ย้อนกลับไปปี 2566 บรรยากาศการลงทุนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลงทุนผันผวน ทำให้นักลงทุนตั้งความหวังการลงทุนในปี 2567 ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา คำถามที่ตามมา คือ การลงทุนปีนี้จะมีอะไรน่าสนใจและสินทรัพย์ลงทุนไหนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี แต่ก่อนจะตัดสินใจลงทุน มาทำความเข้าใจเบื้องต้นว่าจากนี้ไปต้องยอมรับกับเรื่องราวเหล่านี้
- นวัตกรรมด้านข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว มีข้อมูลจำนวนมากให้วิเคราะห์ ทำให้การลงทุนทุกประเภท “ยากมากขึ้น” และกว่าจะรู้ถึงเหตุผล ที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ลงทุนนั้น ๆ อาจต้องรอจนวินาทีสุดท้าย
- นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับสภาวะการเงินที่อาจตึงตัวมากกว่าช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจจะอยู่สูงไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ต้นทุนทางการเงินของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังคงสูงต่อไป
- สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง (การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) หรือนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้การลงทุนมีความผันผวน และหากเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบหรือไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดอาจสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน
- อัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับลดลง ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มเห็นสัญญาณคลายตัว ตำแหน่งงานและจำนวนคนหางานมีความสมดุลมากขึ้น แต่นักลงทุนอย่าเพิ่งดีใจเร็วเกินไป เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้สัญญาณว่าต้องเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวชัดเจนก่อน จึงจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม หากอัตราเงินเฟ้อยังคงไม่ปรับลดลง เฟดอาจเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออาจปรับขึ้นต่อก็ได้
- หากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานอย่างรุนแรง นักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังการลงทุนในหุ้น
เศรษฐกิจแบบนี้ เลือกลงทุนอะไรดี
Fidelity International บริษัทจัดการการลงทุนระดับโลก ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยมุมมองโอกาสและความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจปี 2567 ว่าอาจเกิดได้ใน 4 กรณี
กรณีที่ 1 เศรษฐกิจถดถอยตามวัฏจักร (Cyclical Recession) โอกาสเกิดขึ้น 60%
- กรณีนี้ลักษณะเศรษฐกิจจะเกิดภาวะ “ถดถอยเร็ว และฟื้นตัวเร็ว” ซึ่งส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้น เพราะเศรษฐกิจจะชะลอตัวไม่มาก ที่สำคัญสามารถฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้ภายในปลายปี 2567 ขณะที่เงินเฟ้อค่อย ๆ ปรับลดลงแต่ช้ากว่าคาดเล็กน้อย ส่งผลให้เฟดอาจตัดสินใจคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ในระดับสูงต่อไป
- ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ควรหลีกเลี่ยงหุ้นขนาดเล็ก เพราะยังคงมีต้นทุนทางการเงินที่สูงจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง
- หุ้นที่ได้ประโยชน์ คือ หุ้นขนาดกลางในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ในกลุ่มตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซีย
- หากสนใจลงทุนตราสารหนี้ ควรเลือกลงทุนตราสารที่มีอายุการลงทุนสั้น กองทุนรวมตลาดเงิน หรือ Inflation Linked Bond
กรณีที่ 2 เศรษฐกิจถดถอยแบบเบา ๆ (Soft Landing) โอกาสเกิดขึ้น 20%
- หากเศรษฐกิจถดถอยแบบ Soft Landing หมายความว่า เศรษฐกิจยังเดินหน้าเติบโตได้ แต่โตช้าลงเล็กน้อย ทำให้ภาคบริโภคยังแข็งแกร่งต่อไปได้
- นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงได้ เช่น หุ้นเติบโต (Growth Stock) อาทิ กลุ่มบริโภค เพราะจะกลับมาฟื้นตัวได้จากการปรับลดเงินเฟ้อและเริ่มเห็นมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
- เลือกลงทุนตราสารหนี้ที่มีอายุการลงทุนปานกลาง – ยาว เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
กรณีที่ 3 เศรษฐกิจถดถอยแบบจริงจัง (Balance Sheet Recession) โอกาสเกิดขึ้น 10%
- เศรษฐกิจถดถอยอย่างจริงจังจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อธนาคารกลางทั่วโลกยังคงใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ขณะเดียวกันรัฐบาลและเอกชนพร้อมใจกันชะลอการใช้จ่าย การลงทุน หากเกิดขึ้นจริงก็จะเห็นธนาคารกลางมีความจำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรับมือเศรษฐกิจหดตัว ขณะเดียวกันจะเห็นเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างรวดเร็ว
- นักลงทุนควรเลือกลงทุนตราสารหนี้ที่มีอายุการลงทุนยาว เนื่องจากได้ประโยชน์หากธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว หรือลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ทนทานต่อเศรษฐกิจถดถอย เช่น ธุรกิจที่สร้างรายได้ มีกระแสเงินสดที่ดีในช่วงเกิดวิกฤติ (กลุ่มสินค้าจำเป็น เวชภัณฑ์ยา) อีกทั้ง ควรแบ่งเงินลงทุนในทองคำ (ประมาณ 5% ของพอร์ตลงทุนโดยรวม)
- ควรลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยทันที โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นขนาดเล็ก หุ้นกลุ่มการเงิน เป็นต้น
กรณีที่ 4 เศรษฐกิจไม่ถดถอยเลย (No Landing) โอกาสเกิดขึ้น 10%
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องสู่ระดับ 3%
- เงินเฟ้อไม่ปรับลดลง เนื่องจากการบริโภคและเม็ดเงินลงทุนภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสปรับขึ้นต่อ
- เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงเติบโต สามารถเลือกลงทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะเดียวกันสินค้าโภคภัณฑ์จะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัว เช่น น้ำมัน รวมถึงธุรกิจส่งออก ส่วนตลาดหุ้นจีนจะกลับมาฟื้นตัวจากการค้าทั่วโลกที่คึกคัก รวมถึงกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน บราซิลเป็นต้น
โดยสรุป ปีมังกรจะเห็นการจบของการต่อสู้กับเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะทิ้งรอยแผลไว้ให้กับเศรษฐกิจทั่วโลกแค่ไหน ก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่สิ่งที่มีโอกาสเห็นมากที่สุด คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพียงแค่รอเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น หากนักลงทุนมีคู่มือที่ดีในการเลือกลงทุนในภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ จะเป็นข้อได้เปรียบที่สามารถเลือกลงทุนได้เหมาะสมและปรับกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน