ทบทวนทิศทางลงทุนปีกระต่าย เสริมทัพลงทุน DR ในปีมังกร

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
5 มกราคม 2567
1.865k views
TSI_Article_542_Inv_ทบทวนทิศทางลงทุนปีกระต่าย เสริมทัพลงทุน DR ในปีมังกร_Thumbnail
Highlights
  • ในปี 2565 - 2566 เป็นอีกช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นและส่งผลต่อทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนและปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมในปีถัดไป

  • แนวโน้มการลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศในปี 2567 ประเมินว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีความน่าสนใจต่อไป ส่วนตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง มูลค่าได้ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจแล้ว ทำให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเริ่มคุ้มค่ามากขึ้น เป็นต้น

  • ปัจจุบัน นักลงทุนไทยสามารถกระจายการลงทุนไปยังหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศ ผ่านผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า DR (Depositary Receipts) หรือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ ซึ่งมีทั้งหุ้นหรือ ETF ของสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง และเวียดนามให้เลือกลงทุน

ย้อนกลับไปปี 2565 ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานโลกพุ่งสูงขึ้น และผลพวงจากวิกฤติ COVID-19 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามไปด้วย ผลที่ตามมา คือ ตลาดหุ้นสำคัญของโลก เช่น ดัชนี S&P 500 ปรับลดลงกว่า 19% หรือดัชนี STOXX 600 ที่สะท้อนภาพรวมหุ้นยุโรปก็ปรับลงกว่า 13% 

 

ภาพรวมตลาดหุ้นต่างประเทศในปี 2566

สถานการณ์การลงทุนดูเหมือนว่าจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ที่มีปัจจัยหนุนจากการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีบริษัท Microsoft เป็นผู้จุดกระแสจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท OpenAI ผู้พัฒนาแชทบอทอัจฉริยะ ChatGPT ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีรายอื่นต่างพากันลงทุนใน AI มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ DR NDX01 ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ETF ที่ลงทุนอิงกับดัชนี NASDAQ 100 ปรับขึ้นอย่างโดดเด่น โดยปรับขึ้นกว่า 18% ในช่วงไตรมาส 1 ถึงแม้ว่าจะมีปัจจับลบที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการเงินของสหรัฐฯ คือ วิกฤติธนาคาร Silicon Valley ที่เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องจนต้องปิดตัวลงและทำให้ทางการของสหรัฐฯ และเฟด ต้องเข้าไปช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดเป็นวิกฤติลุกลามในวงกว้าง

 

ในขณะที่ทางฝั่งจีนก็กำลังอยู่ในช่วงของการเตรียมตัวเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยได้เริ่มมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับเป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากการคลายล็อกดาวน์เมื่อช่วงปลายปี 2565 ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามเป็นภาพของการเคลื่อนไหวในกรอบ หลังประธานาธิบดีเวียดนามได้ลาออกกระทันหัน เพื่อรับผิดชอบต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายรายละเมิดกฎหมาย รวมถึงยังมีแรงกดดันจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้

 

ถัดมาในช่วงไตรมาส 2 หุ้นสหรัฐฯ ยังคงร้อนแรง สังเกตจาก DR NDX01 ปรับขึ้นต่ออีก 20% หลังกำไรของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เริ่มเห็นผลจากการใช้งาน AI ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น กำไรของบริษัท Nvidia ที่เติบโตทะลุ 100% อย่างไรก็ดี ก็เป็นช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังสหรัฐฯ มีแผนจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังประเทศจีน เพื่อไม่ให้นำไปใช้ทางการทหาร รวมถึงยังแสดงความต้องการให้ผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตชิปเบอร์ 1 ของโลกอย่าง ASML ซึ่งเป็นหลักทรัพย์อ้างอิงของ DR ASML01 ในตลาดหุ้นไทย ให้ระงับการส่งออกเครื่องจักรไปยังจีนด้วย

 

ในขณะที่ทางฝั่งจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตอบโต้ด้วยการเข้าตรวจสอบบริษัทชิปของสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจในจีนและเร่งพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้ DR STAR5001 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ETF ที่ลงทุนอิงกับดัชนี STAR 50 หุ้นเทคโนโลยีขนาดกลางและเล็กของจีน ปรับลงราว 6% ในไตรมาส 2

 

ตรงกันข้ามกับเวียดนาม ที่บรรยากาศการลงทุนโดดเด่นจากการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางผ่านการลดดอกเบี้ย รวมถึงรัฐบาลได้มีการเสนอลด VAT จาก 10% เหลือ 8% แบบกำหนดช่วงระยะเวลา (ก่อนที่จะตัดสินใจขยายเวลาต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2567) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ DR E1VFVN3001 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ETF ที่ลงทุนอิงกับดัชนี VN 30 ปรับขึ้นเด่นราว 11% ในไตรมาส 2 ปี 2566

 

เข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 ภาพรวมหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมีการพักความร้อนแรง จากแรงกดดันการลดอันดับเครดิตของสหรัฐอเมริกาจาก AAA สู่ AA+ โดยสถาบันการจัดอันดับ Fitch ซึ่งแสดงความกังวลต่อสถานะการคลังของประเทศ อีกทั้งความกังวลต่อการเกิด Government Shutdown แม้ว่าสุดท้ายก็สามารถหลีกเลี่ยงไปได้ในที่สุด

 

ในขณะที่หุ้นจีนและฮ่องกง ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 3 จากผลการประชุมโปลิตบูโร (เดือนกรกฎาคม) ที่ส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงการช่วยเหลือและฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี สถานการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่คิด เมื่อบริษัท China Evergrande บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีนยื่นคำร้องคุ้มครองการล้มละลายต่อศาลในนิวยอร์ก รวมถึงบริษัท Country Garden ยังประสบปัญหาในการชำระหนี้ ส่งผลให้ DR CN01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ETF ที่ลงทุนอิงกับดัชนี CSI 300 สะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นจีน ปรับลงราว 2%

 

ทั้งนี้ ทางการจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเรียกความเชื่อมั่นผ่านการลดภาษีอากรแสตมป์ (Stamp Duty) ลง 50% สำหรับตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี เพื่อกระตุ้นการซื้อขายในตลาดหุ้น ขณะเดียวกันฝั่งเวียดนามถือว่ามีข่าวดีจากการลงนามยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อที่จะเน้นการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เวียดนามในระยะยาว ส่งผลให้ DR FUEVFVND01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ETF ที่ลงทุนอิงกับดัชนี VN Diamond ที่ลงทุนในหุ้นเวียดนามชั้นดีที่ติดข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติ (Foreign Limit) ปรับขึ้นกว่า 11% ในไตรมาส 3

 

สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 สถานการณ์ตลาดหุ้นต่างประเทศ ได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) อายุ 10 ปี ปรับขึ้นแตะระดับ 5% (สูงสุดในรอบ 16 ปี) ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวโดดเด่นในช่วงเดือนพฤศจิกายน หลังเฟดมีแนวโน้มหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้ง ยังมีแรงหนุนจากภาพรวมของกำไรในไตรมาส 3 ของดัชนี S&P 500 โดยเติบโตประมาณ 5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า (เป็นอัตราการเติบโตของกำไรที่เป็นบวกในรอบ 4 ไตรมาส)

 

ด้านตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงยังเป็นภาพของการแกว่งตัวลง หลังถูกกดดันจาก Moody’s ที่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนและฮ่องกงลงจาก Stable สู่ Negative จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้รัฐบาลจีนจำเป็นที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นด้านการลงทุน โดยรัฐบาลจีนอาจออกมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม รวมถึงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

 

แนวโน้มตลาดหุ้นต่างประเทศในปี 2567

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นต่างประเทศในปี 2567 ประเมินว่าจะเป็นปีของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออาจเริ่มเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ้าง โดยเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากเงินเฟ้อปรับลดลงเข้าใกล้สู่เป้าหมายที่ 2% มากขึ้น ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีความน่าสนใจต่อไป อีกทั้ง จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งสถิติในอดีตชี้ว่ามักจะเป็นปีที่หุ้นสหรัฐฯ สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี

 

นอกจากนี้ ภาพรวมกำไรของหุ้นเทคโนโลยีปี 2567 ยังมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น โดย Bloomberg Consensus ประเมินว่าจะเติบโตราว 15% จึงมองว่า DR NDX01 จะเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ ในขณะที่ฝั่งตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงที่มูลค่าปรับลดลงอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ทำให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง (Risk/Reward) เริ่มคุ้มค่ามากขึ้น ดังนั้น หากสามารถลงทุนในระยะยาวได้ หุ้นบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงยังน่าสนใจ โดยสามารถลงทุนผ่าน DR HKCE01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ETF ที่ลงทุนอิงกับดัชนี Hang Seng China Enterprises ทั้งยังมีน้ำหนักในบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจราว 42% ในดัชนีหุ้นดังกล่าว จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับอานิสงส์จากแผนปฎิรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนในระยะยาวเช่นกัน

 

สำหรับตลาดหุ้นเวียดนาม ประเมินว่ายังเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว ด้วยมูลค่าที่ยังน่าสนใจ โดย DR FUEVFVND01 จะมีทิศทางดีขึ้นจากการขยายเวลาลด VAT ไปจนถึงกลางปีหน้า เนื่องจากดัชนี VN Diamond มีน้ำหนักของหุ้นที่อิงการบริโภคราว 25% จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการแบ่งเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศในปี 2567

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้และทำความเข้าใจการลงทุน DR ตลอดจนกลไกการเคลื่อนไหวของราคา วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุน DR สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: