ทายนิสัยจาก 6 ผลิตภัณฑ์การลงทุน

โดย SET
5 Min Read
3 ตุลาคม 2566
10.766k views
01-ทายนิสัยจาก 6 ผลิตภัณฑ์การลงทุน_200723-01

         ปัจจัยหนึ่งของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จก็คือ ‘ความเข้าใจ’ เหมือนอย่างที่วอร์เรน บัฟเฟตต์กล่าวไว้ว่า ‘ความเสี่ยงของการลงทุนมาจากการที่คุณไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่’ เพราะถ้าเราเข้าใจในสิ่งที่ลงทุนไปอย่างลึกซึ้ง ก็จะสามารถรับมือกับความเสี่ยงและมองหาโอกาสทำกำไรได้นั่นเอง

แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือการเลือกลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะในปัจจุบันการลงทุนมีความหลากหลายมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในไทย  บทความนี้เราจะยกตัวอย่างการลงทุน 6 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งแต่ละการลงทุนมีสไตล์และความเสี่ยงแตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน

สำหรับนักลงทุนมือใหม่คนไหนที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเหมาะสมกับการลงทุนแบบไหนมากที่สุด วันนี้เราขอพาทุกคนมาค้นหาคาแรคเตอร์การลงทุนที่ใช่ ด้วยการทายนิสัยกับ 6 ผลิตภัณฑ์การลงทุน ว่าแบบไหนจะตรงกับตัวเราบ้าง มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า

 

  • ชอบวางแผน แต่ไม่มีเวลาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของสินทรัพย์แต่ละตัว ชอบความหลากหลาย เน้นกระจายลงทุน

เหมาะกับ กองทุนรวม (Mutual Fund) ซึ่งกองทุนรวมมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารเงินลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เติบโตขึ้นตามนโยบายที่เราเลือกลงทุน แม้ประสบการณ์ลงทุนน้อยก็ลงทุนได้ ในแต่ละกองทุนจะมีนโยบายให้เลือกลงทุนแตกต่างกันออกไป เราจึงสามารถกระจายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้โดยใช้เงินลงทุนไม่มาก ซึ่งเราสามารถอ่านนโยบายลงทุนของแต่ละกองทุนได้จาก Fund Fact Sheet ของแต่ละกองทุนเลย

 

  • ชอบกระจายลงทุน และความรวดเร็วในการซื้อขาย แต่ไม่ชอบความหวือหวาเน้นผลตอบแทนล้อไปตามดัชนี

เหมาะกับ ETF (Exchange Traded Fund) เป็นส่วนผสมระหว่างหุ้นกับกองทุน เพราะเป็นกองทุนรวมดัชนีที่สามารถซื้อขายได้แบบ Real-Time ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และลงทุนในหลายสินทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซื้อขายได้ในสกุลเงินบาท

 

  • ชอบศึกษา กล้าตัดสินใจ อยากเป็นเจ้าของกิจกการ รับมือกับความเสี่ยงได้

 

เหมาะกับ หุ้น (Stock) ซึ่งลงทุนโดยการซื้อสิทธิความเป็นเจ้าของในกิจการต่าง ๆ  ที่ให้ผลตอบแทนทั้งกำไรส่วนต่างและเงินปันผล ซึ่งเป็นการลงทุนที่ง่ายเพียงมีบัญชีหุ้นก็สามารถส่งคำสั่งซื้อขายบริษัทที่ต้องการได้แล้ว แต่หุ้นถือว่ามีความผันผวนสูง จึงต้องติดตามข่าวสารและสถานการณ์ พร้อมวิเคราะห์เศรษฐกิจและบริษัทที่เราสนใจลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

 

  • ชอบโกอินเตอร์ มองหาโอกาสใหม่ ๆ หาทางเลือกเพิ่มให้ตัวเอง

 เหมาะกับ DR (Depositary Receipt) และ DRx (Fractional Depositary Receipt)

DR ลงทุนในหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย โดยซื้อขายผ่าน Depositary Receipt (DR)  หรือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถซื้อขายด้วยสกุลเงินบาทได้เหมือนหุ้นไทย และให้ผลตอบแทนและเงินปันผล เสมือนถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นๆ โดยตรง

DRx  ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ คล้ายกับ DR แตกต่างตรงที่เลือกส่งคำสั่งเป็นจำนวนเงิน หรือเป็นเศษของหน่วย DRx ได้ จึงใช้เงินลงทุนน้อย และซื้อขายได้ตามเวลาตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่หลักทรัพย์นั้นอ้างอิง เช่น ตอนนี้มี DRx อ้างอิงกับหุ้นยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้แก่ Apple Tesla NVDIA Microsoft และ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) เปิดให้ซื้อขายในช่วงกลางคืน (เวลา 20.00 น. – 04.00 น.)

  • ว่องไว ชอบความท้าทาย มองหาโอกาสในทุกจังหวะทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง

เหมาะกับ DW (Derivative Warrants) เป็นเครื่องมือลงทุนแบบเก็งกำไร ผ่านการซื้อขายหุ้นลูกโดยคาดการณ์ทิศทางราคาของหุ้นแม่ในอนาคต โดยแยกเป็นสิทธิซื้อ (Call DW) สำหรับตลาดขาขึ้น และสิทธิขาย (Put DW) สำหรับตลาดขาลง เป็นการลงทุนที่มีความซับซ้อน และมีอายุการลงทุนจำกัด จึงทำให้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่สามารถทำกำไรได้ทั้งจังหวะตลาดขึ้นและตลาดลงและต้องศึกษารายละเอียดของอย่างละเอียดก่อนลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้นที่ช่วยในการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแนะนำลงทุน เพราะเรื่องของการลงทุนยังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษากันให้ดีก่อนจะตัดสินใจลงทุน หากสนใจศึกษาหาความรู้ คลิก :  www.setinvestnow.com 

 

เชื่อว่าหลายคนคงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่า การลงทุนแบบไหนที่โดนใจและใช่ที่สุดสำหรับเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนสไตล์ไหน ก็สามารถเริ่มต้นเปิดบัญชีลงทุนได้เลยทันที ผ่านแอปฯ Streaming แอปพลิเคชันเดียวที่รวมฟังชันดีมีประโยชน์มาเพื่อนักลงทุกสไตล์ ทุกนิสัยโดยเฉพาะ

Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี

แท็กที่เกี่ยวข้อง: