ถ้าถามว่ากระแสเรื่องอะไรที่มาแรงและเป็นที่พูดถึงกันทั้งประเทศในช่วงนี้ คงไม่มีเรื่องไหนที่จะดังไปกว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะอธิบายถึงรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในช่วงแรกจะพาไปทำความรู้จักกับสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลอาจนำมาใช้ในการส่งผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ หลังจากนั้นจะไปดูถึงผลกระทบเบื้องต้นของโครงการดังกล่าวที่มีต่อค่าเงินบาท และสุดท้ายคือการนำ USD Futures ไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงครับ
ข้อมูลจากหนังสือ เงิน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (Money : Past, Present and Future) เขียนโดยรองศาสตราจารย์ ดร.คณิสร์ แสงโชติ ระบุไว้ว่าในปี 2560 ท่ามกลางความนิยมในสินทรัพย์ดิจิทัล กระตุ้นให้ธนาคารกลางทั่วโลกหันมาสนใจที่จะพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) เพื่อที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้กับระบบการเงินภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนของเงินตราในรูปแบบเงินดิจิทัล ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้สร้าง CBDC
โดยวิธีการสร้างนั้นจะไม่เหมือนกับคริปโทเคอร์เรนซี แต่จะใช้เงิน Fiat ที่ออกโดยรัฐบาลแทน (หมายถึง เงิน 1 บาทดิจิทัล จะถูกหนุนหลังด้วยเงิน 1 บาท) และข้อดีของ Blockchain จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเขียนชุดคำสั่งโดยเฉพาะได้ หรือที่เรียกว่า Smart Contract เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการแจกเงินของรัฐบาล ที่ระบุประเภทของสินค้าที่สามารถซื้อได้ ระยะเวลา และที่อยู่อำเภอตามบัตรประชาชนไว้อย่างชัดเจน โดยจะใช้ฐานข้อมูลของประชาชนในประเทศ ทั้งจากทะเบียนราษฎร์ ธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงข้อมูลร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และลงทะเบียนรับสิทธิ มาเป็นส่วนประกอบในการเขียนข้อจำกัดในการใช้งานของบาทดิจิทัล
หลังจากได้เห็นภาพของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางชัดเจนมากขึ้น คำถามต่อมา คือ ผลกระทบจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอย่างไร โดยในช่วงแรกที่มีการประกาศโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทย อาจไม่เห็นผลกระทบต่อค่าเงินบาทที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากรายละเอียดของโครงการที่ยังไม่ชัดเจน และแหล่งเงินที่ประกาศในตอนแรกว่าไม่ได้มาจากการกู้เงิน
ขณะที่ช่วงถัดมา หลังพรรคเพื่อไทยประกาศเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 และยืนยันเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พบว่าค่าเงินบาทได้อ่อนค่าราว 0.39% อย่างไรก็ดี หลังมีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ได้ออกมาคัดค้านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย 0.03% และต่อมาในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงนโยบายเงินดิจิทัลและปรับเกณฑ์ของผู้มีสิทธิที่จะได้รับ ค่าเงินบาทได้อ่อนค่า 0.34%
สังเกตว่าในทุก ๆ ครั้งที่รัฐบาลได้ออกมายืนยันเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ค่าเงินบาทมักจะเกิดการอ่อนค่า โดยอาจเป็นเพราะตลาดเห็นว่าจะมี Supply เงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐบาลจะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมในปี 2567 ขยายตัว 4.4% (เป็นคาดการณ์ที่รวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยใช้เม็ดเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาทเข้าไปด้วย)
จากข้อโต้แย้งของหลายฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้รัฐบาลได้เปลี่ยนเกณฑ์สำหรับผู้มีสิทธิได้รับการแจกเงินดิจิทัล โดยเกณฑ์ใหม่จะมีผู้ที่ได้รับสิทธิประมาณ 50 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท ระยะเวลาที่จะเริ่มโครงการคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2567
ข้อมูลดังกล่าว เป็นเพียงการประเมินว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีผลกระทบต่อค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อค่าเงินยังมีอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีแนวโน้มยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกามีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าค่าเงินบาทน่าจะมีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผันผวนสูงนับจากนี้
ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากต่อผู้ประกอบการนำเข้า – ส่งออก หรือนักลงทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่นิยมใช้ คือ สัญญาซื้อขายสินค้าล่วงหน้า (Futures) ซึ่งเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงนอกเหนือจากการทำ Forwards กับธนาคารพาณิชย์ และในฐานะเครื่องมือที่ใช้ในการเก็งกำไร
ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ได้เปิดให้มีการซื้อขาย Futures ที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน THB/USD (สัญญาซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้า) ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมีทางเลือกในการเข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น
สำหรับผู้ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยง
ตัวอย่าง ผู้นำเข้าต้องชำระค่าซื้อสินค้าในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากเงินบาทอ่อนค่าในอนาคต ดังนั้น ผู้นำเข้าจึงทำการ (ซื้อ) Long USD Futures ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 100 สัญญา (ไม่รวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ)
กรณีเงินบาทอ่อนค่าไปที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กรณีเงินบาทแข็งค่าไปที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จากตัวอย่าง พบว่าไม่ว่าในอนาคตค่าเงินบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่าไปที่เท่าไหร่ ผู้นำเข้ายังคงมีต้นทุนในการซื้อเงินดอลลาร์อยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเสมอ
สำหรับผู้ที่ต้องการเก็งกำไร
ตัวอย่าง นักลงทุนคาดว่าเงินบาทในอนาคตมีแนวโน้มแข็งค่า จึงเข้าไปทำการ (ขาย) Short USDZ23 ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 50 สัญญา (ไม่รวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ)
กรณีเงินบาทอ่อนค่าไปที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กรณีเงินบาทแข็งค่าไปที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จากตัวอย่าง พบว่านักลงทุนมีโอกาสกำไรถ้าคาดการณ์ได้ถูกต้อง ในทางกลับกันมีโอกาสขาดทุนถ้าคาดการณ์ผิดพลาด
เมื่อโลกการเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจากนี้ไปก็จะได้ยินคำว่า สกุลเงินดิจิทัล กันบ่อย ๆ ซึ่งอาจมีผลต่อค่าเงินบาทไม่มากก็น้อย และอาจส่งกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ต่อผู้ประกอบการนำเข้า – ส่งออก หรือนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ก็มีเครื่องมือเพื่อลดผลกระทบ คือ การซื้อขาย Futures ที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน THB/USD ถือเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็ใช้ในการเก็งกำไรได้ด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ USD Futures ได้ที่ >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการลงทุนในอนุพันธ์ประเภทต่าง ๆ ทั้งฟิวเจอร์ส และออปชัน ตลอดจนกลไกการซื้อขาย การวางหลักประกัน กลยุทธ์การลงทุน และข้อควรระวังของการลงทุนในอนุพันธ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ e-Learning หลักสูตร “ลงทุนอนุพันธ์ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่