ถูกแล้วถูกอีก...ถึงเวลาซื้อหุ้นไทยแล้วหรือยัง

โดย อธิป กีรติพิชญ์ Facebook Fanpage : นิ้วโป้ง Fundamental VI
3 Min Read
22 พฤศจิกายน 2566
26.581k views
TSI_Article_531_Inv_ถูกแล้วถูกอีก...ถึงเวลาซื้อหุ้นไทยแล้วหรือยัง_Thumbnail
Highlights
  • ตั้งแต่ต้นปี 2566 การลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยสดใส โดยปัจจัยภายในที่กดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง เช่น ความผิดหวังจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น การปรับขึ้นและจะคงอัตราดอกเบี้ยสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นต้น

  • 10 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยซึมและลงเรื่อย ๆ จนมีคำถามตามมาว่า ถึงเวลาซื้อของดี ราคาถูกแล้วหรือยัง ? และอะไรเป็นโอกาสของหุ้นไทย ซึ่งมี 3 ปัจจัยสำคัญที่อยากให้มอง เพราะจะทำให้ตลาดหุ้นไทยลุ้นการฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2566 และไปต่อได้ในปี 2567

เรากำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 ในความรู้สึกของผมช่างเป็นปีที่เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยเรื่องเกินคาดการณ์ไปมากมาย ในเชิงการลงทุน สามารถกล่าวได้ว่า ปี 2566 ช่วงเวลา 10 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาแห่งความผิดหวังของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย เราเริ่มต้นปีด้วยความหวังที่โชติช่วง แต่กลับต้องเจอความจริงอันหม่นหมอง ทำให้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 เดือนแรก ถือว่าย่ำแย่เป็นอย่างมาก เราผ่านขาลงในลักษณะซึมลงเรื่อย ๆ มาอย่างเจ็บปวด ไม่ได้เป็นการลงแบบ Panic sell ตกใจขายแรง ๆ เร็ว ๆ เหมือนปีโควิด 2563 แต่เป็นการลงแบบต้มกบ แบ่งเป็น 3 รอบใหญ่ เราลองมาทบทวนกัน

 

  • รอบแรก ตลาดหุ้นไทยเปิดปี 2566 ด้วยความหวังความเชื่อว่าน่าจะเป็นปีที่การลงทุนให้ผลตอบแทนดี แถมด้วยแรงส่งเชิงบวกจากการที่ประเทศจีนประกาศเปิดประเทศหลังโควิดตั้งแต่ต้นปี เราคาดหวังว่าการท่องเที่ยวไทยและการบริโภคภายในประเทศน่าจะกลับมาเติบโตได้แรง แต่นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ตลาดหุ้นไทยเริ่มปรับตัวลง เป็นความผิดหวังจากผลประกอบการไตรมาส 4 ปีก่อนหน้า มุมมองคาดการณ์อนาคตแย่ลง นักวิเคราะห์เริ่มมีการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (EPS Downgrade) ทำให้หุ้นไทยปรับตัวลงในรอบแรก

 

  • รอบที่ 2 คือช่วงไตรมาสสอง จากการเลือกตั้งทั่วไปช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เรามีความคาดหวังกับ Pre and Post-Election Rally โดยปกติก่อนและหลังการเลือกตั้งใหญ่มักจะมีการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นเสมอ แต่นั่นไม่ใช่ปีนี้ และถึงแม้จะผ่านเลือกตั้งไปแล้วก็ตาม ซ้ำร้ายผลการเลือกตั้งก็ทำให้ตลาดหุ้นพบกับความคลุมเครือไปอีก 3 เดือนเต็ม ๆ จากความไม่ชัดเจนในการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตเลือกนายกฯ ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอีกรอบหนึ่ง ครึ่งปีแรกตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทน -9% ซึ่งย่ำแย่ที่สุดในโลกไปเรียบร้อยแล้ว

 

  • รอบที่ 3 หลังจากที่เราได้นายกฯ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ความคาดหวังต่าง ๆ เริ่มจะมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงปลายเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1,570 จุด แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวังและแรงกดดันหลัก ๆ มาจากต่างประเทศ จากสัญญาณการปรับขึ้นและจะคงดอกเบี้ยสูงของ FED คำว่า Higher for Longer เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ และยังซ้ำเติมด้วยสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส และยังมีความเสี่ยงภายในประเทศจากนโยบายรัฐเรื่องการแจกเงินดิจิทัล ที่เงื่อนไขการแจกมีความคลุมเครือเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงทั้งเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม โดย 2 เดือนรวมกันปรับตัวลงมามากกว่า 200 จุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยติดลบ -17% ซึ่งย่ำแย่ที่สุดในโลกเช่นเคย

 

ถึงตรงนี้ ผมคิดว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเริ่มปรับตัวปรับใจได้ในระดับหนึ่ง และเริ่มที่จะมองไปข้างหน้าเพื่อหาโอกาส ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าตลาดหุ้นไทยลงมาซื้อขายกันที่ระดับมูลค่าพื้นฐานที่ไม่แพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจาก Forward P/E ไปที่ปีหน้า นอกจากนี้ แม้ภาพรวมตลาดจะ -17% แต่หุ้นใหญ่หลายตัวลงมาหนักหนากว่านั้นมาก บางตัว -20% ถึง -40% ก็มี

 

คำถามใหญ่ของนักลงทุน คือ “ถึงเวลาซื้อของดี ราคาถูกในตลาดหุ้นไทยแล้วหรือยัง ?” และ “เหตุผลที่มองว่าจะเป็นโอกาสของหุ้นไทยคืออะไร ?” สิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนควรมองหาตอนนี้ คือ ตลาดหุ้นไทย มีตัวแปรเชิงบวกใดที่จะมาพลิกฟื้นภาพของ SET Index ไม่ให้เราปิดปีติดลบมากในระดับปัจจุบันนี้ ประเด็นสำคัญในบทความนี้ ต้องการนำเสนอว่ามีปัจจัยอะไรที่ตลาดหุ้นไทยยังพอลุ้นการ Bottom Out และพลิกฟื้นเป็นขาขึ้นอย่างแข็งแกร่งได้ในปีหน้า นี่คือสิ่งที่เราต้องจับตาและอาจจะเป็นโอกาสการลงทุนหุ้นไทยอย่างงดงาม

 

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยลุ้นการฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2566 และไปต่อได้อย่างดีในปีหน้า มี 3 ประเด็นคือ

1) อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Interest Rate) ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถึงตรงนี้แทบไม่มีใครคิดอีกแล้วว่าปี 2567 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 4 – 7 ครั้งแบบปีนี้หรือปีที่ผ่านมาอีก สิ่งที่นักลงทุนคาดการณ์คือ หนึ่ง.. เราสิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ยแล้วหรือยัง ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะสิ้นสุดแล้ว หรือ กรณีเลวร้ายก็ขึ้นอีกเพียง 1 ครั้ง สอง..จะคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงนี้ไปนานเท่าใด ซึ่งคาดการณ์กันว่าประมาณ 3 ไตรมาส และ สาม..จะลดอัตราดอกเบี้ยลงในเวลาใด ซึ่งคาดการณ์กันว่าประมาณช่วงกลางปีหรือปลายปี เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อตัวเลขลดลง ถือว่าทยอยดีขึ้นตามลำดับ ทำให้วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ใกล้จบ ดังนั้น Bond Yield ที่ปรับตัวสูงในปัจจุบันจะกดดันตลาดหุ้นได้อีกไม่นาน คาดว่าจะมีทิศทางกลับมาเป็นขาลงในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้น

 

2) การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (Earning Growth) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยโดยส่วนใหญ่ คาดว่าปีหน้ากำไรสุทธิควรจะต้องปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ โดยปัจจัยสำคัญจะมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากการบริโภคในประเทศ (Domestic Consumption) ที่ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทยอยออกมาในช่วงสิ้นปี 2566 และต่อเนื่องถึงต้นปี 2567 โดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ช่วยสร้างกำลังซื้อในประเทศ รวมทั้งภาคบริการที่เติบโตดีจากการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวแรงในปีหน้า และยังมีเรื่อง Geopolitical risks ที่จะส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศไทย คาดว่า GDP จะขยายตัว 6% ซึ่งปีหน้า ประเทศไทยจะเป็นไม่กี่ประเทศที่ GDP มีการเติบโต เพราะคาดหมายว่าจะเกิดเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในสหรัฐฯ และจีน จึงมีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยในปี 2567 จะกลับมาคึกคักอีกครั้งตามพื้นฐานเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

 

3) มูลค่าหุ้น (Valuation) ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาจากต้นปีค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดหุ้นไทยมี Valuation ที่ต่ำลงอย่างน่าสนใจ มีความคุ้มค่าในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นใหญ่หลายตัว ราคาหุ้นปรับตัวลดลง -30% ถึง -40% นับจากต้นปี โดยที่กำไรสุทธิของกิจการไม่ได้ลดลงมากขนาดนั้น แต่เกิดจากปัจจัยกดดันเรื่อง Bond Yield ที่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 กระทบต่อหุ้นปันผลที่เป็นลักษณะ Yield Play หลายกลุ่ม และ กระทบต่อกลุ่ม REIT และ Infrastructure Fund ที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างหนักในปีนี้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ยังมีหุ้นพื้นฐานหลายตัว ที่รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่มขึ้น ทุกไตรมาสในปี 2566 แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลง และยังปรับตัวลดลงมากกว่า SET Index ด้วยซ้ำ นี่ถือเป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ดังนั้น ภายใต้ SET INDEX ที่ย่อตัวลงมามากกว่า -17% ในปีนี้ จนมี P/BV เหลือเพียง 1.38 เท่า ต่ำกว่าระดับ -1SD ที่ 1.52 เท่าแล้ว ซึ่งถือว่าอยู่ในโซนที่ Downside จำกัด หุ้นหลายกลุ่มมี Valuation ที่น่าสนใจติดตามดูอย่างใกล้ชิด
 

กล่าวโดยสรุป ทั้งสามปัจจัยที่กล่าวมา

  • ปัจจัยข้อ 1 … ถ้าอัตราผลตอบแทน Bond Yield มีแนวโน้มลดลง จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย
  • ปัจจัยข้อ 2 … ถ้ากิจการในตลาดหุ้นไทยมีอัตราการเติบโตของกำไร EPS growth ดีจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย
  • ปัจจัยข้อ 3 … ถ้าตลาดหุ้นไทยมีระดับ Valuation ที่น่าสนใจเทรดที่ P/E และ P/BV ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต จะส่งผลให้ความน่าสนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น

 

ปีนี้จะพบว่า เมื่อเราลองวิเคราะห์ผลกระทบทั้ง 3 ปัจจัย พบว่า ปี 2566 จัดว่าตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยทั้ง 3 ประการย่ำแย่ทั้งหมด กล่าวคือ ปัจจัยอัตราดอกเบี้ยก็ถือว่าปรับตัวขึ้นสูงอย่างผิดคาด ... ปัจจัย EPS growth เราไม่มี แถมยังโดน Downgrade ลดลงมาด้วย ... ปัจจัย Valuation จากช่วงต้นปีเรายังไม่ต่ำจูงใจ เมื่อทั้ง 3 ปัจจัยย่ำแย่พร้อมกันผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยจึงติดลบมากถึง -17%

 

ในช่วงเวลาปัจจุบัน ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความสำคัญที่สุด ปัจจัยนี้ปกคลุมประเด็นเรื่อง EPS Growth และ Valuation ไปจนเกือบทั้งหมด แต่เมื่อเรามองไปข้างหน้า ปี 2567 โอกาสที่ปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้จะดี 2 ใน 3 เป็นอย่างน้อย ถือว่ามีสูงมาก ดังนั้น ปี 2567 ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจึงปรับตัวขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะที่ระดับดัชนี 1,400 จุด ลงมาผมคิดว่าเป็นโซนสะสมหุ้นไทยโดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคากองอยู่ที่โซนล่าง ปีหน้ามีความหวังในการฟื้นตัวได้

 

สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงเรื่องการบริหารจัดการเงินลงทุน ไม่ว่าตลาดหุ้นช่วงนั้นจะน่าลงทุนอย่างไร แต่ก็ไม่ควรทุ่มสุดตัวด้วยเงินสดทั้งหมดที่มี (All-in) หรือแม้กระทั่งใช้บัญชีมาร์จิ้นมาเพิ่ม การลงทุนเพื่อคว้าโอกาสนั้นดี แต่ต้องไม่ลืมป้องกันความเสี่ยงด้วย สิ่งนี้จะทำให้เราอยู่ในตลาดหุ้นได้นานพอที่โอกาสดี ๆ จะเข้ามา เพราะในตลาดหุ้นมักมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเข้ามาอยู่เสมอ การอยู่รอดได้นาน มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงและเงินสด จนกว่าโอกาสดี ๆ จะเข้ามานั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้เทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: