ความยั่งยืน (Sustainability) 🌿
กลายเป็นประเด็นที่ใครหลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาเรื้อรังจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จากผลของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้โลกเข้าสู่ยุคภาวะโลกเดือด (Global Boiling)🔥 อย่างเต็มรูปแบบ และส่งผลกระทบชัดเจนต่อทุกมิติทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ทำให้แต่ละประเทศต่างก็เริ่มตระหนัก และตื่นตัวในเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อหวังแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านการลงนามในสัญญา Paris Agreement ที่มีประเทศเข้าร่วมลงนามถึง 195 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยมีเป้าหมายสำคัญ นั่นคือ Net Zero Emissions หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ให้ได้ในอนาคต
ส่งผลให้แนวคิดที่ส่งเสริมความยั่งยืนโดยตรงอย่าง ESG (Environment, Social, Governance) ได้กลายมาเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ และระดับโลก
ในส่วนของประเทศไทย ก็ได้วางเป้าหมายของ Net Zero ไว้ภายใน พ.ศ. 2608 ซึ่งรัฐบาลไทยได้เริ่มปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญ ในการลดการปล่อยคาร์บอน จนเหลือเป็นศูนย์ได้ในที่สุด
และสำหรับภาคส่วนการลงทุนไทย ก็ได้มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ จากการที่กระทรวงการคลัง ได้จับมือร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เพื่อจัดตั้งกองทุนลดหย่อนภาษี ThaiESG ที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา
ด้วยจุดประสงค์ในการส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจในไทยเข้าสู่แนวคิดยั่งยืนตามหลัก ESG มากยิ่งขึ้น รวมถึงให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนความยั่งยืนผ่านการลงทุนในไทยอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันกองทุน ThaiESG มีให้เลือกลงทุนกว่า 34 กองทุน จากบริษัทจัดการลงทุน 16 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน 2567)💰
ทำไมกองทุน ThaiESG ถึงได้รับความสนใจนั้น สรุปได้ 3 ประเด็นใหญ่ ดังนี้
แม้ว่าการลงทุนยั่งยืนตามแนวคิด ESG อาจจะยังเป็นเรื่องใหม่ของตลาดการลงทุนไทย แต่สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น มีกระแสและการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว
แม้ว่าแนวคิดเหล่านี้ ดูผิวเผินแล้วอาจเป็นแนวคิดที่จับต้องเป็นผลกำไร หรือตัวเงินไม่ได้ แต่ความจริงได้มีผลวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า แนวคิด ESG สามารถช่วยลด Cost ของธุรกิจได้ในระยะยาว และสามารถย้อนกลับมาเป็นกำไรได้ในภายหลัง ซึ่งช่วยให้กำไรสุทธิเติบโตขึ้นได้ ⬆️
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ESG ของต่างประเทศ สามารถขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน สังเกตได้จากจำนวนของเงินลงทุนใน ESG จาก Global Sustainable Investment ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยจากข้อมูลของ McKinsey ระบุว่าใน พ.ศ. 2562 มีเงินลงทุนหมุนเวียนมากกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2557 ถึง 68% แล้วเพิ่มจาก พ.ศ. 2547 อีกกว่า 10 เท่า แสดงถึงการตื่นตัวของภาค ESG ในบริษัทต่างประเทศ ที่ทำให้จำนวนของการลงทุนและกองทุน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้แล้ว ผลสำรวจของ Harvard Business School ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการลงทุน ESG ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555 - 2565) จำนวนของกองทุน ESG เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 50 กองทุน ไปเป็น 211 กองทุน หรือเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเลยทีเดียว รวมทั้งการลงทุนใน ESG ยังสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนเอาชนะ Benchmark ได้ในระยะยาวอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้มีการทำดัชนียั่งยืน (Sustainability Index) มาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีการก่อตั้งกองทุน ThaiESG ขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ESG ที่กำลังเข้ามามีบทบาทใหญ่ในการลงทุนของไทย ซึ่งบริษัทที่เตรียมพร้อมรับมือต่อความเปลี่ยนแปลง และมุ่งพัฒนาตามแนวคิด ESG ก็มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับเมกะเทรนด์แห่งยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
สำหรับประเทศไทยเองได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนยั่งยืนตามหลัก ESG มานานแล้ว โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อคัดกรองหุ้นจากบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับบริบทความยั่งยืน และเป็นข้อมูลสำหรับนักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ในปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับรูปแบบการประกาศผลจากการประกาศเป็นรายชื่อหุ้นที่ผ่านการคัดเลือก เป็นการประกาศผลในรูปแบบ ESG Ratings เป็นปีแรก ภายใต้ชื่อ “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings”
กระบวนการคัดเลือก SET ESG Ratings มีความเข้มข้นและสอดคล้องกับเทรนด์ความยั่งยืนทั้งในระดับสากลและบริบทของประเทศไทย โดยพิจารณาจากการดำเนินงานของบริษัทตามมิติ ESG ตั้งแต่ระดับนโยบาย กระบวนการดำเนินงาน การวัดผลลัพธ์ และการเปิดเผยข้อมูล โดยบริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินและได้รับการประกาศ SET ESG Ratings จะต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อดังนี้
บริษัทที่ผ่านเกณฑ์ทั้งสองส่วน จะได้รับการประกาศผลการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
ปัจจุบันมีหุ้นไทยที่ได้รับการประกาศ SET ESG Ratings ทั้งหมด 192 ตัว (ข้อมูล ณ 31 สิงหาคม 2567) ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับทั้งบริษัทที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและกับเหล่านักลงทุนเอง เพราะหุ้นของบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ SET ESG Ratings สามารถแสดงถึงประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่สอดคล้องตามแนวคิด ESG ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาส และดึงดูดความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นยั่งยืน ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็จะได้ประโยชน์ในการตามหาหุ้นยั่งยืนที่ตรงใจได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
นักลงทุนและนักวิเคราะห์สามารถนำ SET ESG Ratings ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์หุ้นและตัดสินใจลงทุน รวมถึงปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่อ้างอิง SET ESG Ratings เป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนมากขึ้น เช่น กองทุน Thai ESG เป็นต้น
สามารถดูรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ได้ที่ ➡ https://setsustainability.com/libraries/1258/item/set-esg-ratings
เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของความยั่งยืน เพื่อก้าวสู่เป้าหมายของ Net Zero ในอนาคตตามที่มุ่งหมาย จึงได้หันมาส่งเสริมกลุ่มธุรกิจยั่งยืนในประเทศอย่างจริงจัง ด้วยการผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนกับธุรกิจที่มีแนวคิด ESG จนมีมติอนุมัติหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในช่วง 10 ปีภาษี (พ.ศ. 2566 – 2575) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 โดยสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund (ThaiESG) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนไทยหันมาออมเงินในระยะยาว และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเกณฑ์ ThaiESG อีกครั้ง เพื่อยกระดับความเชื่อมั่น และสนับสนุนการลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทย
โดยเงื่อนไขใหม่กองทุน ThaiESG จะขยายวงเงินให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มจาก 100,000 บาท เป็น 300,000 บาท และลดระยะเวลาถือครองหน่วยลงทุนจาก 8 ปี เหลือ 5 ปี (นับวันชนวัน) สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 ซึ่งกระทรวงการคลังจะประเมินผลของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินมาตรการ 3 ปี
ซึ่งเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีของกองทุน Thai ESG มีดังนี้
จะเห็นได้ว่ากองทุน ThaiESG มีทั้งเงื่อนไขที่คล้ายคลึงและแตกต่างกับกองทุนลดหย่อนภาษีอื่นในบางจุด ซึ่งนักลงทุนที่ต้องการลงทุนและได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ควรกำหนดเป้าหมายการลงทุนของตัวเองไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าต้องการออมเงินเพื่ออะไร เช่น
หากต้องการออมเงินเพื่อการเกษียณ ควรเลือกลงทุนกับกองทุน RMF ที่มีเงื่อนไขการถือครองจนถึงอายุ 55 ปี และลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี
หรือต้องการเงินออมไว้ใช้ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็อาจพิจารณากองทุน SSF ที่มีเงื่อนไขการถือครอง 10 ปีนับจากวันที่ลงทุน
แต่ถ้าต้องการลงทุนระยะยาว 5 ปีขึ้นไป และเน้นลงทุนในกิจการของไทยที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความยั่งยืนตามหลัก ESG หรือต้องการวงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก เพราะลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอื่นจนเต็มสิทธิ์แล้ว กองทุน ThaiESG ก็อาจจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ซึ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุน Thai ESG วิธีการเลือกกองทุนก็ไม่ได้แตกต่างจากการเลือกกองทุนทั่วไปมากนัก โดยนักลงทุนสามารถเลือกประเภทของกองทุน และระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้📊
กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มตราสารหนี้ อย่างเช่น Green bond หรือ Social bond (ระดับความเสี่ยง : ต่ำ)
เหมาะสำหรับ: นักลงทุนที่ต้องการความมั่นคง และอยากได้ผลตอบแทนที่มากกว่าฝากเงินในธนาคาร
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มผสม อย่างเช่นกองทุน Flexible ที่มีบางส่วนลงทุนในหุ้น ESG และบางส่วนลงทุนในตราสารหนี้ ESG (ระดับความเสี่ยง : ปานกลาง)
เหมาะสำหรับ : นักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง และต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้น และเพื่อกระจายความเสี่ยง
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มหุ้นล้วน ลงทุนในบริษัทไทยที่ได้รับการประเมินว่ามีความโดดเด่นด้านความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านธรรมาภิบาล หรือมีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ระดับความเสี่ยง : สูง)
เหมาะสำหรับ : นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น และยอมรับความเสี่ยงสูงได้
📌ดูข้อมูลกองทุนเกี่ยวกับกองทุน ThaiESG เพิ่มเติม คลิกที่นี่: www.ThailandESG.com
📍นักลงทุนที่จะขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษี จะต้องแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อให้นำส่งข้อมูลผู้ถือหน่วยลงทุนให้กรมสรรพากร (ตามประกาศของกรมสรรพากร ปี 2565) มิเช่นนั้น นักลงทุนจะไม่สามารถนำค่าซื้อหน่วยลงทุน ThaiESG ไปยกเว้นภาษีได้ กรณีที่นักลงทุนเคยแจ้งไว้แล้วไม่จำเป็นต้องแจ้งซ้ำอีก ยกเว้นเปลี่ยน บลจ. ต้องแจ้งความประสงค์ใหม่
หมายเหตุ: สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน ThaiESG เฉพาะหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 และกรมสรรพากรอยู่ระหว่างเสนอร่างกฏกระทรวง
คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน