เทคนิคเบื้องต้น เจาะงบหุ้นกลุ่มค้าปลีก

โดย ภัทรธร ช่อวิชิต AISA นักลงทุนเน้นคุณค่า
3 Min Read
8 มกราคม 2567
4.354k views
TSI_Article_543_Inv_เทคนิคเบื้องต้น เจาะงบหุ้นกลุ่มค้าปลีก_Thumbnail
Highlights

หุ้นกลุ่มค้าปลีก เป็นหุ้นอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุน เนื่องจากขายสินค้าที่ทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ธุรกิจมีความใกล้ชิดกับผู้คน และเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากหุ้นกลุ่มนี้มีความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ จึงต้องทำความเข้าใจธุรกิจก่อนว่า ขายอะไร ลูกค้าเป็นใคร จากนั้นจึงดูงบการเงิน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้านและถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน

หุ้นธุรกิจค้าปลีก นอกจากเชิงปัจจัยพื้นฐานแล้วถือว่าเป็นหุ้นที่นักลงทุนคุ้นเคยและชื่นชอบ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผู้คนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์สโตร์ ห้างสรรพสินค้า วัสดุก่อสร้าง ของตกแต่งบ้านที่เกี่ยวข้อง หรือสินค้าไอที เป็นต้น

 

ถึงแม้ว่าหุ้นกลุ่มค้าปลีกจะมีหลักการวิเคราะห์มหภาค อุตสาหกรรม และบริษัท เช่นเดียวกับหุ้นในกลุ่มอื่น ๆ แต่มีข้อสังเกตบางอย่างที่จะชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจค้าปลีกมักรับเงินสดจากลูกค้า (แม้รับชำระเป็นบัตรเครดิต ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มของเงินสด) แต่ขณะที่สินค้าที่ซัพพลายเออร์ (Supplier) มาฝากขาย ทางธุรกิจยังไม่ต้องจ่ายเป็นเงินสด เพราะได้เครดิตเทอม (Credit Term) ธุรกิจค้าปลีกที่ดีจึงต้องบริหารเงินสดในระยะสั้นให้เก่ง เพราะสามารถนำเงินสดไปหาผลตอบแทนได้ระหว่างยังไม่ถึงกำหนดเวลาจ่ายเงินให้เจ้าหนี้การค้า ดังนั้น การอ่านงบการเงินถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เลือกหุ้นกลุ่มนี้ได้ถูกตัว

 

ธุรกิจขายอะไร กลุ่มลูกค้าคือใคร

ขั้นตอนแรกของการวิเคราะห์หุ้นกลุ่มค้าปลีก คือ ธุรกิจขายสินค้าอะไร และกลุ่มลูกค้าคือใคร เพื่อทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของยอดขายว่ามาจากไหน และสามารถประเมินว่าปัจจัยอะไรที่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย โดยยอดขายของหุ้นในกลุ่มดังกล่าวจะเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เช่น เศรษฐกิจขยายตัว กำลังซื้อของคนภายในประเทศสูง ก็จะมีกำลังซื้อสินค้าและบริการสูงตามไปด้วย

 

ตัวอย่าง

  • กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ละบริษัทก็จะมีกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน เช่น บริษัท CPALL มีร้านค้าในเครือ 7-Eleven จะเป็นร้านสะดวกซื้อ ส่วนบริษัท DOHOME เป็นร้านค้าแบบโมเดิร์นเทรด บริษัท CPAXT เป็นร้านค้าส่ง หรือบริษัท TNP เป็นร้านค้าปลีกค้าส่ง ที่มีฐานการดำเนินธุรกิจเฉพาะพื้นที่ (จังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่) เป็นต้น
  • กลุ่มสินค้าไอที เช่น บริษัท COM7 บริษัท IT เน้นขายโน๊ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ขณะที่บริษัท SYNEX บริษัท SIS เน้นขายส่ง ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ เช่น การออกสินค้าใหม่หรือมีสินค้าที่กำลังได้รับความนิยม (มือถือรุ่นใหม่เปิดตัว) ทำให้ธุรกิจที่เป็นตัวแทนจำหน่าย มียอดขายเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ สินค้าไอทีมักมีการเปลี่ยนรุ่นค่อนข้างเร็ว ดังนั้น หากบริษัทมีประสิทธิภาพในการระบายสินค้าก็จะมียอดขายที่ดีตามไปด้วย ตรงกันข้ามหากไม่สามารถระบายสินค้าได้ (สินค้ารุ่นใหม่กำลังมา) บริษัทอาจขาดทุนได้

 

วิเคราะห์เจาะงบการเงิน

  • ยอดขายต่อสาขาและจำนวนสาขา การเติบโตของหุ้นกลุ่มค้าปลีกมาจากการขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุม โดยตัวเลขนี้จะบอกในคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) ซึ่งเป็นเอกสารที่มาคู่กันกับงบการเงิน สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของแต่ละบริษัท (นักลงทุนสัมพันธ์)

 

หากธุรกิจกำลังไปได้สวยหรือเติบโตดี ก็มักมีแผนขยายสาขาเพิ่ม นอกจากนี้ให้พิจารณา SSSG (Same Store Sale Growth) หรือการเติบโตของยอดขายต่อสาขาเดิม เป็นตัวเลขเพื่อพิจารณาว่าสาขาเดิมมีอัตราการเติบโตเป็นอย่างไร หากตัวเลขเป็นบวก หมายความว่า ยอดขายสาขาเดิมยังเติบโตได้ ซึ่งนักลงทุนสามารถนำมาประมาณการยอดขายด้วยสมการ ดังนี้

ยอดขาย = จำนวนสาขา x ยอดขายต่อสาขา x SSSG

 

  • วงจรเงินสด การบริหารเงินทุนหมุนเวียนถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีก บริษัทที่ดีจะมีวงจรเงินสดที่สั้นและสม่ำเสมอ เกิดจากการบริหารลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ และระยะเวลาการเก็บหนี้ที่ดี โดยนักลงทุนสามารถดูอัตราส่วนทางการเงินนี้ได้ที่ Fact Sheet ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ คำนวณไว้ให้แล้ว

 

บริษัทที่ไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด คือ บริษัทที่สามารถขายสินค้าแล้วเก็บเงินได้ ตรงกันข้ามถึงแม้ขายสินค้าได้ แต่เก็บเงินไม่ได้ บริษัทก็จะต้องหากระแสเงินสดจากทางอื่น เพื่อมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น พึ่งพาเงินกู้ หรือออกหุ้นเพิ่มทุน เป็นต้น

วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายหนี้

โดยระยะเวลาการเก็บหนี้ จะบอกว่าตั้งแต่ขายและเก็บหนี้ใช้เวลากี่วัน ซึ่งค่าที่ดีควร “ยิ่งน้อยหรือติดลบ” และมีความสม่ำเสมอ สะท้อนถึงการมีประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายและสามารถเรียกเก็บเงินสดจากลูกหนี้การค้าได้ ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินสดนั้นออกไปให้กับเจ้าหนี้การค้าหรือนำไปจ่ายหนี้ ทำให้มีเงินสดมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเพียงพอ เช่น นำเงินไปลงทุน นำไปจ่ายเงินปันผล นำไปจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

 

  • อัตรากำไรขั้นต้น บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันควรมีอัตรากำไรขั้นต้นสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องลดแลกแจกแถมอะไรมากมายก็ขายสินค้าได้ โดยเทคนิคที่ช่วยการเติบโตของหุ้นกลุ่มค้าปลีก มักจะเป็นการเพิ่มสินค้า House Brand ของตัวเองที่มีอัตรากำไรมากกว่ามาขาย ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น แต่หากสินค้าที่ขายเป็นสินค้า Commodity ที่ราคาขึ้นลงได้ จะมีช่วงที่ราคาสินค้าตก อาจทำให้มีการขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงได้

 

สรุป การวิเคราะห์หุ้นกลุ่มค้าปลีกต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจธุรกิจก่อนว่า ขายอะไร ลูกค้าเป็นใคร ปัจจัยใดเป็นตัวสนับสนุน และพิจารณางบการเงินเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน จะทำให้นักลงทุนวิเคราะห์หุ้นกลุ่มดังกล่าวได้ง่ายและตรงประเด็นมากขึ้น

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Financial Statement Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: