กลยุทธ์จัดพอร์ตแบบไหน... ใช่ตัวคุณ

โดย SET
3 Min Read
26 พฤศจิกายน 2563
7.693k views
TSI_Article_045_Inv_Thumbnail
Highlights
  • “การจัดพอร์ต” เป็นศิลปะในการสร้างส่วนผสมการลงทุนให้เหมาะสม อย่างมีกระบวนการขั้นตอน และเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดภาพรวมความเสี่ยงและผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุน

  • การจัดสัดส่วนการลงทุน จะสะท้อนความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเป้าหมายการลงทุนของแต่ละบุคคล

ว่ากันว่า “การจัดพอร์ต” เป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการลงทุน เพราะถึงแม้ว่านักลงทุนจะมีรูปแบบการลงทุนที่เหมือนกัน แต่การจัดพอร์ตอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเหล่านั้นประสบความสำเร็จในระดับที่แตกต่างกัน


กลยุทธ์จัดพอร์ตแบบไหน... ใช่ตัวคุณ

  1. จัดพอร์ตลงทุนแบบเชิงรุก


เน้นการเติบโตของมูลค่าหุ้นมากกว่าความปลอดภัย มักเต็มไปด้วยหุ้นที่ความเสี่ยงสูง มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง มีค่าเบต้าหรือระดับของการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากกว่าตลาด

ตัวอย่าง ถ้าหุ้นที่ถืออยู่มีค่าเบต้าเท่ากับ 2 หมายความว่า หากตลาดหุ้นบวกขึ้นไป 5% หุ้นที่ถืออยู่จะบวกขึ้นไปถึง 10% และแน่นอนว่าหากตลาดหุ้นปรับลดลง ราคาหุ้นตัวนี้จะปรับตัวลดลง 2 เท่าเช่นกัน

หากต้องการจัดพอร์ตลงทุนสไตล์นี้ นักลงทุนต้องทำการบ้านหนักมากในการค้นหาหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างมาก เพราะความเสี่ยงที่สูงของการลงทุน ทำให้มีโอกาสขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญในการลงทุนแบบพอร์ตเชิงรุก คือ เวลาขาดทุน ต้องขาดทุนน้อยที่สุด แต่เวลากำไร ต้องใช้โอกาสสร้างกำไรให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด

  1. จัดพอร์ตลงทุนแบบเชิงรับ


เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก จะไม่มีหุ้นที่มีค่าเบต้าสูงๆ หรือ หุ้นที่ราคาเคลื่อนไหวอิงกับฤดูกาลหรือวัฎจักรเศรษฐกิจอย่างมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวน


ตัวอย่าง ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ราคาหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าทั่วไปที่คนต้องบริโภคอยู่แล้ว ก็ย่อมผันผวนน้อยกว่าหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าฟุ่มเฟือย ดังนั้น หุ้นกลุ่มที่มักจะอยู่ในพอร์ตลงทุนเชิงรับ คือ หุ้นสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน

นอกจากนี้ หุ้นที่มักจะอยู่ในพอร์ตลงทุนเชิงรับ ได้แก่ บริษัทผลิตยา โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า รวมทั้งหากหุ้นตัวใดให้เงินปันผลสูงๆ จะยิ่งทำให้ความผันผวนลดลงและจำกัดความเสี่ยงขาลงของราคาหุ้นได้อีกด้วย

  1. จัดพอร์ตลงทุนแบบเน้นผลตอบแทนสม่ำเสมอ


เน้นหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผล หรือให้ผลตอบแทนในรูปแบบอื่นกับผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหุ้นในกลุ่นนี้มักเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นในธุรกิจอื่นๆ ที่มีนโยบายจ่ายปันผลมากและสม่ำเสมอ เช่น ธุรกิจที่เริ่มนิ่ง ไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก แต่มีรายได้ตลอด


นักลงทุนจำนวนไม่น้อยชอบพอร์ตลงทุนในรูปแบบนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการมีรายได้ประจำจากเงินลงทุน หรือกลุ่มนักลงทุนที่เกษียณไปแล้ว แต่ยังรับความเสี่ยงในหุ้นได้

  1. จัดพอร์ตลงทุนแบบเก็งกำไร


เน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งปกติแล้วนักวิเคราะห์จะแนะนำให้นักลงทุนมีหุ้นเสี่ยงสูงๆ อยู่ในพอร์ตไม่เกิน 10% ของเงินที่จะนำไปลงทุน ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้ที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชื่นชอบ มักเป็นหุ้นที่เพิ่งเข้าใหม่ (หุ้น IPO) หรือหุ้นที่มีข่าวลือ ไม่ว่าจะเป็นการถูกซื้อกิจการ หรือข่าวดีอื่นๆ ที่จะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มสูงขึ้น


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีโอกาสที่จะสร้างผลกำไรได้มากในเวลาอันรวดเร็ว แต่แน่นอนว่าโอกาสขาดทุนก็สูงกว่าพอร์ตลงทุนแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ถ้านักลงทุนปราศจากความรู้ความเข้าใจในกลยุทธ์การลงทุนแบบนี้ ก็อาจจะให้โทษมากกว่าให้คุณแน่นอน

  1. จัดพอร์ตลงทุนแบบผสม


เน้นการผสมการลงทุนในหลายรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน โดยอาจผสมกันระหว่างสินทรัพย์หลายประเภท เช่น หุ้น พันธบัตร ทองคำ หรือผสมกันระหว่างหุ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นการกระจายความเสี่ยงได้อย่างดี เพราะถ้าตลาดหุ้นเกิดภาวะซบเซา นักลงทุนก็จะยังได้รับผลตอบแทนจากสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่หุ้นอยู่ ดังนั้น หากเรากระจายความเสี่ยงไปสู่สินทรัพย์อื่นๆ ในสัดส่วนที่ถูกต้อง ย่อมจะทำให้พอร์ตลงทุนของเรามีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

TSI_Article_045_Inv_กลยุทธ์จัดพอร์ตแบบไหน... ใช่ตัวคุณ_01

อย่างไรก็ตาม การลงทุนไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนจะต้องพิจารณาว่า พอร์ตลงทุนแบบไหนที่เหมาะกับตัวเอง และเมื่อลงทุนไปแล้วสิ่งสำคัญ ก็คือ หมั่นตรวจสอบการลงทุนอยู่เสมอ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด อย่าโลภมากจนกลายเป็นนิสัย เพราะความโลภ คือ หายนะที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับนักลงทุน


สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจอยากเรียนรู้หลักการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ การสร้างและบริหารพอร์ตลงทุน ตลอดจนแนวทางในการปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ทำให้บรรลุเป้าหมายได้ในอนาคต สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องบริหารพอร์ตลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: