ราคาทองคำโลกผันผวน เพิ่มโอกาสผลตอบแทนด้วยทองคำในตลาดอนุพันธ์

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
6 พฤศจิกายน 2566
2.612k views
TSI_Article_529_Inv_ราคาทองคำโลกผันผวน เพิ่มโอกาสผลตอบแทนด้วยทองคำในตลาดอนุพันธ์_Thumbnail
Highlights
  • หากย้อนกลับไปในอดีตที่เกิดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม หรือเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ในสหรัฐฯ หรือล่าสุดสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ส่งผลให้ราคาทองคำผันผวนและมีการเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ

  • โดยในภาวะปกติ ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ในการจัดสรรพอร์ตลงทุนและช่วยกระจายความเสี่ยง ขณะที่หากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือสงคราม ทองคำยังทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยได้ดีอีกด้วย

  • ผู้ที่สนใจลงทุนหรือเก็งกำไรทองคำ นอกเหนือจากการซื้อทองคำจากร้านทองแล้ว ยังสามารถซื้อขายทองคำได้ผ่านตลาดอนุพันธ์ (TFEX) เช่น Gold Futures และ Gold Online Futures เป็นต้น

“ทองคำ” โลหะมีค่าที่รู้จักกันมานาน ในอดีตมักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดถึงความมั่งคั่ง ความมีฐานะ หรือถูกนำมาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า และเมื่อทั่วโลกมีการค้าขายระหว่างประเทศกันมากขึ้น ทองคำได้ถูกนำไปใช้เพื่อวัดมูลค่าเงินตราของประเทศในระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) โดยในช่วงปี 2419 ได้กำหนดค่าเงินของประเทศแต่ละประเทศต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งทรอยออนซ์ หรือที่เรียกว่า ค่าเสมอภาค

 

โดยประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศค่าเสมอภาคที่ 20.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ขณะที่ประเทศอังกฤษประกาศที่ 4.2474 ปอนด์สเตอร์ลิงต่อทรอยออนซ์ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สหรัฐฯ ได้ออกจากระบบ Bretton Woods ในปี 2514 ทำให้ทองคำไม่ได้ถูกตรึงมูลค่าไว้ที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์อีกต่อไป ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทองคำมีการซื้อขายเหมือนกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ

 

เมื่อเวลาผ่านไปและด้วยพัฒนาการที่รวดเร็วในโลกการเงิน ทองคำได้ถูกนำมาให้ซื้อขายกันในตลาดอย่างแพร่หลาย บางครั้งถูกนำมาใช้ในการเก็งกำไร ส่งผลให้ทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์เสี่ยง กระนั้นก็ดี ในภาวะสงครามหรือความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทองคำจะถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งหากย้อนอดีตที่เกิดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามหรือเหตุการณ์ความไม่สงบ ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์

ความขัดแย้งเริ่มต้นวันที่ 2 เมษายน ปี 2525 เมื่ออาร์เจนตินาได้บุกและยึดครองหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ จนวันที่ 5 เมษายน ปีเดียวกัน อังกฤษได้ส่งกองกำลังทหารเพื่อเข้ายึดคืนพื้นที่ โดยสงครามกินเวลาทั้งหมด 74 วัน ซึ่งผลของสงครามอังกฤษเป็นฝ่ายชนะและสามารถยึดคืนดินแดนกลับคืนไปได้ โดยในช่วง 1 สัปดาห์แรกของสงคราม ราคาทองคำเพิ่มจาก 327 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ขึ้นไปที่ 352 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ และภายใน 1 เดือนแรก ทองคำให้ผลตอบแทนราว 10.5%

 

สงครามอ่าวเปอร์เซีย

หลังจบสงครามระหว่างอิรัก - อิหร่านในปี 2531 อิรักประสบปัญหาล้มละลาย เนื่องจากใช้เงินทุนในการทำสงครามไปมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่กู้ยืมมาจากซาอุดิอาระเบียและคูเวต โดยอิรักได้กดดันให้ทั้ง 2 ประเทศยกหนี้ให้ทั้งหมด แต่ก็ถูกปฏิเสธ จนกระทั่งเวลาผ่านไป ความตึงเครียดระหว่างอิรักและคูเวตได้เพิ่มสูงขึ้นจากการที่อิรักกล่าวหาคูเวตว่าได้ขโมยน้ำมัน และเรียกร้องให้คูเวตชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ทั้ง 2 ชาติไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้อิรักได้ตัดสินใจบุกเข้าคูเวต ในวันที่ 2 สิงหาคม ปี 2533 ผลของการรุกรานคูเวตได้ทำให้ราคาทองคำขยับขึ้นจาก 371 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ขึ้นไปที่ 385 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (ณ วันที่ 8 สิงหาคม ปี 2533) เพิ่มขึ้นราว 3.8% ภายใน 1 สัปดาห์ และเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% ภายในเวลา 1 เดือน

 

เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน

เช้าตรู่ของวันที่ 11 กันยายน ปี 2544 ผู้ก่อการร้ายจำนวน 19 คน ได้จี้เครื่องบินโดยสารทั้งหมด 4 ลำ โดยมีเป้าหมายที่จะพุ่งเข้าชนสถานที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเครื่องบิน 2 ลำแรกได้พุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ขณะที่อีก 1 ลำ พุ่งเข้าชนอาคารเพนตากอน ส่วนลำสุดท้ายได้ตกที่รัฐเพนซิลเวเนีย ก่อนที่จะถึงเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งมีการคาดว่าอาจจะเป็นอาคารรัฐสภาหรือไม่ก็ทำเนียบขาว เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการโจมตีบนแผ่นดินสหรัฐฯ นับจากเหตุการณ์โจมตีที่เพิร์ลฮาเบอร์ โดยในช่วง 1 สัปดาห์แรกของการเกิดเหตุการณ์ ราคาทองคำปรับจากระดับ 271.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ขึ้นไปที่ 288.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 6.5% ขณะที่ 1 เดือนแรก ทองคำให้ผลตอบแทนที่ระดับ 4.9%

 

สงครามยึดครองอิรัก

สหรัฐอเมริกากล่าวหาอิรักว่าได้ครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงและให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย จนกระทั่งวันที่ 19 มีนาคม ปี 2546 กองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ เริ่มปฏิบัติการโจมตีอิรักและด้วยแสนยานุภาพที่เหนือกว่าทำให้สามารถยึดครองกรุงแบกแดดได้เมื่อวันที่ 9 เมษายน ปี 2546 และประกาศยุติปฏิบัติการรบในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2546 หากดูการเคลื่อนไหวของราคาทองคำนับตั้งแต่เริ่มโจมตี พบว่าใน 1 สัปดาห์แรกให้ผลตอบแทนติดลบ -2.6% และภายใน 1 เดือนให้ผลตอบแทนติดลบ -3.3%

 

สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส

นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ปี 2566 กลุ่มฮามาสได้เข้าโจมตีอิสราเอลแบบฉับพลัน ขณะที่อิสราเอลก็ได้ตอบโต้กลับ โดยถ้าดูจากสถานการณ์ในปัจจุบัน คาดว่าสงครามที่เกิดขึ้นน่าจะมีความยืดเยื้อ และหากดูการเคลื่อนไหวของราคาทองคำนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่าได้ปรับตัวขึ้นจากบริเวณ 1,832 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (ณ วันที่ 6 ตุลาคม ปี 2566) อยู่ที่ระดับ 1,932 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (ณ วันที่ 13 ตุลาคม ปี 2566) ปรับขึ้น 5.5% ภายในเวลา 1 สัปดาห์

 

จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จะเห็นได้ว่าทองคำยังทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยได้เป็นอย่างดีในบริบทที่โลกเกิดความไม่สงบขึ้น ขณะเดียวกันในภาวะปกติ ทองคำยังถือเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ในการจัดสรรพอร์ตลงทุนและกระจายความเสี่ยงได้ดีอีกด้วย

 

สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนหรือเก็งกำไรทองคำ นอกเหนือจากการซื้อทองคำจากร้านขายทอง ก็มีช่องทางอื่น ๆ โดยช่องทางแรกสามารถซื้อขายผ่านตลาดอนุพันธ์ (TFEX) โดยปัจจุบันสินค้า Futures ที่อ้างอิงทองคำใน TFEX แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  • Gold Futures เป็นสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่อ้างอิงกับทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ 5% ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามขนาดของสัญญา ได้แก่ ทองคำน้ำหนัก 50 บาท (GF) และทองคำน้ำหนัก 10 บาท (GF10) โดยจะซื้อขายกันด้วยสกุลเงินบาทเช่นเดียวกับราคาทองคำในประเทศไทย เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อขาย โดยไม่ต้องการส่งมอบหรือรับมอบสินค้าจริง และสามารถรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ หรือต้องการป้องกันความเสี่ยงจากการถือครองทองคำจริงในช่วงที่ราคาทองคำในประเทศปรับตัวลดลง

 

  • Gold Online Futures เป็นสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่อ้างอิงกับทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ 5% และซื้อขายกันด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักทองคำ 1 ทรอยออนซ์ เช่นเดียวกับราคาทองคำในตลาดโลก จึงไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ราคาซื้อขายจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาทองคำโดยตรงและไม่ต้องพิจารณาผลกระทบจากค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนกับการซื้อขาย Gold Futures ทำให้ง่ายต่อการซื้อขาย เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาทองคำโดยตรงและไม่ต้องการรับมอบหรือส่งมอบทองคำจริง

 

  • Gold-D เป็นสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่อ้างอิงกับทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ 99% และถูกกำหนดให้มีการชำระราคาด้วยการรับมอบและส่งมอบทองคำจริง (Physical Delivery) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ Gold Futures และ Gold Online Futures ดังนั้น Gold-D จึงเหมาะกับผู้ประกอบการทองคำหรือนักลงทุนที่ต้องการซื้อขายเพื่อเก็บทองคำไว้เป็นสินทรัพย์

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจลงทุนใน Gold Futures และ Gold Online Futures แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้พื้นฐานการลงทุน ตลอดจนกลไกการซื้อขาย การวางหลักประกัน กลยุทธ์การลงทุน และข้อควรระวังของการลงทุนในอนุพันธ์ ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนอนุพันธ์ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: