เมื่อถึงเดือนมกราคมของทุกปี นักลงทุนจะหยิบคำว่า January Effect ขึ้นมาพูดอีกครั้ง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าในเดือนแรกนี้ ราคาหุ้นมักจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นพิเศษ โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกสังเกตเห็นครั้งแรกโดย Sidney B. Wachtel วาณิชธนากร โดยพบว่าตั้งแต่ปี 1925 ดัชนีหุ้นเดือนมกราคมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาหุ้นขนาดเล็กมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่อย่างสม่ำเสมอในเดือนแรกของปีด้วย
จากสถิติดัชนีหุ้นไทย 14 ปีย้อนหลัง นับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์ พบว่าหุ้นไทยเกิดปรากฏการณ์ January Effect ถึง 9 ปี โดยปัจจัยสำคัญของปรากฏการณ์ January Effect เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นที่ถืออยู่ออกไปในช่วงเดือนธันวาคมเพื่อทำกำไร หรือขายหุ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ขาดทุนมากขึ้น (Cut Loss) ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง และเมื่อผ่านพ้นการฉลองปีใหม่ก็จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นอีกครั้งในเดือนมกราคม รวมถึงผู้ที่ได้รับโบนัส เมื่อมีเงินสดมากขึ้นก็มักจะนําเงินบางส่วนมาซื้อหุ้น
นอกจากนี้ ในเชิงจิตวิทยาของนักลงทุนอาจมีส่วนผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วย เพราะโดยทั่วไปผู้คนมักเริ่มต้นสิ่งใหม่ในต้นปี และหนึ่งในนั้นก็เป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งจากพฤติกรรมเหล่านี้ก็ทําให้ราคาหุ้นเดือนแรกของปีมีโอกาสปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากที่มีกองทุนรวมประหยัดภาษี SSF, RMF และ Thai ESG ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย และอาจมีการลงทุนอย่างคึกคักในช่วงโค้งสุดท้ายของปีหรือในเดือนธันวาคม หรือทยอยลงทุนเฉลี่ย ๆ ทุกเดือน (DCA) ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์ January Effect อาจมีโอกาสเกิดขึ้นลดลงหรือไม่
ดังนั้น หากนักลงทุนเฝ้ารอการลงทุนเฉพาะเดือนมกราคม (ซื้อช่วงต้นเดือน ขายช่วงปลายเดือน) ผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปตามคาดหวัง สังเกตได้จากปรากฏการณ์ January Effect ถึง 9 ปีที่ผ่านมา พบว่าดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนรวม (TRI) ในเดือนมกราคมสูงกว่าเดือนธันวาคมของปีก่อนหน้าซึ่งมีเพียง 5 ปีเท่านั้น ส่วนอีก 4 ปีที่เหลือ TRI ต่ำกว่า เช่น เดือนมกราคมปี 2566 เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ TRI อยู่ที่ระดับ 0.20% ขณะที่เดือนธันวาคมปี 2565 TRI อยู่ที่ระดับ 2.05%
นั่นหมายความว่า นักลงทุนไม่ควรรอเดือนมกราคมเพื่อลงทุน พูดง่าย ๆ ไม่ควรพยายามจับจังหวะตลาดหรือเพิ่มความระวังในการลงทุนจากความผิดปกติของปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถประเมินได้ ถึงแม้จะได้กําไรในระยะสั้น แต่ก็อาจทําให้สูญเสียพลังงานในการวางกลยุทธ์และต้องจัดพอร์ตลงทุนใหม่ทั้งหมดอีกครั้งในเดือนถัดไป ซึ่งอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้น กลยุทธ์ถือครองหุ้นระยะยาวและทยอยลงทุน น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการสร้างและบริหารพอร์ตหุ้นอย่างมืออาชีพ พร้อมเจาะลึกเทคนิคจัดทำแผนการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยาว เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Portfolio Strategy” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่