5 คำทำนายเศรษฐกิจปีเสือ

โดย สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์
2 Min Read
26 มกราคม 2565
2.594k views
Inv_5คำทำนายเศรษฐกิจปีเสือ_Thumbnail
Highlights

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังต้องเผชิญกับความผันผวนอยู่ตลอดเวลา เช่น การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน การคลัง ของประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น การประเมินสถานการณ์ การติดตามข้อมูลข่าวสารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจเหตุผลในการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่าง ๆ รวมถึงประเด็นสำคัญใดที่ต้องจับตาและอาจเข้ามามีผลกระทบกับการลงทุน เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสมต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะยังคงมีอย่างต่อเนื่องและไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความผันผวนและความไม่แน่นอนก็ยังมีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเริ่มกลับมาเร่งผลักดันธุรกิจให้ฟื้นตัว เช่นเดียวกับนักลงทุนที่ต้องวางกลยุทธ์เพื่อรองรับความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในปี 2565 ดังนั้น ลองมาดูกันว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีเสือนี้จะเป็นอย่างไร

 

1. เศรษฐกิจโลกกลับสู่ภาวะปกติ

เศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น (Global Growth Normalization) หลังจากที่ตกต่ำในปี 2563 และฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2564 แต่ในปี 2565 การขยายตัวจะชะลอตัวลง โดยประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จะขยายตัวแบบชะลอลงจาก 6% เหลือ 5.2% และยุโรปจาก 5% เหลือ 4.3% ส่วนเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ในปีนี้จะขยายตัวขึ้น เช่น ไทยจาก 1% ในปี 2564 เป็น 4.5% ในปีนี้ หรือญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวจาก 2.4% เป็น 3.2%

 

2. อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวลงในครึ่งปีหลัง

อัตราเงินเฟ้อโลกจะปรับลดลงในครึ่งปีหลัง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง โดยเฉพาะโลหะอุตสาหกรรมที่จีนบริโภคมากถึงราว 60 – 80% ของการบริโภคทั้งโลก ปัญหาคอขวดของซับพลายเชน (Supply Chain) เริ่มคลี่คลาย โดยเกิดจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสงค์ชะลอตัวลง และสภาพคล่องทางการเงินโลกที่เริ่มตึงตัว เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เริ่มปรับสูงขึ้น ทำให้กระแสการเก็งกำไรในสินทรัพย์โภคภัณฑ์ลดลง

 

3. นโยบายการเงินโลกกลับมาเป็นปกติ

นโยบายการเงินโลกจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในนิวซีแลนด์และเกาหลีใต้ และการลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร โดยในปัจจุบันมี 13 จาก 42 ธนาคารกลางที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางชั้นนำส่วนใหญ่เริ่มลดทอน QE แล้วเช่นกัน

 

4. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทวีความรุนแรงขึ้น

ประเด็นสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะรุนแรงขึ้น แต่ไม่น่าจะนำไปสู่สงครามร้อนหรือการเผชิญหน้ากัน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในช่วงปลายปีนี้ ดังนั้น ผู้นำสหรัฐฯ จะต้องดำเนินการบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งทุนทางการเมือง ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการจัดประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 20 ซึ่งจะขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ออกไปอีก 5 ปี จึงต้องแสดงให้เห็นว่าระบบการเมืองเหนือกว่า และให้ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ประเมินว่าจะเห็นความตึงเครียดใน 4 ด้าน

  • สงครามการค้า โดยสหรัฐอเมริกาจะไม่ยกเลิกสนธิสัญญาการค้าระยะที่ 1 ในขณะที่จีนจะไม่สนใจและจะสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่น ๆ ต่อไป
  • สงครามเทคโนโลยี โดยทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นการทำ R&D โดยจีนปรับงบประมาณประจำปีเพิ่มขึ้น 7% ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีงบประมาณด้าน R&D จำนวน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • สงครามทุน สหรัฐอเมริกาจะกดดันจีนมากขึ้น เช่น บังคับให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งรายละเอียดบัญชีเชิงลึกให้สำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ ขณะที่จีนพยายามบังคับให้บริษัทต่าง ๆ จดทะเบียนในตลาดหุ้นจีนมากขึ้น
  • สงครามภูมิรัฐศาสตร์ โดยสหรัฐอเมริกา จะเดินหน้าสร้างพันธมิตรร่วมอย่างต่อเนื่อง เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ญี่ปุ่น อินเดีย ขณะที่จีนจะดำเนินการอย่างจริงจังกับไต้หวัน ซึ่งอาจเป็นจุดเปราะบางความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

 

5. ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา
  • การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความเสี่ยงวิกฤติพลังงาน วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ และนโยบาย Zero-COVID ที่อาจนำมาสู่การล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้การบริโภคชะลอตัว และเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย จะได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าไปยังจีน
  • ความผันผวนด้านการเงินโลก ปัจจัยเชิงลบที่น่าจับตา คือ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ส่งสัญญาณพร้อมตึงตัวนโยบายการเงินให้เร็วขึ้น ด้วยการลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ให้เร็วขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัว อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ความผันผวนด้านภูมิอากาศโลก อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ขณะที่มาตรการลดภาวะโลกร้อนจากการประชุม COP26 ยังไม่สามารถบรรลุจุดหมายได้ในระยะสั้น อาจนำไปสู่ภาวะอากาศที่ผันผวน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียด้านสังคม สภาพความเป็นอยู่ รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม
  • ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน เป็นไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็ว ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันลดลงมาก หากไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้อาจนำไปสู่การล็อกดาวน์ และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะยังไม่ลดลง แต่ความกลัวของผู้คนในตลาดการเงินและการลงทุนลดลงตามลำดับจากความเข้าใจที่มากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัว ส่งผลให้ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย และอาจเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น รวมถึงอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องอื่น ๆ ดังนั้น การติดตามข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุน เพื่อนำมาปรับใช้กับการวางกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การวิเคราะห์ GDP รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของภาครัฐ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนั้น ๆ ได้ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: