กลยุทธ์ลงทุนท่ามกลางเอลนีโญ

โดย เกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)
3 Min Read
7 ตุลาคม 2566
9.046k views
TSI_Article_527_Inv_กลยุทธ์ลงทุนท่ามกลางเอลนีโญ_Thumbnail
Highlights
  • เอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำทะเลร้อนขึ้น ฝนตกน้อยลง แห้งแล้ง และมีแนวโน้มเกิดไฟป่ารุนแรงขึ้น

  • ปรากฏการณ์เอลนีโญ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจด้วย ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ สำหรับประเทศไทย นอกจากภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว การปศุสัตว์ การประมง ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบด้วย

  • การรู้และเข้าใจถึงผลกระทบจากเอลนีโญในมิติต่าง ๆ และนำมาดูว่าธุรกิจที่ลงทุนอยู่หรือกำลังจะลงทุนนั้น มีการบริหารจัดการรับมือกับความเสี่ยงจากเอลนีโญหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถปรับกลยุทธ์และวางแผนการลงทุนได้ดีขึ้น

เอลนีโญเป็นรูปแบบสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสัมพันธ์กับอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนตอนกลางและตะวันออก ซึ่งอาจส่งผลต่อรูปแบบสภาพอากาศ สภาพมหาสมุทร และการประมงทางทะเลทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก ๆ สองถึงเจ็ดปี และปกติจะกินเวลานาน 9 ถึง 12 เดือน

 

ปรากฏการณ์เอลนีโญมักเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และเอเชียกลาง ในทางตรงกันข้าม เอลนีโญยังสามารถทำให้เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บางส่วนของเอเชียใต้ อเมริกากลาง และอเมริกาตอนเหนือในช่วงฤดูร้อน เพราะกระแสน้ำอุ่นที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญสามารถทำให้พายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออกรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจขัดขวางการก่อตัวของพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติก ทั้งนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลตรงกันข้ามกับปรากฎการณ์ลานีญาที่เพิ่งเกิดขึ้นและสิ้นสุดไปในปี 2566

TSI_Article_527_Inv_กลยุทธ์ลงทุนท่ามกลางเอลนีโญ_01

รูปด้านบนแสดงให้เห็นว่า เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนในหลายทวีปและมีผลกระทบต่อธุรกิจในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องศึกษาถึงผลกระทบในประเทศอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อธุรกิจในประเทศไทยด้วย เช่น ราคาสินค้าที่ไทยต้องนำเข้า หรือส่งออก หรือมาในรูปของราคาพลังงานที่อาจปรับตัวสูงขึ้นจากเอลนีโญ

 

รายงานของ World Meteorological Organization (WMO) ที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2566 คาดการณ์ว่ามีโอกาส 98% ที่อย่างน้อยหนึ่งในห้าปีข้างหน้าจะเป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และทำลายสถิติที่เกิดขึ้นในปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงเป็นพิเศษ บทความนี้จึงจะพิจารณาถึงกลยุทธ์การลงทุนเพื่อเตรียมรับมือกับเอลนีโญ

 

ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเอลนีโญ

อันดับแรกที่คนคิดถึง คือ ภาคการเกษตร เพราะต้องอาศัยน้ำในการเพาะปลูก จึงทำให้หลายประเทศเริ่มกังวลถึงความพอเพียงของปริมาณอาหารที่ใช้บริโภคภายในประเทศ โดยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติและมีผลทันที ซึ่งอินเดียมีส่วนแบ่งประมาณ 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติมีสัดส่วนประมาณ 15% ส่วนประเทศที่พึ่งพาข้าวของอินเดียมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม รวมถึงประเทศในแอฟริกาตะวันตก คือ ไนจีเรีย ไอวอรี่โคสต์ และเซเนกัล

 

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าราคาข้าวขาว 5% ในประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้น 37% จาก 1,500 บาทต่อ 100 กิโลกรัมในสิ้นปี 2565 เป็น 2,000 – 2,100 บาทต่อ 100 กิโลกรัม ประเทศไทยซึ่งมีการผลิตและส่งออกข้าวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกน่าจะสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะสามารถผลิตข้าวได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากย้อนกลับไปดูผลกระทบของเอลนีโญในปี 2559 พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงจาก 5.3 ล้านไร่ในปี 2558 เหลือ 3.1 ล้านไร่ในปี 2559 อีกทั้งเอลนีโญยังมีผลกระทบไปถึงการเพาะปลูกพืชไร่และพืชสวนชนิดอื่น รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ และการประมง จึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคการเกษตรหดตัว 1.2% ในปี 2559 จากที่หดตัวลง 6.5% ในปี 2558 ซึ่งการที่ผลผลิตภาคการเกษตรตกต่ำยังทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำที่จะใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอื่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก เช่น ปิโตรเคมี อาหารและเครื่องดื่ม นิคมอุสาหกรรม รวมถึงภาคบริการอย่างเช่น โรงแรม ขณะเดียวกัน การที่กำลังซื้อของคนในภาคเกษตรกรรมอ่อนแอลง ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายด้วย นี่คือภาพที่นักลงทุนต้องมองถึงผลกระทบของเอลนีโญ

 

ผลกระทบของเอลนีโญในประเทศอื่น ๆ และอาจส่งผลกลับมายังประเทศไทย

คราวนี้ลองมาดูผลกระทบของเอลนีโญในประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบย้อนกลับมายังประเทศไทย โดยปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงจะเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ช่วยกำหนดอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเปลี่ยนทิศทางของพายุฤดูหนาว ทำให้เกิดพายุฤดูหนาวมากขึ้นทั่วแคลิฟอร์เนียและทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ทั้งนี้เอลนีโญมักจะทำให้มีฝนตกหนักมากในประเทศเปรู ชิลี และเอกวาดอร์ ดังนั้น ประเทศในอเมริกาใต้จึงมักจะมีผลผลิตทางการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง น้ำตาล และเนื้อสัตว์ที่ดี ซึ่งก็อาจจะเป็นผลบวกกับบริษัทไทยถ้าต้องใช้สินค้าเหล่านี้ในกระบวนการผลิต แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผลผลิตของสินค้าเหล่านี้จากไทยส่งออกไปแข่งขันได้ยากขึ้น เนื่องจากราคาผลผลิตของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบของเอลนีโญ

 

ในทางตรงกันข้าม ปรากฏการณ์เอลนีโญอาจทำให้เกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และบางส่วนของเอเชียใต้ ซึ่งอาจทำให้โอกาสที่จะเกิดไฟป่าในประเทศเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงในประเทศไทย และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปกติยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงาน เพราะโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าปีปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้าในบางพื้นที่ หรืออาจจะต้องใช้วัตถุดิบอื่น เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การที่ภูมิภาคนี้มีโอกาสเกิดภัยแล้งรุนแรง ทำให้โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย จนทำให้ต้องปิดเหมืองถ่านหินก็มีน้อยลงเช่นกัน เพราะฉะนั้นบริษัททำเหมืองหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมีความเสี่ยงจากราคาถ่านหินที่จะพุ่งสูงขึ้นจากการปิดเหมืองชั่วคราวลดน้อยลง รวมถึงความผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แร่เหล็ก และก๊าซธรรมชาติ ก็น่าจะลดลงด้วย

 

ในช่วงฤดูร้อน กระแสน้ำอุ่นของปรากฏการณ์เอลนีโญสามารถก่อให้เกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภัยธรรมชาติจากพายุในฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฮ่องกง และไต้หวัน ในขณะเดียวกันก็ขัดขวางการก่อตัวของพายุเฮอริเคนในแอ่งแอตแลนติกด้วย จึงช่วยลดความเสี่ยงที่โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเม็กซิโกจะต้องปิดชั่วคราว เพราะพายุเฮอริเคนส่งผลให้ค่าการกลั่นมีความผันผวนน้อยลง จะเห็นได้ว่าเอลนีโญมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีแตกต่างกัน นอกจากนี้พายุในโซนต่าง ๆ ยังทำให้การขนส่งทำได้ลำบาก เกิดความล่าช้า สินค้าเสียหาย ต้นทุนการขนส่งแพงขึ้น เป็นต้น

 

อุณหภูมิของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นและกระแสน้ำที่เปลี่ยนไปในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้การกระจายตัวและความอุดมสมบูรณ์ของปลาและสายพันธุ์อื่น ๆ นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยสัตว์ทะเลจะอพยพไปทางเหนือและใต้ตามกระแสน้ำเย็น ทำให้ราคาปลาทะเลมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทที่ใช้อาหารทะเลเหล่านี้ในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหาร ขณะที่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์ ขนส่ง เป็นต้น

 

ผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และการประกันภัย

ปรากฏการณ์เอลนีโญยังส่งผลกระทบไปยังตลาดเงิน ตลาดทุน และการประกันภัยและการประกันชีวิต เพราะว่าภัยธรรมชาติที่รุนแรงทำให้บริษัทประกันมีภาระความรับผิดชอบต่อความเสียหายเพิ่มมากขึ้นจากปีปกติ และเศรษฐกิจที่หยุดชะงักจากภัยธรรมชาติจะกระทบผลการดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งอาจกลายเป็นหนี้เสียในภาคการธนาคารได้

ตามแบบจำลองของ Bloomberg Economics ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งก่อนส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลก โดยทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลังงานเพิ่มขึ้น 3.9% และราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น 3.5% นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยเฉพาะบราซิล ออสเตรเลีย อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยง

 

จึงเห็นได้ว่า ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นกับหลายธุรกิจและเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องมีกลยุทธ์ในการวางแผนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่มีเอลนีโญและต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากเอลนีโญ ซึ่งการบริหารจัดการอาจจะเป็นในรูปแบบของการสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าระยะยาว การมีแหล่งวัตถุดิบสำรอง แหล่งพลังงานทางเลือก การใช้วัตถุดิบอื่นทดแทน การออกสินค้าใหม่ที่ใช้วัตถุดิบที่มีราคาถูกลงในช่วงเอลนีโญ การประกันภัยความเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงการที่นักลงทุนต้องติดตามข่าวเอลนีโญอย่างใกล้ชิด

 

อย่างไรก็ดี เอลนีโญไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ นักลงทุนต้องศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งแต่ละธุรกิจก็มีปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อธุรกิจไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาในรายละเอียดของแต่ละธุรกิจอย่างถ่องแท้

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวคิด ความสำคัญ และแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เทรนด์การลงทุนระยะสั้น แต่กำลังเป็นการลงทุนกระแสหลักของโลก สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ESG วิถีใหม่ลงทุนอย่างยั่งยืน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: