ปัจจัยควรรู้ ก่อนลงทุนหุ้นไทย ปี 2565

โดย อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการ สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้
2 Min Read
27 มกราคม 2565
5.209k views
Inv_ปัจจัยควรรู้ ก่อนลงทุนหุ้นไทยปี2565_Thumbnail
Highlights

การลงทุนหุ้นไทยในปี 2565 ยังคงมีความผันผวนและมีความท้าทายจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวที่ต้องจับตา แต่หากหุ้นย่อตัวลงก็เป็นโอกาสในการเข้าลงทุน โดยให้เน้นน้ำหนักลงทุนในหุ้นคุณค่าและหุ้นปันผล เพื่อลดความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุน

ปี 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ดีของการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) อยู่ที่ 17% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่ 14% นอกจากนี้มีตลาดหุ้นถึง 21 ประเทศ จากตลาดหุ้นทั้งหมด 48 ประเทศที่อยู่ใน MSCI World Index ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา จากแรงหนุนของการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังมีการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง รวมทั้งการใช้นโยบายการเงินและการคลังจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

 

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2565 มีมุมมอง “เชิงบวกอย่างระมัดระวัง” โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกอาจเกิดความผันผวนได้ง่าย ซึ่งมาจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ดังนี้

 

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ประเมินว่ามีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะเร่งตัวขึ้นหลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ไปแล้ว หากผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นไม่หยุดจนสร้างภาวะตึงตัวให้แก่ระบบสาธารณสุข หรือลุกลามเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม อาจนำไปสู่การใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

 

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนคาดว่าจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า แต่ประเด็นที่อาจส่งผลกระทบ คือ หากสายพันธุ์โอมิครอนมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอาจทำให้บางโรงงานอุตสาหกรรมปิดชั่วคราว ก็อาจทำให้กระทบต่อภาคธุรกิจนั้น ๆ เช่น ในปี 2564 ที่ผ่านมามีการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้าง หรือปิดห้างสรรพสินค้า ธุรกิจภาคบริการก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี ยังมีธุรกิจที่ได้รับประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจำกัดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น โรงพยาบาลที่มีจำนวนคนไข้เพิ่มขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์ ธุรกิจที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เช่น เทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจรับส่งพัสดุ เป็นต้น

 

สำหรับการปรับตัวของนักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนมีประสบการณ์และบทเรียนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้พิจารณาว่าแต่ละปัจจัยมีน้ำหนักต่อการลงทุนที่แตกต่างกัน จึงประเมินว่านักลงทุนจะคลายความกังวลและรับมือกับการลงทุนได้ดีขึ้น

 

แนวโน้มเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นและนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น 

ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีกในระยะสั้น ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่อาจเข้มงวดเร็วกว่าที่คาด ทั้งการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและการเร่งปรับลดขนาดงบดุลลง (Quantitative Tightening : QT)

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไปยาวนานแค่ไหน หากอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เพื่อสกัดกั้นให้ความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อลดลง

 

โดยในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น นักลงทุนต้องพิจารณาว่าเงินเฟ้อปรับขึ้นด้วยปัจจัยอะไร ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น หากเงินเฟ้อปรับขึ้นเพราะการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ เช่น น้ำมัน ขนส่ง เดินเรือ อีกทั้ง ธุรกิจที่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้เมื่อเงินเฟ้อเริ่มขยับ เช่น อาหาร เกษตร ค้าปลีก เป็นต้น

 

วางกลยุทธ์การลงทุนหุ้นไทยไตรมาส 1

แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตาและทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนได้ แต่หากหุ้นย่อตัวลงก็เป็นจังหวะในการเข้าลงทุน เพราะคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังดัชนีหุ้นไทยจะค่อย ๆ ปรับตัวขึ้น จากปัจจัยการกระจายวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ครอบคลุมมากขึ้น และแนวโน้มเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเริ่มอ่อนตัวลง ส่งผลให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในตลาด

 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง จะฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนท่องเที่ยวต่างชาติ และมีโอกาสที่เงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้าจากการแข็งค่าของเงินบาทหลังกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งโอกาสเกิดการเลือกตั้งในปี 2565 ซึ่งตลาดหุ้นไทยมักตอบสนองในทางบวก

 

สำหรับหุ้นที่เหมาะสมกับการลงทุนในช่วงตลาดผันผวน แนะนำให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า (Value Stock) โดยให้พิจารณาหุ้นด้วยการดูลักษณะธุรกิจ (Business Model) ว่าดำเนินธุรกิจอย่างไร เช่น ธุรกิจยังสามารถเติบโตดีต่อไปได้ในอีก 5 – 10 ปีหรือไม่ เป็นต้น ความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน เช่น กระแสเงินสด ระดับหนี้สิน ความสามารถในการทำกำไร เป็นต้น ที่สำคัญควรซื้อได้ในราคาต่ำ เป็นราคาที่มี Margin of Safety ยิ่งซื้อได้ในราคาต่ำ ในระยะยาวก็แทบไม่มีโอกาสขาดทุน เพราะได้ของดี ราคาถูก

 

นอกจากนี้ หุ้นปันผล (Dividend Stock) ยังน่าสนใจในช่วงตลาดผันผวน โดยในเบื้องต้นก็ดูประวัติการจ่ายเงินปันผลว่ามีความต่อเนื่องหรือไม่ เช่น หากดูข้อมูลย้อนหลังไป 5 – 10 ปี มีการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่องก็ไว้วางใจได้ว่าจะยังคงจ่ายได้ต่อเนื่อง โดยหุ้นปันผลที่ดีควรมีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ไม่ควรต่ำกว่า 4% ต่อปี


สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้ธรรมชาติของตลาดหุ้น ตลอดจนปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นหรือลง เพื่อสามารถคาดการณ์สภาวะตลาดและตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Market & Factors” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: