กองทุน Thai ESG ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
26 ธันวาคม 2566
19.675k views
TSI_Article_540_Inv_Thumbnail
Highlights

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ที่มีนโยบายลงทุนหุ้น ESG ไทย และ/หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนไทย (ESG Bond) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาวในกิจการที่เน้นความยั่งยืนและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมีเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี คือ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และต้องลงทุน 8 ปีเต็มแบบวันชนวัน

เนื่องจากการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ควบคู่ไปกับตัวเลขด้านผลกำไร รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน ด้วยการเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ซึ่งหากมีเงินและพร้อมถือหน่วยลงทุนได้ 8 ปี อีกทั้งมีความมั่นใจต่อตลาดหุ้นไทยและตราสารหนี้ ESG ในระยะยาว ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เป็นกองทุนลดหย่อนภาษีตัวใหม่ ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ESG ไทย และ/หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) ไทย โดยหุ้นกลุ่ม ESG เป็นหุ้นที่ให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ควบคู่กับการมีผลการดำเนินงานที่ดี

  • สิ่งแวดล้อม (Environmental) คือ การที่บริษัทใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
  • สังคม (Social) คือ การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างเท่าเทียม คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพของพนักงาน อีกทั้งการให้ความสำคัญกับชุมชุนที่อยู่รอบด้าน
  • บรรษัทภิบาล (Governance) คือ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ต่อต้านการทุจริต มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม

 

สำหรับ ESG Bond คือ ตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่แทบจะเหมือนกับตราสารหนี้ปกติทั่วไป แต่ต่างกันเพียงวัตถุประสงค์ของการระดมทุน โดย ESG Bond คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ระดมทุนต้องการนำเงินไปใช้เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีบรรษัทภิบาลที่ดี แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

 

  • ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนหรือชำระคืนหนี้สินเดิม (Re-financing) ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน สร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด การเกษตรที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  • ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) จะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคม เช่น โครงการเพื่อลดปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร การเข้าถึงสาธารณูปโภค สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา เป็นต้น
  • ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) คือ ส่วนผสมระหว่าง Green Bond และ Social Bond ซึ่งมุ่งหวังทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมควบคู่กันไป
  • ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเหมือนกัน แต่เงื่อนไขการให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) จะขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือเป้าหมายโดยรวมของบริษัทผู้ออกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

ความน่าสนใจของการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

ปัจจุบันการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลก และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่มีการนำประเด็นผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนมาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนกันมากขึ้น

 

หากมองในมุมของนักลงทุน การลงทุนหุ้น ESG จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทที่อาจมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลในอนาคตได้ เช่น หากบริษัทปล่อยของเสียสู่อากาศ ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ลำคลอง ไม่ปลูกต้นไม้ ไม่ดูแลชุมชนโดยรอบบริษัท ไม่ดูแลพนักงาน ใช้แรงงานเด็ก หรือมีการติดสินบนและทุจริตคอร์รัปชัน จนถูกฟ้องร้อง ย่อมเกิดผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว

 

ด้าน ESG Bond ข้อดีหลัก ๆ ในมุมของผู้ออกตราสาร คือ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กรและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน เพราะเป็นการสื่อสารที่เด่นชัดว่าองค์กรให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนอย่างจริงจัง อีกทั้ง ยังช่วยดึงดูดและกระจายฐานนักลงทุนสู่กลุ่มใหม่ ๆ และอาจส่งผลดีต่อองค์กรในระยะยาว ขณะที่ในมุมของนักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจในบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน

 

จากความน่าสนใจดังกล่าว รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน ด้วยการเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) โดยนักลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และต้องลงทุน 8 ปีเต็มแบบวันชนวัน

 

จากเงื่อนไขดังกล่าว กองทุน Thai ESG จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดย ภัทรธร ช่อวิชิต, AISA นักลงทุนเน้นคุณค่า กล่าวว่า ผู้ที่ฐานภาษีสูงก็ยิ่งได้ประโยชน์ “สมมติคนฐานภาษี 35% ลดหย่อนได้ 100,000 บาท ถ้าสิ้นปีที่ 8 ผลตอบแทนเท่าทุน ก็เหมือนใช้เงินลงทุนแค่ (1-0.35)*100,000 = 65,000 คิดเป็นผลตอบแทน 8 ปีที่ (100,000/65,000)^(1/8) - 1 = 5.53% ต่อปีแบบทบต้น”

 

หมายความว่า หากฐานภาษี 35% ซื้อกองทุน Thai ESG จำนวน 100,000 บาท ก็เหมือนได้ลดหย่อนภาษีปีนั้น 35,000 บาท ใช้เงินลงทุน 65,000 บาท และจากการต้องถือลงทุนไป 8 ปี สมมติว่าได้ผลตอบแทนเท่าทุน ก็จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5.53% ต่อปีแบบทบต้น 

 

สำหรับผู้ที่มีฐานภาษี 30%, 25%, 20% และ 15% หากซื้อกองทุน Thai ESG จำนวน 100,000 บาท จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (สมมติผลตอบแทนเท่าทุน) เท่ากับ 4.56%, 3.66% 2.83% และ 2.05% ตามลำดับ

 

มีเงินลงทุนจำกัด เลือกลงทุนอย่างไร

สำหรับผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีและต้องการลดหย่อนภาษี ที่ผ่านมาก็จะซื้อกองทุน SSF กับ RMF แต่เมื่อมีกองทุน Thai ESG น้องใหม่เพิ่มเข้ามา อาจทำให้หลายคนสงสัยว่าจะเลือกกองทุนไหนก่อนหลัง ประเด็นนี้ มนัสวี เด็ดอนันต์กุล AFPT™ K Wealth ธนาคารกสิกรไทย มีคำแนะนำเด็ด ๆ ดังนี้

 

หากมีเงินไม่จำกัด

ต้องการใช้สิทธิให้ครบ ให้เตรียมเงิน 600,000 บาท ซื้อทั้งกองทุน Thai ESG 100,000 บาท และกองทุน SSF หรือ RMF 500,000 บาท​

 

หากมีเงินจำกัด

  1. ต้องการได้เงินคืนเร็ว ซื้อกองทุน Thai ESG ก่อน
  • หากเงินเหลือ (หลังจากซื้อกองทุน Thai ESG) และอายุน้อยกว่า 45 ปี ซื้อกองทุน SSF ให้เต็มสิทธิก่อน ที่เหลือจึงซื้อกองทุน RMF ให้ครบ
  • หากเงินเหลือ (หลังจากซื้อกองทุน Thai ESG) และอายุมากกว่า 45 ปี ซื้อกองทุน RMF ให้เต็มสิทธิก่อน ที่เหลือซื้อกองทุน SSF ให้ครบ (หากซื้อกองทุน RMF ครบ 5 แสนบาทแล้ว จะไม่สามารถซื้อกองทุน SSF เพิ่มได้) 

 

  1. ต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณชัวร์ ๆ
  • ซื้อกองทุน RMF ให้เต็มก่อน หากเงินเหลือให้ซื้อกองทุน SSF ให้เต็ม ตามด้วยกองทุน Thai ESG

 

  1. ต้องการเงินปันผลคืนระหว่างการถือครอง
  • ซื้อกองทุน SSF ให้เต็มสิทธิ เพราะมีการจ่ายปันผลระหว่างทาง หากเงินเหลือจึงซื้อกองทุน Thai ESG ให้ครบ แล้วตามด้วยกองทุน RMF

 

นอกจากการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี สาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า กองทุน Thai ESG ถือเป็นการสะสมเงินเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการซื้อแล้วถือเป็นเวลานาน 8 ปี คำแนะนำ คือ ก่อนตัดสินใจควรถามตัวเองว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน “เงินลงทุนเย็นพอหรือไม่ ถัดจากนั้นให้สำรวจระดับความเสี่ยง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วหากอายุยังน้อยก็รับความเสี่ยงได้สูง และความสามารถในการรับความเสี่ยงจะค่อย ๆ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น”


หากรับความเสี่ยงได้สูงก็เน้นลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูง โดยเน้นกองทุน Thai ESG ที่มีนโยบายลงทุนหุ้น ESG แต่หากรับความเสี่ยงได้ต่ำก็เน้นลงทุนกองทุน Thai ESG ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ ESG โดยศึกษานโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน


สาห์รัช ย้ำว่า กองทุน Thai ESG เป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ได้หวังทำกำไรในสิ้นปีนี้หรือปีหน้า แต่มองไปในอีก 8 ปีข้างหน้า และหากใช้ปัจจัยเรื่องดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลงถือว่าเป็น “ราคาที่ไม่แพง” ดังนั้น หากรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้ มีระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างนาน “วันนี้ เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน เพราะจะทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ โดยได้ซื้อของถูก ในราคาที่ Discount และได้ลงทุนหุ้นที่ได้รับการยอมรับว่าได้ดำเนินการด้านความยั่งยืน หรือ ESG ด้วย ซึ่งสามารถดำเนินธุรกิจและเติบโตได้ยั่งยืนในระยะยาว”

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้หลักการและเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อประหยัดภาษี พร้อมเทคนิคค้นหากองทุนง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน SSF และ RMF” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: