมีค่ามากขึ้น เช่น จาก -8 ไปที่ -2 หรือจาก +1 ไปที่ +5 ตรงข้ามกับนักเทรดที่เข้าไป Short Spread กำลังคาดการณ์ว่าส่วนต่างราคาจะมีค่าน้อยลง เช่น จาก -2 ไปที่ -10 หรือจาก +5 เหลือ +1
จากการเฝ้าสังเกตการณ์เคลื่อนไหวในอดีต พบว่าช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนที่สัญญารายไตรมาสจะหมดอายุ มีโอกาสใช้กลยุทธ์ Spread Trading ในการเก็งกำไรได้ เช่น (ภาพที่ 4) พบว่าในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนสัญญา S50Z23 จะหมดอายุ มีการ Rollover ขา Short (เปิดสถานะ Short ใน S50H24 และปิดสถานะ Short ใน S50Z23) เป็นจำนวนมากจนทำให้ส่วนต่างราคาระหว่าง S50H24 และ S50Z23 ติดลบเกือบ 8 จุด ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นได้ว่าราคา S50H24 ค่อนข้างจะต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับราคาทางทฤษฎี ดังนั้น หากนักลงทุนเห็นโอกาสก็จะเข้าไป Long Spread และรอให้ส่วนต่างราคามีค่าลดลงจึงเข้าปิดสถานะทำกำไร แต่สิ่งสำคัญที่ต้องระวังสำหรับการใช้กลยุทธ์ Spread Trading ในช่วงใกล้หมดอายุของ Series ใกล้ จำเป็นต้องปิดคู่ Spread ให้หมดในวันสุดท้ายก่อนเวลา 16:30 น. มิฉะนั้นจะเหลือสัญญา Series ไกลแบบขาเดียว และทำให้หลักประกันขั้นต้นถูกเรียกเก็บเพิ่มเป็น 4 เท่า
ตัวอย่าง สมมติราคา S50Z23H24 อยู่ที่ -7 จุด และคาดว่าราคาในอนาคตจะเพิ่มขึ้น จึงเข้าไป Long Spread เมื่อเวลาผ่านไปราคา S50Z23H24 เพิ่มเป็น -3 จุด จึงปิดสถานะทำกำไร (ตัวอย่างดังกล่าวไม่รวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ) กำไรที่เกิดขึ้นจึงเท่ากับ (ส่วนต่างราคา) * ตัวคูณดัชนี = (-3-(-7)) * 200 = 800 บาท
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 กลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนสามารถฝ่าความผันผวนหรือความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำ Options มาประยุกต์ใช้กับการเทรด Futures ในรูปแบบของกลยุทธ์ที่เรียกว่า Protective Put หรือการเทรด SET50 Index Futures ในรูปแบบของกลยุทธ์ Spread Trading โดยนักลงทุนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดเพื่อสร้างผลตอบแทนในพอร์ตลงทุนได้ดีขึ้น ในขณะที่มีความเสี่ยงขาลงที่จำกัด
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนที่สนใจ อยากเทรดอนุพันธ์เพื่อเก็งกำไรหรือป้องกันความเสี่ยง ทั้งในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนอนุพันธ์ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่