กลยุทธ์แบ่งไม้ซื้อหุ้นคุณค่า ช่วงตลาดขาลง

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
26 พฤศจิกายน 2563
37.804k views
TSI_Article_043_Inv_Thumbnail
Highlights
  • “การตัดสินใจซื้อหุ้น” มีความสำคัญต่อผลกำไรและขาดทุน หากเราสามารถเลือกกลยุทธ์ในการซื้อหุ้นได้อย่างถูกจังหวะเวลา ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จในระยะยาว

  • กลยุทธ์การแบ่งไม้ซื้อหุ้น เป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน ขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสในการลงทุน เพราะมีเงินสดในมือที่พร้อมจะลงทุนในครั้งถัดไป

  • หากมั่นใจว่าผลประกอบการของบริษัทจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป อาจเป็นโอกาสที่ดีในการ “ทยอยซื้อ” ในช่วงที่ราคาหุ้นปรับลดลง

เป้าหมายของนักลงทุนส่วนใหญ่ คือ ต้องการซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำสุด แล้วขายในราคาที่แพงสุด แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อซื้อไปแล้ว ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร? ... ปรับขึ้นหรือลดลง หากราคาปรับขึ้นจากจุดที่เราซื้อ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะแปลว่าเราจะได้กำไร แต่หากปรับลดลงเมื่อไหร่ ย่อมหมายถึง “ผลขาดทุน” ที่จะตามมา


ในเมื่อไม่มีใครประเมินตลาดหุ้นได้อย่างแม่นยำ การทุ่มเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้นในคราวเดียว อาจจะเสี่ยงเกินไปสักนิด ดังนั้น การลงทุนโดยแบ่งเงินเป็นส่วนๆ เพื่อ "ทยอยซื้อ" หรือที่ภาษานักลงทุนเค้าเรียกกันว่า “แบ่งไม้ซื้อ” จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า

:: Tips การลงทุน ::
คำว่า “ไม้” หมายถึง การนับจำนวนครั้งในการซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ... ซื้อครั้งแรก เราจะเรียกว่า “ไม้แรก” หรือ “ไม้หนึ่ง” และทุกครั้งที่ราคาหุ้นตกลงมาถึงระดับราคาที่เราตั้งใจไว้ ก็จะซื้อ “ไม้สอง” “ไม้สาม” ไปเรื่อยๆ จนครบ “ไม้สุดท้าย” ตามจำนวนเงินลงทุนที่ตั้งใจไว้

“แบ่งไม้ซื้อ” ต่างกับ “ซื้อถัวเฉลี่ย”


หลายคนสงสัยว่า “การแบ่งไม้ซื้อต่างกับการซื้อถัวเฉลี่ยอย่างไร?” ต้องบอกว่า... ในทางปฏิบัติอาจดูไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ในมุมมองของการบริหารเงินในการซื้อขาย (Money Management) และการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน (Risk Management) ทั้ง 2 กลยุทธ์นี้ต่างกันแน่นอน!


การ “แบ่งไม้ซื้อ” เป็นการวางแผนการเทรดล่วงหน้าว่าจะซื้อหุ้นตัวไหน? เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของพอร์ต? และจะแบ่งเงินไปซื้อหุ้นตัวนั้นกี่ครั้ง? ที่ระดับราคาเท่าไหร่?


ตัวอย่างเช่น มีเงินลงทุนอยู่ 500,000 บาท วางแผนว่าจะซื้อหุ้นตัวหนึ่ง ด้วยเงินไม่เกิน 20% ของพอร์ต (100,000 บาท) ต้องการซื้อ 4 ไม้ ไม้ละเท่าๆ กัน โดยตั้งใจว่าถ้าระดับราคาลดลงไปทุกๆ 10 บาท จะซื้อเพิ่มอีก 1 ไม้ เป็นต้น


พูดง่ายๆ คือ เป็นสิ่งที่อยู่ในแผนการลงทุน ซึ่งคิดไว้ก่อนอยู่แล้วว่าจะทำ ถ้าหุ้นไม่ลง ก็จะไม่ซื้อเพิ่ม แต่ถ้าราคาย่อลงมาถึงระดับราคาที่ตั้งไว้ ก็จะซื้อเพิ่มทันที


ขณะที่การ “ซื้อถัวเฉลี่ย” เป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในแผน ออกจะ “ผิดแผน” ด้วยซ้ำไป นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะทำตอนหุ้นตก เพราะเมื่อเราซื้อหุ้นแล้ว และราคาปรับลดลงไปเรื่อยๆ ในทางจิตวิทยาเราจะไม่สามารถทำใจยอมรับการตัดขาดทุน (Cut Loss) ได้ กลายเป็น VI จำเป็น ถือคติ “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” แถมยังปลอบใจตัวเองด้วยการนำเงินมาลงทุนเพิ่ม เพื่อ “ถัวเฉลี่ยต้นทุนในการซื้อหุ้นให้ต่ำลง” ซึ่งการซื้อถัวเฉลี่ยขาลงนั้น สามารถช่วยลดต้นทุนในเรื่องของราคาหุ้นได้จริง แต่ก็เป็นการเพิ่มเงินลงทุน และเพิ่มความเสี่ยงเข้าไปด้วยเช่นกัน หากหุ้นยังคงลงต่อ


จะเห็นว่า... กลยุทธ์การ แบ่งไม้ซื้อ” จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน ขณะดียวกันก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุน เพราะมีเงินสดในมือที่พร้อมจะลงทุนในครั้งถัดไปด้วย


แนวทางการแบ่งไม้ซื้อ


แล้วนักลงทุนจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องแบ่งกี่ไม้? และราคาย่อลงมาที่เท่าไหร่ถึงจะซื้อ? อันนี้ไม่มีสูตรตายตัวที่จะบอกว่าแบบไหนดี แต่ก็พอมีสิ่งที่นักลงทุนจะดูเป็นไอเดียในการจัดไม้ได้ ไม่ว่าจะเป็น...
 

  1. ดูสถิติราคาย้อนหลัง

ก่อนตัดสินใจวางแผนแบ่งไม้ซื้อ อาจกลับไปดูสถิติราคาหุ้นย้อนหลังในช่วงเกิดวิกฤติรอบที่ผ่านมา เช่น วิกฤติซับไพร์มว่า... ราคาหุ้นที่เราสนใจปรับลดลงไปในลักษณะไหน และลดลงต่ำสุดที่เท่าไหร่


ตัวอย่างเช่น หุ้น XYZ ซื้อขายที่ระดับราคา 100 บาท และเมื่อเกิดวิกฤติซับไพร์ม ราคาปรับลดลงอย่างรวดเร็วไปซื้อขายกันที่ 80 บาท จากนั้นราคาก็ปรับลดลงไปที่ 70 บาท และอีกไม่กี่วันก็ไปซื้อขายที่ราคา 50 บาท ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด


ดังนั้น กลยุทธ์การแบ่งไม้ซื้อหุ้น XYZ ในช่วงวิกฤติเชื้อไวรัส COVID-19 คือ ไม้แรกให้ซื้อที่ราคาแถวๆ 80 บาท หากราคายังปรับลดลง ไม้ที่สองก็ซื้อที่ราคา 70 บาท และหากราคายังปรับลดลงต่อก็ให้รอซื้อเป็นไม้สุดท้ายที่ราคา 50 – 55 บาท 


แต่สำหรับวิกฤติรอบนี้ ไม่รู้ว่าจะควบคุมเชื้อไวรัส COVID-19 หรือวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ ดังนั้น นักลงทุนอาจแบ่งไม้ซื้อ ซึ่งเป็นไม้ที่ 4 ในราคาต่ำกว่าราคาที่เคยต่ำสุดของวิกฤติรอบก่อนหน้าก็ได้ เช่น 40 – 45 บาท  

 

  1. ดูกราฟเทคนิค

นอกจากดูสถิติราคาหุ้นย้อนหลังในช่วงเกิดวิกฤติรอบที่ผ่านมาแล้ว อีกกลยุทธ์หนึ่งที่นิยม คือ การดูกราฟเทคนิค โดยใช้ “เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่” (Moving Average) รายสัปดาห์เป็นหลักในการวิเคราะห์ เริ่มจากการตีเส้นหาแนวรับแต่ละระดับตามจำนวนไม้ที่แบ่งซื้อ เช่น มีเป้าหมายแบ่งซื้อ 4 ไม้ ก็หาแนวรับที่ 1, 2, 3 และ 4 เป็นต้น


จากนั้นก็แบ่งเงินลงทุนตามแนวรับ (สมมติว่ามีเงินลงทุน 100,000 บาท) โดยแนวรับที่ 1 ซื้อ 10% ของวงเงินลงทุน (10,000 บาท) เมื่อราคาหุ้นปรับลดลงมาชนแนวรับที่ 2 ก็ซื้ออีก 15% ของวงเงินลงทุน (15,000 บาท) หากราคาหุ้นลดลงสู่แนวรับที่ 3 ก็ซื้ออีก 25% ของวงเงินลงทุน (25,000 บาท) และหากราคายังคงปรับลดลงเรื่อยๆ จนมาถึงแนวรับที่ 4 ก็ซื้อส่วนที่เหลืออีก 50% ของวงเงินลงทุน (50,000 บาท)


เมื่อถึงแนวรับที่ 4 นักลงทุนจะซื้อหุ้นได้ครบตามวงเงินลงทุนที่วางเอาไว้ สังเกตว่า... ถ้าราคาหุ้นปรับลดลงมาถึงแนวรับที่ 4 จะซื้อหุ้นครั้งนี้ได้ในราคาต้นทุนต่ำที่สุด ดังนั้น จึงควรแบ่งเงินลงทุนให้กับไม้สุดท้ายในจำนวนมากกว่าการซื้อไม้อื่นๆ


เหมาะกับหุ้นประเภทไหน


กลยุทธ์แบ่งไม้ซื้อหุ้น คือ การมองว่าหุ้นที่ซื้อ “มีราคาสูงไป” และราคาหุ้นมีโอกาสปรับลดลงได้อีก จึงต้องแบ่งเงินลงทุนออกเป็นหลายๆ ก้อน ดังนั้น อาจเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญต้องเน้นลงทุนหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี หุ้นปันผล หุ้นคุณค่า และเน้นลงทุนระยะยาว เพียงแต่ว่า... ในช่วงวิกฤติ ราคาหุ้นเหล่านี้ปรับลดลงตามสถานการณ์โดยรวม ขณะที่พื้นฐานการดำเนินธุรกิจในระยะยาวไม่เปลี่ยนแปลง


ตัวอย่างเช่น ซื้อหุ้น XYZ เพราะให้อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) 5% ต่อปี แต่เมื่อเกิดวิกฤติ ราคาหุ้นปรับลดลง ทำให้อัตราเงินปันผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 7% ก็ควรซื้อหุ้นตัวนี้เพิ่ม และหากราคาหุ้นปรับลดลงไปอีกก็ซื้อเพิ่ม เพราะเป้าหมายของการลงทุน คือ เงินปันผล แต่จะทำการขายหุ้น XYZ ก็ต่อเมื่ออัตราเงินปันผลตอบแทนต่ำกว่า 5%


ดังนั้น ก่อนตัดสินใจใช้กลยุทธ์แบ่งไม้ซื้อ อันดับแรกต้องคัดกรองหุ้นให้ได้ก่อน โดยต้องเป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง สามารถถือลงทุนในระยะยาวได้ หรือเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตเห็นว่า... ยิ่งราคาของหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีปรับลดลง นักลงทุนยิ่งต้องการซื้อ เพราะเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ราคาหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นได้


ตรงกันข้าม หากเลือกหุ้นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ธุรกิจอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติ และไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าแบ่งไม่ซื้อกับหุ้นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ นักลงทุนมีโอกาสติดหุ้นได้

สำหรับใครที่สนใจอยากติดอาวุธการลงทุนให้กับตนเอง รวมไปถึงอยากเลือกหุ้นเป็น เทรดหุ้นได้  สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร
“ห้องเรียนนักลงทุน 24 ชั่วโมง : มือใหม่ลงทุนหุ้น” ฟรี! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: