“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งเดียวที่คงที่” คำกล่าวนี้ดูจะเป็นจริงไม่ว่าจะยุคสมัยไหน เพราะแม้แต่เชื้อไวรัส COVID-19 ก็มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่องในปี 2564 นับตั้งแต่สายพันธุ์อัลฟ่า เดลต้า เบต้า และล่าสุดโอมิครอน ซึ่งส่งผลให้เป็นช่วงปีที่การลงทุนไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศมีความผันผวนสูงมาก
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่ไวรัสที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลง มนุษย์ก็มีพัฒนาการในการค้นคว้าวิจัยวัคซีน อุปกรณ์ตรวจจับโรค รวมถึงยารักษาโรคในช่วงเวลาเดียวกัน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่การคิดค้นดังกล่าวใช้เวลารวดเร็วเพียงไม่ถึงปี
บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft ผู้ที่เคยทำนายถึงการมาของโรคระบาดได้อย่างแม่นยำบนเวที TED Talks ตั้งแต่ปี 2558 และได้ทำนายแบบกล้าหาญอีกครั้งผ่านการเขียน Gates Notes เมื่อต้นเดือนธันวาคมปี 2563 ว่า COVID-19 ที่เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) นี้ จะลดสภาวะเหลือเป็นเพียงโรคประจำถิ่น (Endemic) ในปี 2565
ถึงแม้ในปัจจุบันความรุนแรงของ COVID-19 จะมากกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ถึง 10 เท่า แต่วัคซีนและยารักษาต่าง ๆ จะช่วยลดตัวเลขดังกล่าวเหลือเพียง 5 เท่าหรือน้อยกว่านั้นภายในปี 2565 กล่าวคือ บิล เกตส์ เชื่อว่า COVID-19 จะจบลงในปี 2565 ด้วยพัฒนาการของมนุษยชาติที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ทันและเอาชนะด้วยพัฒนาการด้านการรักษา
หากเป็นเช่นนั้นจริง นอกจากที่ COVID-19 ได้สร้างความหายนะมากที่สุดครั้งหนึ่งให้กับโลกแล้ว จะยังทิ้งมรดกแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านพัฒนาการทางการแพทย์ อีกทั้ง ทำให้โลกได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยผู้คนตื่นรู้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงการมาของจักรวาลนฤมิต (Metaverse) ที่โลกได้ปรับตัวจากยุค 1D ไป 2D และ 3D หรือข้อความไปสู่ยุคตัวอักษรและยุควิดีโอ โดยมีหลากหลายบริษัทได้รุกเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี อีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ดูจะคงที่และจีรังดังที่เกริ่นในตอนต้นของบทความ คือ ประชากรโลกเริ่มมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยหากพิจารณาในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังหลีกหนีความจริงนี้ไม่พ้น
Morgan Stanley สถาบันการเงินชั้นนำของโลก คาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 23% ภายในปี 2568 จากระดับ 20% ในปี 2562 ทำให้เป็นประเทศที่มีประชาชนใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมาก สะท้อนจากตัวเลข Healthcare Spending ต่อ GDP ที่อยู่ระดับราว 19% ในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลก โดยศูนย์บริการประกันสุขภาพของสหรัฐอเมริกา คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะโตเฉลี่ย 5.3% ต่อปี ในช่วงปี 2564 – 2571
เมื่อพิจารณาร่วมกับความตื่นตัวในด้านการรักษาสุขภาพของคนในโลกยุคหลัง COVID-19 ประกอบกับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแล้ว ทำให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มใหญ่สำคัญที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ
หากประเมินการลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พบว่ามีความน่าสนใจใน 2 มิติ มิติแรก คือ ภาพรวมกำไรของหุ้นสุขภาพในดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการเติบโตที่สม่ำเสมอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2563 ที่เกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่ผลประกอบการหุ้นในกลุ่มนี้ยังเติบโตได้ 2.5% เมื่อเทียบกับภาพรวมของกำไรหุ้นในดัชนี S&P 500 ที่ติดลบ 18%
มิติที่สอง คือ มูลค่าตลาดของกลุ่มสุขภาพในปัจจุบันมีสัดส่วนราว 14% ของดัชนี S&P 500 ในขณะที่กำไรรวมของกลุ่มมีสัดส่วนถึง 18% ของดัชนี S&P 500 บ่งชี้ถึงมูลค่าหุ้นในกลุ่มสุขภาพอยู่ในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับศักยภาพในการทำกำไร
ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีสัดส่วนแพทย์และพยาบาลต่อประชากรมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก นอกจากนี้ โอกาสลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพยังเปิดกว้างเพราะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีหุ้นที่หลากหลายให้เลือกลงทุน เช่น กลุ่มผลิตยา กลุ่มวิจัยและพัฒนายา กลุ่มผลิตของใช้ทางการแพทย์ กลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัด กลุ่มค้าปลีกทางการแพทย์ กลุ่มประกันสุขภาพ และกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นต้น
โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพแต่ละกลุ่มผ่าน ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผ่านบริการลงทุนต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์ในไทยได้ เช่น SPDR S&P Pharmaceuticals ETF หรือตัวย่อว่า XPH เป็น ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่ผลิตยาในสหรัฐอเมริกา เช่น Johnson & Johnson, Pfizer, Viatris เป็นต้น หรือ iShares U.S. Medical Devices ETF หรือตัวย่อว่า IHI ที่เน้นลงทุนในหุ้นอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น Intuitive Surgical, Abbott Laboratories, Boston Scientific เป็นต้น
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพแบบเหมา สามารถพิจารณา Healthcare Select Sector SPDR Fund หรือตัวย่อว่า XLV ซึ่งเป็น ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพครอบคลุมหลากหลายธุรกิจในดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกาแบบครบจบในที่เดียว
ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา ทุกคนคงตระหนักกับคำว่า Health is the Greatest Wealth หรือ สุขภาพดีคือความมั่งคั่งที่แท้จริง ขณะเดียวกันทุกคนก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพทางการเงิน โดยพยายามหาสินทรัพย์ลงทุนให้สอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตัวเองและสถานการณ์ ซึ่ง ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อสร้างผลตอบแทนในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นทั่วโลก
สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจอยากให้เงินทำงานเพื่ออนาคต ผ่านกองทุนรวม ETF สามารถติดตามข้อมูลต่าง ๆ จากตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น รายชื่อกองทุนรวม ETF ที่ซื้อขายในประเทศไทย ข้อมูล และราคาของแต่ละ ETF ได้ที่ >> คลิกที่นี่
หรืออยากลงทุนในกองทุนรวม ETF แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ผลตอบแทนและความเสี่ยง สิทธิประโยชน์ทางภาษี และวิธีซื้อขายกองทุน ETF พร้อมเทคนิคการลงทุนอย่างมืออาชีพ ผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน ETF” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่