โลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นคำที่นักลงทุนคุ้นเคยกันดีในช่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา หมายถึงการที่โลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การสื่อสาร หรือการเดินทาง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่าโลกาภิวัตน์มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปสู่การทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) หมายถึงการที่โลกมีความเชื่อมโยงกันน้อยลง
กระแส Deglobalization มีความเด่นชัดขึ้นในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเมื่อปี 2561 มีการใช้นโยบาย America First เพื่อมุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ผ่านการสร้างกำแพงภาษีนำเข้า ไม่สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะกับจีน กระทั่งนำไปสู่สงครามทางการค้า (Trade War) จนมาถึงยุคหลังวิกฤติ COVID-19 กระแสดังนี้ยังไม่จางหายไป ตรงกันข้ามกลับนำไปสู่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) จึงกลายเป็นสงครามชิป (Chip War) มาจนถึงปัจจุบัน
ชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ คือ ชิ้นส่วนขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท เปรียบเสมือนสมองที่คอยช่วยสั่งการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ทำงานได้ตามหน้าที่ของอุปกรณ์นั้น ๆ อย่างไรก็ดี ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนชิปตั้งแต่ช่วง COVID-19 เนื่องจากผู้ผลิตชิปจำเป็นต้องหยุดโรงงานผลิตชั่วคราว ประกอบกับความต้องการใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีที่พุ่งสูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน (Work from home) ทำให้เกิดความไม่เท่ากันของอุปสงค์และอุปทาน
ด้วยความสำคัญของชิป จึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของสงครามชิประหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยได้ออกกฎหมาย CHIPS and Science Act เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2565 มูลค่ากว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อดึงดูดการลงทุนด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐอเมริกา ผ่านการลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุน
กฎหมายดังกล่าวถือเป็นการกีดกันด้านเทคโนโลยีกับจีนในทางอ้อม เนื่องจากมองว่าจีนเป็นคู่แข่งทางการค้าคนสำคัญและอาจเป็นภัยด้านความมั่นคงทางการทหาร ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐอเมริกาได้มีการจับมือกับชาติพันธมิตร เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ร่วมกันปิดกั้นการส่งออกชิปคุณภาพสูงหรือเครื่องจักรผลิตชิปไปยังจีน เช่น ASML (เนเธอร์แลนด์) และ Nikon (ญี่ปุ่น) ได้ปิดกั้นการส่งมอบเครื่องจักรผลิตชิป DUV (Deep Ultraviolet Lithography Machine) ให้จีน และล่าสุด (สิงหาคมปี 2566) โจ ไบเดน ลงนามคำสั่งพิเศษจำกัดการลงทุนของบริษัทสหรัฐอเมริกาในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของจีน
ทางด้านจีน ก็ไม่ยอมสหรัฐอเมริกา โดยได้ประณามถึงท่าทีการกีดกันทางการค้าอยู่เป็นระยะ ๆ แม้กระทั่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ (ตุลาคมปี 2565) ว่าจะผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพิงจากต่างชาติ พร้อมยกระดับให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก และตอบโต้สหรัฐอเมริกาผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การจำกัดการส่งออกแร่ Gallium และ Germanium (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมปี 2566) โดยผู้ส่งออกจะต้องขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์จีนก่อนส่งออก
ปัจจุบันแร่ Gallium กับ Germanium เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยจีนเป็นผู้ผลิตแร่ Gallium ราว 80% และ Germanium ราว 60% ของการผลิตทั้งโลก รวมถึงการประกาศเข้าตรวจสอบบริษัท Micron ผู้ผลิตชิปของสหรัฐอเมริกาเพื่อปกป้องความมั่นคงทางไซเบอร์ของจีน
นอกจากนี้ ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเตรียมจัดตั้งกองทุนพิเศษมูลค่ากว่า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน นับเป็นเม็ดเงินการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์จีน
จากสงครามทางการค้า มาถึงสงครามชิป ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลัก ๆ ได้แก่ ฝ่ายสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร (เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ) กับจีนและรัสเซีย โดยจะพยายามพึ่งพาด้านเศรษฐกิจภายในฝ่ายเดียวกันมากขึ้น ขณะเดียวกันจะลดการพึ่งพาจากฝ่ายตรงข้าม
ถึงแม้ว่าปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงธุรกิจในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี หากมองในมุมบวกกรณีการแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น เห็นได้จากกระแสการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและจีน แข่งขันกันเพื่อพัฒนา AI ที่มีประสิทธิภาพสู่สาธารณชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะมีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ชีวิตและการทำงานมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าอาจจะยังคาดการณ์ได้ยากว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะในสงครามชิป แต่ในแง่ของการลงทุน นักลงทุนสามารถคว้าโอกาสจากการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาและจีน ด้วยการเลือกลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำ สำหรับหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Apple, Microsoft, Google และ Amazon ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนไทยสามารถลงทุนหุ้นดังกล่าวได้แล้วในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านการซื้อขาย DRx โดยหุ้น Apple มีสัญลักษณ์ซื้อขาย AAPL80X หุ้น Microsoft มีสัญลักษณ์ซื้อขาย MSFT80X และหุ้น Alphabet หรือ Google มีสัญลักษณ์ซื้อขาย GOOG80X
หรือจะกระจายการลงทุนผ่าน DR “NDX01” ในตลาดหุ้นไทย (อ้างอิง ChinaAMC NASDAQ 100 ETF) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และลงทุนอ้างอิงดัชนี NASDAQ100 หรือหากสนใจหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำของทางฝั่งจีน เช่น Alibaba, Tencent และ Xiaomi ก็สามารถกระจายลงทุนได้ผ่าน DR “CNTECH01” (อ้างอิง ChinaAMC Hang Seng TECH ETF) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและลงทุนอ้างอิงดัชนี Hang Seng TECH
DR (Depositary Receipt) เป็นตราสารที่ออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศได้ โดยผู้ออก DR จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศมาเก็บไว้ จากนั้นจะนำมาจดทะเบียนและเสนอขายให้แก่นักลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศได้ด้วยเงินบาท และใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นไทย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป โดยผู้ออก DR จะไม่ใช่บริษัทเจ้าของหุ้นหรือดัชนีในต่างประเทศ แต่จะทำหน้าเป็นผู้ที่ถือหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศแทนนักลงทุน
ส่วน DRx เป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศเหมือนกัน แต่เป็น DR ในเวอร์ชันไซซ์เล็ก (Extra Small) ถูกสร้างขึ้นให้มีรายละเอียดและวิธีการซื้อขายที่จะช่วยให้นักลงทุนได้รับความสะดวกสบายในการลงทุนมากขึ้น เช่น DR จะมีการซื้อขายขั้นต่ำที่ 1 หน่วย แต่ DRx จะซื้อขายขั้นต่ำที่ 0.0001 หน่วยเท่านั้น ทำให้นักลงทุนที่มีเงินลงทุนน้อย ก็สามารถลงทุนได้ หรือการชำระราคา DR จะใช้เวลา T+2 ขณะที่ DRx จะชำระราคาแบบ Real-Time เป็นต้น
โดยนักลงทุนที่ลงทุนใน DRx จะได้รับผลประโยชน์ เช่น เงินปันผลเสมือนกับการลงทุนในต่างประเทศโดยตรง เช่นเดียวกันกับ DR อีกทั้ง DRx ทำการซื้อขายเป็นสกุลเงินบาทเหมือน DR เช่นกัน อย่างไรก็ตาม DRx มีรายละเอียดการซื้อขายที่แตกต่างจาก DR พอสมควร นักลงทุนควรศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ให้ดี เพื่อที่จะลงทุนได้อย่างมั่นใจและช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุน
ท้ายนี้ เทคโนโลยีถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันและมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ในแง่ของการลงทุนจึงเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้ามในหุ้นเทคโนโลยีต่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ยังเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้คนและสังคมอีกด้วย โดยเทคโนโลยีสามารถช่วยสร้างโอกาสในหลายด้านและยังมีส่วนช่วยเหลือให้ผู้คนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ DR NDX01 ได้ที่ >> คลิกที่นี่ และ DR CNTECH01 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้และทำความเข้าใจการลงทุน DR ตลอดจนกลไกการเคลื่อนไหวของราคา วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุน เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือจะเรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน หลักการเลือกลงทุน และวิธีการลงทุน DRx สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “DRx ลงทุนไซซ์เล็ก เพื่อโอกาสใหญ่ในตลาดโลก” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่