EV Car จุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย

โดย SET
5 Min Read
25 ธันวาคม 2566
3.073k views
EV car banner-02

คุณณัฐพล คำถาเครือ
นักกลยุทธ์การลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด

นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ เชื่อมโยง SDG และ ESG Theme

 

          หลังจากผ่านพ้นการประชุม COP26 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนพลังงานสะอาด ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและยานพาหนะไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน โดยมีการออกนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางตรงใน EEC ทั้งในแง่ของการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ผ่านการลดราคารถยนต์ไฟฟ้า 70,000 – 150,000 บาทต่อคัน และการผลิตเพื่อการส่งออก ภายใต้เงื่อนไขการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายในประเทศ 1 คัน ต้องผลิตเพื่อชดเชยส่วนที่นำเข้า 1 คันภายใน 31 ธ.ค. 2567 หรือ 1.5 คัน หากขอยืดเวลาออกไปเป็น 31 ธ.ค. 2568 ซึ่งความจริงจังของรัฐบาลในการสนับสนุนพลังงานสะอาด ได้สะท้อนมายัง SDG Index Score (SDG - Sustainable Development Goals) ปี 2566 ของประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 74.7 จาก 74.1 ในปี 2565 และได้รับการปรับ SDG Index Rank ขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ที่ 43 ของโลก จากปีก่อนที่อันดับ 44 ของโลก ซึ่งปัจจัยด้านพลังงานสะอาด ถือเป็น 1 ใน 3 ด้าน (จากทั้งหมด 17 ด้าน) ที่รัฐบาลไทยมีพัฒนาการดีขึ้น

          นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อผลักดันการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความคิดด้าน ESG ให้เป็นวาระแห่งชาติผ่านหลายโครงการ เพื่อให้แนวทางการประยุกต์ใช้ด้าน ESG ของภาคเอกชน สอดคล้องกับแนวทางด้าน SDG ของภาครัฐที่เป็นภาพใหญ่ ซึ่งโครงการด้านพลังงานสะอาดที่ถูกกล่าวถึง และมีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนกันอย่างกว้างขวางในตลาดทุนไทย โดยมีตัวอย่างโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง SDG และ ESG ซึ่งคาดว่าจะเป็น Theme การลงทุนในระยะยาวให้กับตลาดทุนไทย ดังนี้  

1) ประเทศไทยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV Car) ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% จากปัจจุบัน โดย EV Car ครอบคลุมเป้าหมายด้าน SDG และ ESG ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการใช้งาน ในแง่ของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป

2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนเห็นถึงความสำคัญในมาตรการลดคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากขึ้น

3) ค่ายรถยนต์ที่เคยผลิตรถยนต์สันดาปในประเทศไทย เริ่มเห็นความสำคัญกับการดำเนินแนวทางด้าน SDG และ ESG ของประเทศไทย โดยมีการประกาศวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด ESG พร้อมตั้งเป้าหมายพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะให้เป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอุบัติเหตุ รวมถึงส่งเสริมการสร้าง Smart Ecosystem เพื่อยกระดับนวัตกรรมยานยนต์อัจฉริยะในอนาคต

          ในมุมมองของผู้เขียนจึงมั่นใจว่า ธุรกิจยานยนต์ซึ่งอาจรวมถึงยานพาหนะไฟฟ้าที่เป็นความหมายในภาพกว้าง จะเป็น Theme การลงทุนระยะยาวที่ผสานกันลงตัวระหว่าง ESG Theme และ Mega Trend Theme ซึ่งถ้านักลงทุนสามารถวิเคราะห์เพื่อค้นหาหุ้นที่เชื่อมโยง และได้ประโยชน์จาก Theme ดังกล่าวมากที่สุด อาจเป็นหุ้นคุณค่า (Value Stock) ที่สามารถนำมาจัดพอร์ตการลงทุน เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในแผนการลงทุนได้เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ภาพรวมอุตสาหกรรม – แนวโน้ม EV Car ในประเทศ และทำความเข้าใจ Supply chain อุตสาหกรรม EV Car

          ภาพรวมอุตสาหกรรม EV Car ในประเทศไทยมีพัฒนาการดีขึ้นต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า (BEV หรือรถไฟฟ้าแบตเตอรี่) ที่จดทะเบียนใหม่ในช่วง ม.ค. - ก.ย. 2566 เฉลี่ยเดือนละ 7,399 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่เฉลี่ยเดือนละ 2,673 คันเกือบ 3 เท่าตัว (อิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก) และยังมีแนวโน้มเติบโตในอัตราเร่ง เนื่องจาก 1) ยอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนของ BEV คิดเป็นเพียง 10% ของยอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนของรถยนต์ส่วนบุคคล (รวมรถยนต์นั่งและรถกระบะ) จึงยังมีช่องว่างสำหรับการเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปมาเป็น EV Car อีกมาก 2) ผู้ผลิต EV Car มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะผู้ผลิตจากประเทศจีน เมื่อผนวกกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ราคารถยนต์ EV ถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 3) ภาครัฐและเอกชนตื่นตัวในการเปลี่ยนยานพาหนะเป็น EV Car เพื่อยกระดับด้าน SDG ของหน่วยงานราชการ และ ESG ของภาคเอกชน  

            โดยถ้าพิจารณาจากเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ประกอบการในประเทศ ผลิต EV Car ให้ได้ 30% หรือราว 540,000 - 600,000 คันต่อปี ของยอดผลิตทั้งหมดที่ราว 1.8 - 2.0 ล้านคันต่อปีภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่แทบยังไม่มีการผลิตในประเทศ คาดว่าอุตสาหกรรมการผลิต EV Car จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 - 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อ Supply chain ของอุตสาหกรรม ทั้งในแง่ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ปรับตัวได้เร็ว, โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งรถยนต์, ตัวแทนจำหน่าย EV Car, อุปกรณ์และสถานีชาร์จแบตเตอรี่ รวมถึงภาคการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อและการประกันภัยรถยนต์  

 

จัดกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม EV Car - นิคมอุตสาหกรรม, ชิ้นส่วนยานยนต์, ขนส่งรถยนต์, แบตเตอรี่ และอุปกรณ์ไฟฟ้า

           
          โดยถ้าพิจารณาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของ EV Car ถือว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีแต่เพียงชิ้นส่วนยานยนต์ตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่เข้าใจ ซึ่งถ้าพิจารณาในฝั่งของภาคการผลิตและจัดจำหน่าย ก่อนที่จะไปถึงมือผู้ซื้อ จะมีอย่างน้อย 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ

1) นิคมอุตสาหกรรม จากการเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต EV Car ของภูมิภาคอาเซียน

2) ชิ้นส่วนยานยนต์ จากมาตรการของภาครัฐที่ต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์จากต่างประเทศ ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์จากผู้ผลิตในประเทศไทยด้วย

3) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้ประโยชน์จากอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีมากกว่ารถยนต์สันดาปอย่างมีนัยสำคัญ


4) ระบบขนส่ง
เพื่อจัดส่งทั้งชิ้นส่วนยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ที่ผลิตเสร็จแล้ว ไปยังตัวแทนจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ

5) สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ ไฟแนนซ์ และประกันภัย ที่จะได้ประโยชน์ตามยอดจำหน่าย EV Car ในประเทศที่เร่งตัวขึ้น แต่อาจจะถูกหักล้างบางส่วน จากยอดจำหน่ายรถยนต์สันดาปที่ลดลงด้วย

6) ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการชาร์จไฟที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต 

7) ผู้ผลิตแบตเตอรี่และอุปกรณ์ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของประเทศไทย 

            เมื่อนักลงทุนทราบแล้วว่า มีกลุ่มอุตสาหกรรมใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับ EV Car สิ่งที่นักลงทุนต้องนำไปต่อยอด คือ การค้นหาข้อมูลของหุ้นรายตัวในอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อพิจารณาความเกี่ยวข้องเชิงลึก และประเมินผลกระทบในเชิงของ Valuation ต่อไป โดยข้อมูลของหุ้นรายตัวสามารถพิจารณาได้จาก One Report หรือข้อมูลสรุปทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ในเว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้ง www.set.or.th และ www.settrade.com

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม EV Car

              แหล่งข้อมูลสำคัญ และเข้าถึงง่ายที่สุด คือ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี หรือ One Report ของบริษัทในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม EV Car เช่น กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ และแผนกลยุทธ์ของบริษัท เพื่อสะท้อนภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม EV Car ในอนาคต ซึ่งการศึกษาข้อมูลของบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด จะช่วยให้นักลงทุนสามารถนำมาประกอบการวิเคราะห์ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรม และคัดเลือกบริษัทที่ได้ประโยชน์สูงสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

            แหล่งข้อมูลลำดับถัดมา คือ การเข้าฟังข้อมูลจากผู้บริหารโดยตรงผ่าน Opportunity Day ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งนอกจากจะทำให้เข้าใจในสิ่งที่ศึกษาผ่าน One Report มากขึ้นแล้ว ยังมีโอกาสได้สอบถามข้อมูลจากผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรม EV Car โดยตรงด้วย และถ้ายังต้องการข้อมูลเพิ่มเติม นักลงทุนยังสามารถสอบถามจากฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของแต่ละบริษัทได้ในลำดับถัดไป ซึ่งในช่วงแรกที่ผู้เขียนเริ่มวิเคราะห์หลักทรัพย์ ก็ศึกษาข้อมูลจากฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์เป็นหลักเช่นกัน

            ส่วนข้อมูลระดับอุตสาหกรรม นักลงทุนสามารถติดตามได้จากการรายงานยอดผลิต และยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่ามีการเติบโตเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) และเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า (YoY) อย่างไรบ้าง เพื่อใช้พิจารณาแนวโน้มอุตสาหกรรม EV Car ว่าอยู่ในช่วงทิศทางขาขึ้นหรือขาลง โดยถ้าเริ่มเข้าสู่ช่วงอิ่มตัวหรือขาลง ต้องพิจารณาต่อว่าจะมี New S-curve หรือมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับการเติบโตในอนาคต ให้ภาวะอุตสาหกรรมกลับเข้าสู่ทิศทางขาขึ้นอีกครั้งหรือไม่

            นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถติดตามบทวิเคราะห์ของอุตสาหกรรมยานยนต์และ EV Car ได้จากกรมการขนส่งทางบก โดยจะมีการรายงานยอดจดทะเบียน EV Car เป็นรายเดือน แบ่งเป็นรายประเภทรถยนต์และรายผู้ผลิต ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม ผู้ผลิตที่เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมในขณะนั้น และผู้ผลิตที่มีการเติบโตในอัตราเร่ง ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้กับบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วน หรือผู้ที่ให้บริการด้านการขนส่งให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายนั้นๆได้

            สำหรับข้อมูลแนวโน้ม EV Car ในต่างประเทศ นักลงทุนสามารถติดตามได้จากสื่อชั้นนำ เช่น Bloomberg หรือ CNBC เพื่อติดตามการภาพการแข่งขัน การคิดค้นนวัตกรรม และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งผู้เขียนประเมินว่าเพียงพอสำหรับใช้เชื่อมโยงข้อมูล เพื่อนำมาประเมินภาวะอุตสาหกรรมร่วมกับแหล่งข้อมูลในประเทศที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว

 

ประเมินโอกาส และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ EV Car

            การเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปเป็น EV Car จะเป็นทั้งโอกาส และอาจเป็นการหยุดชะงัก (Disruption) ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ขึ้นอยู่กับความเร็วในการปรับตัวของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละราย โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เนื่องจากเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องอาศัยชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อน และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกว่าชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน โดยจำนวนชิ้นส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ามีประมาณ 5,000 ชิ้นต่อคัน ขณะที่ รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมีมากถึง 30,000 ชิ้น โดยเฉพาะกลุ่มระบบส่งกำลังหรือเครื่องยนต์ เช่น หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ระบบหัวฉีด ถังน้ำมัน อาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะมีความจำเป็นน้อยลง โดยสำหรับบริษัทในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่ประเมินว่ามีความยืดหยุ่น จากการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมในรอบนี้ คือ 1) บริษัทที่ชิ้นส่วนหลักไม่ถูกกระทบ หากปรับไปผลิต EV Car เช่น โครงรถยนต์, ไฟส่องสว่าง, พลาสติก, และเบาะภายในรถยนต์ 2) บริษัทที่มีการวิจัยแล้วการพัฒนา (R&D) และได้ปรับเทคโนโลยีรองรับ EV Car แล้ว 3) บริษัทที่ใช้กลยุทธ์เชิงรุกโดยการเร่งหาลูกค้ากลุ่มใหม่อยู่เสมอ ไม่ตั้งรับรอการเปลี่ยนแปลงของลูกค้ารายเดิม ขณะที่บริษัทอื่นๆ ประเมินว่ามีโอกาสถูก Disruption ซึ่งจะเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้นในช่วง 3 - 4 ปี ข้างหน้า ที่สัดส่วนการผลิต EV Car จะเริ่มมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป

            โดยถ้าจะประเมินผลกระทบจากการเข้ามาของ EV Car ในประเทศไทย สามารถประเมินได้ 3 ด้านหลัก คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกโดยตรง คือ 1) นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ทั้ง AMATA, ROJNA, WHA ที่สามารถขายที่ดินและระบบสาธารณูปโภคได้เพิ่มขึ้น 2) โลจิสติกส์ขนส่ง EV Car เช่น NYT, SJWD โดยเฉพาะ NYT ที่ให้บริการท่าเรือขนส่งรถยนต์เพียงรายเดียวในประเทศ ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งในช่วงแรกที่มีการนำเข้า EV Car มาจำหน่ายในประเทศ และระยะถัดไป จากการผลิตเพื่อส่งออกตามเงื่อนไขของภาครัฐ  3) อุปกรณ์ไฟฟ้า จากการติดตั้งระบบชาร์จไฟตามบ้านเรือนและสถานีบริการต่างๆ เช่น KJL 4) ชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากการเพิ่มขึ้นของผู้ผลิต EV Car ในประเทศ เช่น STANLY, AH, SAT, PCSGH, DELTA, KCE เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ได้ปรับผลกระทบเชิงบวกทางอ้อม คือ ผู้ให้บริการทางการเงิน สำหรับการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และธุรกิจประกันภัย รวมถึงธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ที่น่าจะมีโอกาสในการจำหน่ายรถยนต์รุ่นใหม่ได้มากขึ้น ขณะที่ กลุ่มซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น ผู้ผลิตเครื่องยนต์ และท่อไอเสียรถยนต์ รวมถึงสถานีบริการน้ำมัน โดยในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีสถานะเป็นกลางในช่วงแรก เพราะมีบางส่วนที่เสียไปจากการชะลอตัวของรถยนต์สันดาป และมีบางส่วนที่เร่งตัวขึ้นตามการเติบโตของ EV Car เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน ที่กำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าและให้บริการพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์

            ส่วนการประเมินผลกระทบจากมุมมองของบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในตลาดหลักทรัพย์ฯที่สามารถรวบรวมได้ มีดังนี้


AH
        บริษัทให้ข้อมูลว่า โมเดลที่อาจได้รับผลกระทบมีอยู่ราว 5 - 10% สำหรับชิ้นส่วน OEMs ที่ไม่มีใน EV เช่น ส่วนถังน้ำมัน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการเจรจาในการรับออเดอร์ส่วนอื่นทดแทน ล่าสุดได้คำสั่งซื้อ ทั้งจากลูกค้าที่มีฐานการผลิตในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ขณะที่บริษัทลูกค้าที่โปรตุเกสมีการผลิตชิ้นส่วน EV ส่งออกอยู่บ้าง  ซึ่งมองว่าอนาคตมีโอกาสได้ออเดอร์มากขึ้นเช่นกัน


SAT
      คาดว่าได้รับผลกระทบจากชิ้นส่วนบางรุ่นที่ไม่ได้อยู่ใน EV เช่น เพลาลูกเบี้ยว ท่อร่วมไอเสีย และฟลายวีล อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 - 2 ปีนี้ บริษัทประเมินว่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ยังเน้นตลาด Hybrid ก่อนที่จะเข้าสู่ตลาด EV Car แบบเต็มตัว


STANLY
คาดว่าได้รับผลกระทบน้อย และเป็นบวกในระยะยาว โดย STANLY เป็นผู้ผลิตโคมไฟและหลอดไฟสำหรับรถยนต์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดราว 70% ของตลาดรถยนต์ ซึ่ง EV Car ทุกคันยังคงต้องมีโคมไฟและหลอดไฟ และทาง STANLY มีหน่วย R&D พัฒนาและปรับเทคโนโลยีการผลิตให้รองรับแล้ว  


IRC
       เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางอีลาสโตเมอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจด้านการผลิตยางนอก - ยางในของรถจักรยานยนต์ ซึ่งสินค้าหลักไม่ถูก Disruption และบริษัทมีการปรับเทคโนโลยีรองรับ EV Car แล้ว


PACO
   คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อย และเป็นโอกาส เนื่องจากบริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีรองรับการผลิตชิ้นส่วนสำหรับ EV Car แล้ว ทำให้บริษัทมีความพร้อมที่จะผลิตตามเทคโนโลยีใหม่ๆ และล่าสุด ได้ออกผลิตภัณฑ์สำหรับแบตเตอรี่คูลเลอร์เพื่อช่วยระบายความร้อนช่วงชาร์จแบตเตอรี่


IHL
       คาดว่าไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจ และเป็นบวกในระยะยาว เพราะ EV Car มีโมเดลที่ใช้ชิ้นส่วนเบาะหนัง และส่วนหุ้มชิ้นส่วนภายในอยู่เหมือนเดิม


PCSGH
ได้เริ่มทำธุรกิจของ EV Car แล้ว มีการทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี โดยปี 2566 วางเป้าหมายสัดส่วนรายได้จาก EV Car มากกว่า 30% ของรายได้รวม และเพิ่มเป็น 52% ในปี 2568 ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้จากชิ้นส่วนรถยนต์ที่ไม่ใช่ EV Car บริษัทยังมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วน EV Car เพื่อรองรับการผลิตที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 - 3 ปีข้างหน้าแล้ว

 

เทคนิคในการเชื่อมโยงข้อมูลจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อจับจังหวะการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ EV Car

          สำหรับการจับจังหวะลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ EV Car สามารถพิจารณาได้เป็นรอบๆ ตามการรายงานยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่รายเดือน ซึ่งถ้าหากยอดจดทะเบียนรถยนต์ EV Car ยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง และราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นไม่มาก ประกอบกับยังมี Upside gain เมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ประเมินไว้ (อิงจาก IAA Consensus ใน www.settrade.com) อาจใช้เป็นจังหวะในการเก็งกำไรระยะสั้น ตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น หรือจะเป็นการจับจังหวะลงทุนตามมาตรการสนับสนุนด้าน EV Car ของภาครัฐ และการเปิดตัว EV Car รุ่นใหม่ของผู้ผลิตในต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนควรหมั่นติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการจับจังหวะการลงทุน ให้สามารถเข้าลงทุนในช่วงที่ราคาหุ้นยังไม่ตอบสนองต่อปัจจัยบวกเท่าที่ควร

ยกตัวอย่างเช่น การออกมาตรการกระตุ้นการผลิต EV Car ในประเทศของภาครัฐ โดยเปิดให้มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศก่อน จะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจโลจิสติกส์รถยนต์ เช่น NYT ที่ให้บริการท่าเรือขนส่งรถยนต์ ทำให้ราคาหุ้น Outperform อย่างมากในปี 2564 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 41% เทียบกับ SET INDEX ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14%

และเมื่อเริ่มมีการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิต จะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมตามมา ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้น Outperform อย่างมากในปี 2566 โดย WHA และ AMATA ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 21% YTD เทียบกับ SET INDEX ที่ปรับตัวลง -15% YTD (ข้อมูลถึงวันที่ 6 พ.ย. 2566)

ในทางตรงข้าม เมื่อมีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากข่าวการปรับลดราคาของ Tesla เพื่อแข่งขันการแย่งความเป็นผู้นำในตลาด EV Car ระดับโลก ทำให้ราคาหุ้นของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยอ่อนตัวลงต่อเนื่องในปี 2566 เพราะอาจหมายถึงยอดขายรถยนต์สันดาปที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก มีโอกาสชะลอตัวลง จากผลของการเข้าถึง EV Car ได้ง่ายขึ้น (เนื่องจากในช่วงแรก ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีสัดส่วนการผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์สันดาปมากกว่า EV Car) โดยราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์เฉลี่ยที่สะท้อนมายัง Auto Index ปรับตัวลง -16% YTD เทียบกับ SET INDEX ที่ปรับตัวลง -15% YTD (ข้อมูลถึงวันที่ 6 พ.ย. 2566)   

 

คำแนะนำเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

          สำหรับกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ทาง บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้น้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด”  ด้วยผลประกอบการในปี 2566 ที่จะเติบโตชะลอตัวลงเหลือเพียงเลขตัวเดียวระดับต่ำ (low single digit)  หลักๆมาจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออก ขณะที่ตลาดในประเทศยังถูกกดดันจากกำลังซื้อที่ลดลง ขณะที่ ปี 2567 คาดตลาดในประเทศจะฟื้นตัว มีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และตลาดส่งออกที่คาดว่ายังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผู้ผลิตรายใหม่เริ่มส่งออก EV Car  ได้มากขึ้น  ซึ่งจะช่วยหนุนให้ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์จากผู้ผลิตในประเทศมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง

          โดยในส่วนของ Top Pick กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เราแนะนำ “ซื้อ” AH (ราคาเหมาะสมปี 2567 ที่ 48.40) ด้วยผลประกอบการปี 2566 ที่คาดเติบโต 7% YoY เป็น 1,883 ล้านบาท สวนทางอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ที่คาดติดลบ -1.8% YoY และคาดกำไรปี 2567 เติบโต 7%YoY เป็น 2,020 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ 1) คาดธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะได้แรงหนุนจากธุรกิจใหม่ จากกิจการร่วมทุนกับ Purem AAPICO ในการผลิตชิ้นส่วนระบบควบคุมไอเสีย  ซึ่งมี 2 โรงงาน ในเมืองราวัง ประเทศมาเลเซีย และจังหวัดระยอง ประเทศไทย รวมกำลังการผลิต 2 แห่งกว่า 700,000 ชิ้นต่อปี คาดรับรู้รายได้ในปี 2567 ราว 1,700 ล้านบาท  ขณะที่ประสิทธิภาพในการทำกำไรจะดีขึ้น เพราะบริษัทร่วมทุนดังกล่าว  เริ่มธุรกิจตั้งแต่ 2Q66 ซึ่งมีการบันทึกต้นทุนแต่ยังไม่มีรายได้เข้ามา ทำให้ในปี 2566 รับรู้ผลขาดทุนราว 30 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 คาดพลิกกลับมามีกำไร 102 ล้านบาท 2) ธุรกิจตัวแทนขายรถยนต์ สำหรับในประเทศไทย คาดได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ทำให้กำลังซื้อในประเทศฟื้นตัว ส่วนธุรกิจตัวแทนขายรถยนต์ที่มาเลเซีย คาดยังฟื้นตัวดีต่อเนื่อง  

          ส่วนปัจจัยหนุนในระยะยาว คาดได้ประโยชน์จากการมาของธุรกิจ EV Car ซึ่งล่าสุดลูกค้ารายใหญ่ ISUZU ประกาศแผนการลงทุน โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตกระบะ EV  เราประเมินมูลค่าพื้นฐานโดยใช้ PER 8.5x อิง PER เฉลี่ย 5 ปี ได้มูลค่าเหมาะสมที่ 48.40 ราคาปัจจุบันถือว่ายังไม่แพง ซื้อขายที่ PER 2567 เพียง 5.4x และมีผลตอบแทนจากเงินปันผลสม่ำเสมอสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ SET INDEX ที่ 3.2% โดยคาด Dividend Yield ในปี 2566-2567 ที่ 5.2% และ 5.6% ตามลำดับ ขณะที่ การประเมิน Rating ด้านความยั่งยืนหรือ ESG Rating ได้ Yuanta ESG Ratings ที่ระดับ AA และ SET ESG Ratings ที่ระดับ A โดยมี CGR ระดับ 5  

Info - EV Car

Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี

ปุ่ม erc
ปุ่ม setsmart
แท็กที่เกี่ยวข้อง: