จิตวิทยาการลงทุน

โดย นพดล พิริยวุฒิ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ธนชาต
3 Min Read
26 พฤศจิกายน 2563
26.467k views
TSI_Article_042_Inv_Thumbnail
Highlights
  • มีนักลงทุนเพียง 5-10% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในระยะยาว เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจเรื่องจิตวิทยาการลงทุน

  • “จิตวิทยาการลงทุน” ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้พฤติกรรมของนักลงทุนคนอื่น แต่เป็นการเรียนรู้พฤติกรรมการลงทุนของตัวเอง หรือต้องหาความรู้จากจิตใจของตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะหาความรู้อื่นๆ จากภายนอก

เมื่อกล่าวถึงจิตวิทยาและการลงทุนในเวลาเดียวกัน เรามักจะหมายถึงพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีทฤษฎีที่เฉพาะเจาะจง หรือพิสูจน์ความถูกต้องได้ยาก ยังไม่มีผู้ใดที่เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการลงทุนโดยตรง เนื่องจากแต่ละคนมีพฤติกรรมแตกต่างกันไป แต่ถ้านักลงทุนจำนวนมากมาอยู่ในตลาด ความคิดความอ่านคล้ายกัน พฤติกรรมการลงทุนจะสอดคล้องในลักษณะเดียวกัน เราเรียกสิ่งนี้ว่า “จิตวิทยามวลชน”


คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจจิตวิทยาการลงทุนมากนัก โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ และเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เป็น

นักลงทุนที่อยู่ในตลาดมานานนับ 10 ปี แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้นัก คนที่จะเข้าใจเรื่องนี้โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ลงทุนมาพอสมควร และต้องรู้จักสังเกตความเคลื่อนไหวของตลาดหรือราคาหุ้น


“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด แต่ถ้ารู้จักตัวเอง จะอยู่รอดได้ในการลงทุนในตลาดหุ้น”


การลงทุนให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการนั้น เป็นเรื่องส่วนบุคคลของนักลงทุนแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจ อายุ ผลตอบแทน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้


ข้อมูลการลงทุนเกี่ยวกับหุ้นของบริษัทในตลาดมีอยู่มากมาย แต่ทำไมนักลงทุนส่วนใหญ่จึงไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน ในขณะที่พบว่า การเรียนรู้และเข้าใจจิตวิทยาการลงทุน มีประโยชน์อย่างมาก และเป็นปัจจัยที่ทำให้บางคนกลายเป็นนักลงทุนที่ร่ำรวย จึงมีผู้เชี่ยวชาญการลงทุนบางคนมองว่า จิตวิทยาการลงทุนมีส่วนถึง 90% ต่อการประสบความสำเร็จ ในขณะที่ความรู้อื่นๆ มีส่วนเพียงแค่ 10% เท่านั้น... ถึงแม้ว่าจะวัดคำนวณเป็นสัดส่วนไม่ได้ชัดเจน แต่ก็สะท้อนให้เห็นความสำคัญของเรื่องจิตวิทยาการลงทุนอยู่มากทีเดียว และน่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนเพียง 5-10% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในระยะยาว


ไม่มีใครที่ไม่ต้องการประสบความสำเร็จจากการลงทุน ดังนั้น เมื่อนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นใดก็ตาม ต่างก็ต้องการให้หุ้นที่ซื้อนั้นขึ้นทันที แม้จะไม่มั่นใจ 100% แต่ก็ไม่มีใครที่ต้องการให้หุ้นที่ซื้อราคาปรับตัวลง ดังนั้น เมื่อซื้อหุ้นด้วยความเชื่อมั่น ความเสี่ยงก็จะลดลง จึงควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนเข้าซื้อหุ้น ในขณะที่นักลงทุนที่ซื้อหุ้นด้วยการเก็งกำไร มักจะไม่ต้องการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับตัวหุ้นหรือบริษัทมากนัก เพียงแต่อาศัยจังหวะซื้อขายทางเทคนิคประกอบ และมักจะขายหุ้นเมื่อมีกำไรในช่วงสั้น และขายหุ้นออกทันทีเมื่อพบว่าเกิดความผิดพลาด


จิตวิทยาการลงทุนไม่ใช่เป็นการเรียนรู้พฤติกรรมของนักลงทุนคนอื่น แต่เป็นการเรียนรู้พฤติกรรมการลงทุนของตัวเอง
หรือต้องหาความรู้จากจิตใจของตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะหาความรู้อื่นๆ จากภายนอก เพราะหากเราเข้าใจตัวเองมากพอ ก็จะรู้ว่าพฤติกรรมการลงทุนของเราเป็นแบบใด ต้องการผลตอบแทนแบบไหน เท่าใด ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราสามารถค้นหาวิธีการลงทุนที่เหมาะสมกับเราได้ในที่สุด

 
จัดการความโลภและความกลัว


จิตวิทยาการลงทุนมักจะเกี่ยวข้องกับความโลภและความกลัว 2 สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดพฤติกรรมของนักลงทุน ซึ่งมักจะมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในการลงทุน หรือล้มเหลวในการลงทุน


“ความโลภ”
จะทำให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ หรือมักจะไม่พอใจกับกำไรที่ได้ แต่อยากได้กำไรมากขึ้นไปอีก ในขณะที่ “ความกลัว” ทำให้นักลงทุนขายหุ้นเร็วเกินไป


ความแตกต่างของนักลงทุนที่สำเร็จและล้มเหลว


ดังสุภาษิตที่กล่าวว่า “ตาบอดคลำช้าง” ที่สื่อถึงคนที่รู้อะไรด้านเดียวหรือนัยเดียวแล้วเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น เช่นเดียวกันกับการลงทุน นักลงทุนพวกแรกมองว่า หุ้นที่ปรับตัวลงเป็นโอกาสดีที่จะซื้อได้ในราคาถูก แต่อีกพวกหนึ่งกลับมองว่าหุ้นที่ปรับตัวลง เป็นหุ้นที่กำลังแย่ มุมมองที่แตกต่างกันของนักลงทุนจึงทำให้เกิดพฤติกรรมการลงทุนที่ล้มเหลวหรือสำเร็จ นี่เป็นบางตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นความแตกต่างของนักลงทุนทั้ง 2 กลุ่ม

TSI_Article_042_Inv_จิตวิทยาการลงทุน_01

ที่มา : SET e-Learning หลักสูตร >> "Buy & Sell Strategy"


นักลงทุนที่ล้มเหลวหรือที่เรียกกันติดปากว่า “เม่า” ส่วนใหญ่ขายหุ้นตามผู้อื่น โดยเฉพาะในช่วงที่นักลงทุนอยู่ใกล้ตลาดมากเกินไป อาจทำให้รู้สึกว่าควรจะต้องขายหุ้นตามนักลงทุนส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะทำให้เขาขายหุ้นในราคาที่ลงเกือบจะต่ำสุดแล้ว ในขณะที่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนน้อยมักจะมองหาจังหวะเข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาหุ้นถูกขายออกอย่างหนัก และราคาหุ้นเริ่มต่ำเกินไปแล้ว และขายหุ้นในช่วงที่ราคาใกล้จะอยู่สูงสุด


นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ต้องคิดแตกต่างจากนักลงทุนทั่วไป เช่น มีนักลงทุนส่วนน้อยที่มีความคิดว่าการลงทุนเป็นการทำธุรกิจ จึงทุ่มเทให้กับการลงทุน ศึกษารายละเอียดสิ่งที่จะลงทุน มองหาโอกาสใหม่ๆ และพยายามจำกัดความเสี่ยง มองว่าการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีอาชีพเป็นนักลงทุน (นักลงทุนมืออาชีพ) ซึ่งนักลงทุนจะต้องศึกษาหุ้นที่จะลงทุนอย่างละเอียด มีการวางแผนการลงทุนอย่างเป็นขั้นตอน ในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะลงทุนตามกระแสข่าว


นักลงทุนที่ดีมีการตั้งเป้าหมายการลงทุน ด้วยการวัดออกมาเป็นตัวเลขผลกำไรที่ต้องการในระยะยาว

ซึ่งโดยทั่วไปเราจะมองเป้าหมายการลงทุนระยะยาวเป็นรายปี อย่างเช่น 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ลองนึกภาพว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของเราจะเป็นเท่าใด ถ้าวันนี้เราอายุ 30 ปี ดังนั้น เรามีเวลาลงทุนได้ถึง 20 - 30 ปี หุ้นที่ลงทุนจะเน้นในเรื่องผลกำไรจากราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ค่อยเน้นในเรื่องเงินปันผลเท่าใดนัก แต่ถ้านักลงทุนมีอายุ 50 ปี ระยะเวลาลงทุนที่จำกัดเพียงแค่ 10 ปี ก็จะไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงของหุ้นที่จะลงทุนได้มากนัก หุ้นที่ลงทุนส่วนใหญ่จะเน้นไปที่หุ้นปันผล แตกต่างจากนักลงทุนที่มองเพียงแค่การทำกำไรระยะสั้นเพียงวันต่อวันเท่านั้น และมักจะต้องหาหุ้นซื้อขายอยู่ตลอดเวลา


เมื่อเห็นประโยชน์ของจิตวิทยาการลงทุนเช่นนี้แล้ว นักลงทุนที่ยังล้มเหลว ยังค้นหาแนวทางการลงทุนของตัวเองไม่เจอและต้องการประสบความสำเร็จ น่าจะลองนำมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจลงทุนในทุกๆ ครั้ง


นักลงทุนสามารถศึกษาเรื่องจิตวิทยาการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ e-Learning หลักสูตร
จิตวิทยาการลงทุน รับมือเศรษฐกิจผันผวน ฟรี!! >> คลิกที่นี่

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: