ปัจจัยพิจารณา ก่อนการลงทุนในหุ้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

โดย SET
5 Min Read
25 ธันวาคม 2566
2.825k views
Banner_กลุ่มท่องเที่ยว-02_0

ผู้เขียน คุณวทัญ จิตต์สมนึก

         ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์

         บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นแรงหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

         อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือว่ามีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 1.9 ล้านล้านบาท (ปี 2019) หรือคิดเป็นกว่า 16% ของขนาดเศรษฐกิจไทย (GDP) และเฉลี่ยแล้วในสถานการณ์ปกติอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะคิดเป็น 15 - 20% ของ GDP โดยจัดเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวสูงเป็นรองเพียงฟิลิปปินส์ (25% GDP) ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มีการจ้างงานถึง 7 ล้านคน (20% ของการจ้างงานทั้งหมดในปี 2019) ซึ่งอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2014 – 2019 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตต่อเนื่อง (CAGR 10%) และนอกจากนี้ยังมีคาดการณ์จากทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่าในปี 2027 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไทยสูงถึง 80 ล้านคน ขณะเดียวกันมีการข้อมูลจาก Zion Market Research ระบุว่ามูลค่าตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลกตั้งแต่ปี 2023 – 2030 จะขยายตัวเฉลี่ย 3.9% CAGR ส่งผลให้ภายในปี 2030 มูลค่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะมีขนาดมากถึง 2.6 ล้านล้าน (USD) นอกจากนี้เชื่อว่าด้วยสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอาจกระทำได้บ้างแต่จะส่งผลน้อยลงเรื่อยๆต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ตามในระยะยาวแล้วจะเน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  

         ดังนั้นจากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องจากปัจจุบัน หากอิงข้อมูลในอดีตพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องแตะจุดสูงสุดที่ 39.8 ล้านคนในปี 2019 และมีการเติบโตเฉลี่ย (CAGR 10%) ในช่วงปี 2014 – 2019 แม้ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2023 จะยังไม่กลับไปเท่ากับระดับก่อนเกิด COVID-19 แต่หากพิจารณาคาดการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทยจะพบว่าในปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไป 88% ของช่วงก่อนเกิด COVID-19 ขณะเดียวกันมีผลสำรวจจากทาง Dragon Trail International ต่อจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวจากประชาชนจีนก็พบว่าไทยยังเป็น 3 อันดับแรกที่นักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจต่อการมาท่องเที่ยว โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือในปี 2019 ประเทศไทยจัดเป็นประเทศในทวีปเอเชียที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นอันดับ 2 และภูเก็ตจัดเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยว (อันดับ 11 ข้อมูลจาก Travel US News)

         อนึ่งการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่เติบโตจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนของไทยเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯให้มีทิศทางของการแข็งค่า เนื่องจากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทำให้ความต้องการเงินบาทสูงขึ้นและเป็นปัจจัยบวกทางอ้อมต่อดุลบัญชีเดินสะพัดให้มีโอกาสเกินดุลมากกว่าขาดดุล ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาช่วงที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกพบว่าเงินบาทมักอยู่ในแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นปัจจัยสนับสนุนทางอ้อมต่อตลาดการเงิน (ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้) เนื่องจากจะทำให้นักลงทุนต่างชาติได้กำไรทันทีจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่รวมส่วนต่างของราคาทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้

 

หุ้นที่เกี่ยวข้องในอุตสากรรมท่องเที่ยว

         อิงข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2019 พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติได้ใช้จ่ายในประเทศไทยแบ่งออกได้ดังนี้ (ซื้อสินค้าหรือช็อปปิ้ง ความบันเทิงต่างๆ ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว ที่พักแรม อาหารกับเครื่องดื่ม การขนส่ง รักษาพยาบาล และสินค้าทั่วไป) โดยสัดส่วนหลักที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายได้แก่ ที่พักแรม (28% ของค่าใช้จ่ายรวม) การซื้อสินค้าหรือช็อปปิ้ง (24% ของค่าใช้จ่ายรวม) ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วในปี 2019 นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายในประเทศไทยสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 16% GDP ของไทยในปี 2019 ซึ่งทำให้ในแง่ของการลงทุนจะมีหุ้นหลายอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ประกอบไปด้วย

  1. สนามบิน (AOT) การเดินทางมาประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากทางอากาศมากกว่าทางบกหรือทางเรือ ดังนั้นหุ้นสนามบินจะเป็นด่านแรกที่ได้ประโยชน์ ซึ่ง AOT เป็นเจ้าของสนามบินที่ครอบคลุมมากสุดในประเทศไทยประกอบไปด้วย สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) ซึ่งการใช้บริการสนามบิน AOT จะได้รายได้จากค่าบริการขึ้นลงของอากาศยาน ค่าบริการผู้โดยสารขาออก รวมไปถึงรายได้ที่มิได้มาจากการบิน อาทิ ส่วนแบ่งรายได้จากร้านอาหารและร้านสินค้าปลอดภาษี (Duty Free) โดยสัดส่วนรายได้ที่มาจากการบินคิดเป็น 44% ของรายได้และอีก 56% มาจากรายได้ที่มิใช่การบิน

    -ปัจจัยหลักที่นักลงทุนต้องพิจารณาก่อนลงทุนคือ จำนวนนักท่องเที่ยวเพราะรายได้จากการบินและที่มิใช่การบิน ทั้งคู่ขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีรายงานในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมไปถึงการเปิดเผยของ AOT ซึ่งจะมีในบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์

  2. สายการบิน (AAV) นอกจากสนามบินจะได้ประโยชน์แล้วอุตสาหกรรมสายการบินเป็นอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์เช่นกัน แต่อาจจะไม่ตรงเท่ากับกลุ่มสนามบิน เนื่องจากผู้บริโภคมีหลายสายการบินที่เป็นทางเลือก ในส่วนของ AAV ปัจจุบันมีรายได้หลักกว่า 73% มาจากค่าโดยสารและอีกกว่า 20% มาจากรายได้ค่าน้ำหนักและสัมภาระ ปัจจุบันครอบคลุมกว่า 67 เส้นทางการบิน แบ่งออกเป็น 33 ประเทศ และ 34 ต่างประเทศ พร้อมครอบคลุมกว่า 52 เมือง แบ่งเป็น 23 ในประเทศ และ 29 ในต่างประเทศ

    -ปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณาก่อนลงทุน ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยว คู่แข่งรายใหม่ และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจสายการบิน จึงต้องติดตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน

  3. โรงแรม (AWC, CENTEL, ERW, MINT) เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวนอกจากกลุ่มขนส่งจะได้ประโยชน์แล้วยังมีอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์นั่นก็คือที่พักแรม / โรงแรม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตต่อเนื่องสู่ระดับ 39 ล้านคนในปี 2019 ส่งผลให้อัตราการพักแรมของโรงแรมต่างๆอยู่ในระดับสูง โดยเฉลี่ยโรงแรมในไทยมีระดับอัตราการเข้าพักที่ 70 - 80% และหากเป็นช่วง High Season อัตราการเข้าพักปรับตัวสูงสู่ระดับ 85 - 90% นอกจากนี้บางหุ้นในกลุ่มโรงแรมยังประกอบธุรกิจร้านอาหาร ชื่อดังหลายแบรนด์ซึ่งได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการท่องเที่ยว (CENTEL, MINT)

    -ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบ ได้แก่ อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) รายได้ต่อห้อง (RevPar)และบางโรงแรม (CENTEL, MINT) ที่มีร้านอาหารจึงควรพิจารณาการเติบโตยอดขายต่อสาขา (Same Store Sale Growth) รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของต้นทุนอาหาร (ราคาหมู ไก่ ผัก ผลไม้)

  4. ค้าปลีก (BJC, CPALL) เป็นอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการเป็นห่วงโซ่ขนาดใหญ่ของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค ซึ่งตามหัวเมืองชื่อดังของการท่องเที่ยวในประเทศไทยมักจะเห็น Big C (บริษัทภายใต้การดูแลของ BJC) และ 7-11, Lotus, Makro (บริษัทภายใต้การดูแลของ CPALL) การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจึงเป็นปัจจัยกระตุ้นอุปสงค์

    -ปัจจัยสำคัญของธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ การเติบโตยอดขายต่อสาขา (Same Store Sale Growth) จำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการ ยอดขายต่อใบเสร็จ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจมหภาค

  5. ร้านอาหาร (AU, M) หนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยม คือ การเดินศูนย์การค้าของไทย อาทิ เช่น Central World, Siam Paragonและ Icon Siam ซึ่งตามศูนย์การค้าต่างๆมักประกอบไปด้วย ร้านอาหารชื่อดัง (MK, YaYoI, แหลมเจริญ และ After U) ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารจะได้ประโยชน์ทางอ้อม โดยทาง AU ได้ระบุไว้ว่ารายได้ราว 20% ของจำนวนลูกค้ามาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะสาขาในเขตตัวเมืองต่างๆ

    -ธุรกิจร้านอาหารมีลักษณะคล้ายคลึงกับธุรกิจค้าปลีก คือ เน้นดูที่การเติบโตของรายได้ผ่านการขยายตัวของยอดขายต่อสาขา รวมไปถึงต้นทุนในการประกอบธุรกิจ (ราคาหมู ไก่ เป็ด ผักสด และต้นทุนค่าแรง)

 

รู้หรือไม่..? ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวถือว่ามีมูลค่ากิจการรวมกันแล้วคิดเป็น 9% ของมูลค่าตลาดรวม ดังนั้นหากผลประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยวเติบโตก็จะส่งผลให้เป็นบวกต่อ SET Index 


แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

              จากข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวไปเกี่ยวกับรายละเอียดการประกอบธุรกิจต่างๆนักลงทุนสามารถเข้าไปค้นหาได้ในรายงาน 56-1 ซึ่งจะอยู่ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถค้นหาชื่อหุ้นที่สนใจแล้วไปยังหน้าข้อมูลหลักทรัพย์ ด้านขวามือสุดจะมีแบบฟอร์ม 56-1 รวมไปถึงรายงานประจำปีก็จะมีข้อมูลเชิงลึกของบริษัทเช่นกัน สำหรับแหล่งข้อมูลสำคัญถัดมาสามารถติดตามได้จาก Opportunity Day โดยจะเป็น Clip Video ที่ทางผู้บริหารของแต่ละบริษัทนำผลประกอบการแต่ละช่วงเวลา (ไตรมาส / ปี) มาอธิบายทั้งในเชิงของงบดุล / งบกำไรขาดทุน / กระแสเงินสด รวมไปถึง Outlook หรือแนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาสถัดไป นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังสามารถทิ้งคำถามที่สงสัยผ่านช่องทาง Live ใน Youtube ที่จะมีผู้บริหารมาตอบในข้อสงสัยต่างๆ ถือเป็นช่องทางเดียวหรืองานเดียวที่ผู้ลงทุนสามารถติดต่อกับผู้บริหารได้

              สำหรับข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยวแบ่งเป็นรายสัญชาติว่าในแต่ละเดือนหรือปีมีจำนวนเท่าใด รวมไปถึงข้อมูลการใช้จ่ายแบ่งออกเป็นกี่ประเภทและเป็นมูลค่าเท่าใด ผู้ลงทุนสามารถเข้าไปค้นหาได้ในเว็บไซต์กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากนี้หากจะดูการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปีผู้ลงทุนสามารถดูได้ในข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยในแต่ละการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเฉพาะการประชุมของเดือนที่เป็นช่วงจบไตรมาส ขณะเดียวกันทุกๆช่วงสิ้นเดือนธนาคารแห่งประเทศไทยจะรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยซึ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ แนวโน้มในช่วงที่ผ่านมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆในภาคบริการ (ร้านอาหาร การขนส่ง โรงแรม) ซึ่งหากเห็นแนวโน้มที่ดีก็จะสะท้อนถึงผลประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยวที่จะดีขึ้นเช่นกัน

              ในส่วนของข่าวที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยว ผู้ลงทุนสามารถติดตามได้ เช่น CNBC และ Bloomberg หรือหากจะเป็นสำนักข่าวของไทยก็จะประกอบไปด้วย ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ โดยช่วงที่ปัจจัยต่างประเทศเข้ามากดดัน สำนักข่าวต่างประเทศจะรายงานได้ทันต่อสถานการณ์มากกว่าภายในประเทศ ยกตัวอย่างช่วงเกิดสงครามต่างๆ (รัสเซีย - ยูเครน หรือ อิสราเอล - ฮามาส) อาจกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยบ้าง หรือแม้กระทั่งเกิดการระบาด COVID-19 ในช่วงปี 2020 เป็นต้น ส่วนข้อมูลภายในประเทศให้รอติดตามข่าว เช่น นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวจากทางรัฐบาลไทย (เราเที่ยวด้วยกัน)

เทคนิคในการเชื่อมโยงข้อมูลอุตสาหกรรมเพื่อจับจังหวะการลงทุนในหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว

              สำหรับจังหวะการลงทุนหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวในระยะสั้นแล้ว นักลงทุนจะรอดูจำนวนนักท่องเที่ยวรายเดือนที่ประกาศจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมักจะรายงานในช่วงปลายเดือนของแต่ละเดือน หากเห็นสัญญาณของการเร่งตัวก็อาจจะเกิดแรงเก็งกำไรเกิดขึ้นในตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้ามหากเกิดการปรับตัวลงอย่างมีนัยยะก็จะสร้างแรงกดดันต่อราคาหุ้น ถัดไปจะเป็นช่วงประกาศผลประกอบการในแต่ละไตรมาสหรือแม้กระทั่งรายปีซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดตามได้จากบทวิเคราะห์ของแต่ละ Broker โดยเฉพาะกำไรที่รายงานออกมาว่าดีกว่าหรือแย่กว่าตลาดคาดการณ์ หรือบางที่จะใช้ Bloomberg Consensus แต่เน้นย้ำให้ติดตามกำไรปกติเนื่องจากกำไรสุทธิมักมีรายการพิเศษต่างๆ หากกำไรปกติรายงานสูงกว่าคาดการณ์ 10 - 15% ขึ้นไป มักจะเกิดการเก็งกำไรของราคาหุ้น เพราะมีความเป็นไปได้ที่นักวิเคราะห์จะปรับราคาเป้าหมาย และประมาณการขึ้น

              ทั้งนี้ นอกเหนือจากเรื่องของผลประกอบการหรือจำนวนนักท่องเที่ยว ปัจจัยที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยยะต่อราคาหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ ความไม่สงบต่างๆ ยกตัวอย่าง สงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ หากจะให้เห็นภาพมากขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาด COVID-19 ราคาหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวจะอ่อนไหวเป็นพิเศษมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะกระทบโดยตรงกับการเดินทาง การพักแรม และการใช้บริการสนามบินหรือสายการบิน ซึ่งในช่วงดังกล่าวราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวปรับลงถึง 50 - 60% ขณะที่ SET Index ปรับลงเพียง 35% หรือแม้กระทั่งช่วงที่เกิดเหตุการณ์ระเบิด ณ แยกราชประสงค์ในช่วงวันที่ 17 ส.ค. 2558 ในวันถัดมา SET Index ปรับตัวลง 2.5% ในขณะที่ AOT ปรับลง 6.6% MINT ปรับลง 7% CENTEL ปรับลง 12% อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ไม่ได้บานปลายราคาหุ้นมักจะฟื้นตัวได้หลังจากนั้น

 

คำแนะนำการลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยว

              ในระยะกลาง – ยาวแล้วเชื่อว่าการท่องเที่ยวไทยยังเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีแนวโน้มที่รายได้การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะสูงมากขึ้นตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลประกอบการของกลุ่มท่องเที่ยวจึงมีโอกาสที่จะเติบโตต่อเนื่องในระยะกลาง - ยาว แม้ระยะสั้นกลุ่มท่องเที่ยวอาจผันผวนตามภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวบ้าง แต่ยังเชื่อว่าในระยะยาวแล้วปัจจัยข้างต้นจะคลี่คลายได้ดีและจะตามมาด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ทำให้เป็นบวกกับผลประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยวในที่สุด

 

45CAF67B-BA61-4C9E-8B96-C19969901AE8

Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี

ปุ่ม erc
ปุ่ม setsmart
แท็กที่เกี่ยวข้อง: