ตลอดปี 2566 นักลงทุนคงเคยได้ยินคำว่า Higher for Longer อยู่บ่อยครั้ง โดยคำนี้หมายถึง ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงและคาดว่าจะสูงยาวนาน อันเนื่องมาจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อปราบเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยแตะที่ระดับ 5.25 – 5.50% นับเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี
หลังจากนั้นไม่นานเงินเฟ้อก็เริ่มปรับตัวลดลง ทำให้ตลาดคาดหวังว่าเฟดจะเริ่มหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเลิกใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวด จากนั้นจะเริ่มใช้นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้บ้างในช่วงปี 2566 และน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ปรับตัวขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีแนวโน้ม Higher for Longer คือ ไม่ปรับลดลงเร็วนัก เพราะท่าทีของเฟดที่ยังคงให้ความสำคัญกับการปราบเงินเฟ้อมากกว่าการกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น ในภาวะที่สถานการณ์มีความไม่แน่นอน รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อกลับมาขยับขึ้น หรือหากตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วเกินไป อาจทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจกลับมาร้อนแรง
ดังนั้น นักลงทุนที่คาดหวังจะได้แรงกระตุ้นจากมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น อาจจะต้องร้องเพลงรอไปก่อน เพราะเฟดยังไม่มีท่าทีว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้ ทำให้ Higher for Longer ยังคงมีผลต่อราคาสินทรัพย์ต่อไป
หากว่ากันตามตรง นักลงทุนยังไม่ค่อยไว้ใจในสถานการณ์เท่าไหร่นัก เพราะถึงแม้เงินเฟ้อจะมีการชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 แต่เฟดก็ยังใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา JP Morgan ได้รวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์ โดยส่วนใหญ่ประเมินว่า เฟดมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ลงมาอยู่ที่ระดับ 4.00% ในช่วงสิ้นปี 2567
Higher for Longer กระทบต่อราคาสินทรัพย์อย่างไร
จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงยาวนาน ส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อราคาสินทรัพย์ลงทุน ดังนั้น จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกสินทรัพย์ลงทุนในปี 2567
ปัจจัยบวก
Higher for Longer ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ เงินสด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนที่เลือกถือตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุไม่เกิน 1 ปี มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงถึง 5% ด้วยความเสี่ยงต่ำ และหากรับความเสี่ยงได้สูงขึ้นก็ถือหุ้นกู้เอกชน ซึ่งอาจได้รับผลตอบแทน 6 - 8% ต่อปี ที่สำคัญหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับลดลง (ระหว่างการลงทุน) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบกำไรจากราคาตลาดด้วย และยิ่งถือตราสารหนี้อายุยาว ๆ (Duration สูง) ก็จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากราคาตลาดเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจากข้อมูลการประเมินล่าสุดโดย Janus Henderson พบว่าตราสารหนี้ภาครัฐอายุ 10 ปี ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง 1.5% มีโอกาสสร้างผลตอบแทนรวมสูงถึง 15.70% ใน 12 เดือนข้างหน้า
ปัจจัยลบ
Higher for Longer ส่งผลลบต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยเงินกู้) อยู่ในระดับสูง ถึงแม้เงินเฟ้อ (ต้นทุนวัตถุดิบ) จะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ภาวะตลาดแรงงานยังตึงตัว ค่าแรงและอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง โดยหากเฟดยังคงใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดต่อไปก็อาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และนักลงทุนจะมองว่าหากลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น จะไม่คุ้มค่าความเสี่ยงเท่าไหร่นัก
Higher for Longer โอกาสหรือความเสี่ยง
หากโลกการลงทุนยังต้องเผชิญกับ Higher for Longer ก็เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้อยู่ในระดับต่ำ เช่น วัยกำลังเกษียณหรือผู้ที่เกษียณ มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ง่ายขึ้น ด้วยการจัดพอร์ตลงทุนแบบผสมผสาน เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างกระแสเงินสด โดยเน้นลงทุนตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชนคุณภาพดี มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) เป็นต้น
ขณะที่นักลงทุนที่ชื่นชอบการเก็งกำไรหรือเน้นลงทุนหุ้นในสัดส่วนสูง (เช่น ลงทุนหุ้น 100%) จะหาผลตอบแทนได้ยากขึ้น เพราะราคาหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐาน และหากเศรษฐกิจชะลอตัว (หรือถดถอย) อาจส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทที่ปรับลดลงจากภาวะต้นทุนทางการเงินที่สูง
คำแนะนำในการลงทุน
โดยสรุป สถานการณ์ Higher for Longer จะอยู่กับนักลงทุนอย่างน้อย 6 เดือนข้างหน้า ขึ้นอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ และภาวะความไม่แน่นอนต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งทางการเมืองและสงคราม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความผันผวนและความไม่แน่นอนยังคงสร้างความกดดันให้นักลงทุนต่อไป แต่ปีหน้าก็จะเป็นปีที่ไม่ได้เลวร้ายมากนัก โดยเฉพาะผู้ที่รับความเสี่ยงได้ไม่สูง และให้ตราสารหนี้เป็นพระเอกในพอร์ตลงทุน
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้หลักการวิเคราะห์ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน และแนวทางการปรับพอร์ตให้เหมาะกับตนเองและสถานการณ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Portfolio Rebalancing” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่