ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมถึงกรุงเทพฯ ชั้นนอก ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดในราคาที่จับต้องได้ อีกทั้ง คอนโดยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการลงทุน ไม่ว่าจะถือเก็งกำไรในระยะสั้นหรือซื้อไว้ปล่อยเช่าเพื่อรับรายได้แบบ Passive Income ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ (Work from home) ทำให้การใช้ชีวิตอยู่คอนโดตามแนวรถไฟฟ้า จึงไม่จำเป็นมากนัก โครงการใหม่จึงขายไม่หมด ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด รวมถึงผู้ที่ซื้อไว้เพื่อลงทุนปล่อยเช่า ก็หาผู้เช่าได้ยากขึ้น หรือซื้อไว้เก็งกำไรในระยะสั้นก็อาจไม่ใช่ทรัพย์สินที่เปลี่ยนมือได้ง่ายอีกต่อไป
เมื่อคอนโดขาดผู้เช่าเป็นเวลานาน ภาระการผ่อนชำระจะตกหนักไปที่เจ้าของ หากไม่มีเงินสดสำรองไว้เพียงพอ ย่อมส่งผลกระทบต่อแผนการเงินในส่วนอื่นได้ หรือกรณีที่ซื้ออยู่อาศัยเอง เมื่อเจ้าของขาดสภาพคล่อง (รายได้หดหาย) การแก้ปัญหาด้วยการปล่อยเช่าหรือขายต่อก็ทำได้ยากมากขึ้น ทำให้คอนโดบางแห่งกลายเป็นสินทรัพย์มูลค่าสูง สภาพคล่องต่ำ และเปลี่ยนมือยาก
เมื่อสถานการณ์ไม่ค่อยเป็นใจ อาจทำให้เกิดสัญญาณการผ่อนชำระไม่ไหว เช่น เริ่มสร้างหนี้ก้อนใหม่ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า ด้วยการกู้เงินจากบัตรเครดิตหรือเงินนอกระบบมาประคองการผ่อนชำระ ทำให้หลายคนประกาศขายอย่างเร่งด่วน แต่ก่อนตัดสินใจก็ต้องคำนึงถึงการตั้งราคาขาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ประเมินได้ว่าจะสามารถปล่อยขายได้เร็วมากน้อยแค่ไหน ดังนี้
โดยในช่วงที่รอขายหรือปล่อยเช่าคอนโด แนะนำว่าต้องรีบเข้าไปขอ “ประนอมหนี้” เพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนเกิดปัญหาจากการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งนำไปสู่การคิดค่าปรับ ฟ้องร้อง และยึดทรัพย์ในลำดับถัดไป ระหว่างนี้จำเป็นต้องพยายามรักษาเครดิตการผ่อนชำระให้เป็นปกติด้วย เพื่อที่จะเข้าไปเจรจากับธนาคารให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด
กรณียังไม่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ มีแนวทางการเจรจากับธนาคาร ดังนี้
อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การขอรีไฟแนนซ์ (Refinance) หรือการขอเปลี่ยนธนาคารขอสินเชื่อ เพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือขยายเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น โดยต้องอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถรีไฟแนนซ์ได้ด้วย เช่น ผ่อนชำระมาแล้วเกิน 1 – 3 ปี (แล้วแต่ข้อกำหนดของธนาคารเดิม) โดยการรีไฟแนนซ์ก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน เช่น ค่าประเมินหลักประกัน ค่าจำนองที่ดิน ค่าอากรแสตมป์ ค่าธรรมเนียมในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินแห่งใหม่ ค่าประกันอัคคีภัยกับสถาบันการเงินแห่งใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ การขอรีไฟแนนซ์ที่ธนาคารแห่งใหม่ ต้องทำในขณะที่ประวัติการผ่อนชำระที่ธนาคารเดิมยังคงผ่อนสม่ำเสมอไม่เสียประวัติด้วย
กรณีผิดนัดชำระหนี้แล้ว
กรณีนี้ ดอกเบี้ยจะถูกปรับเพิ่มเป็นอัตราพิเศษ 1 – 3% (ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยตามสัญญาและประวัติการชำระหนี้) หากเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถผ่อนได้ชั่วคราว การขอประนอมหนี้สามารถขอเจรจาทำเรื่องผ่อนชำระคืนยอดหนี้ที่ค้างได้นานสูงสุดถึง 36 เดือน โดยจะเลือกจ่ายเป็นยอดเท่ากันทุกเดือน หรือเลือกจ่ายเป็นก้อน ๆ ตามแต่ตกลงกับธนาคาร แต่หากสามารถจ่ายหนี้ค้างทั้งหมดเป็นเงินก้อนได้ อาจจะขอลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษลงได้
หากไม่ต้องการจะขายหรือย้ายออก และไม่สามารถประนอมหนี้ได้ด้วยวิธีอื่น ก็สามารถเลือกวิธี “ขอโอนบ้านเป็นของธนาคารชั่วคราว” โดยถือว่ายังไม่ได้ขายสิทธิ์ขาด เพียงแค่ฝากเป็นของธนาคารในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วค่อยซื้อคืนในภายหลัง (ยังสามารถอยู่อาศัยในคอนโดต่อได้) โดยต้องชำระค่าเช่าให้กับธนาคารด้วย ซึ่งจะมีการทำสัญญาเช่าเป็นรายปี ค่าเช่าอยู่ที่ประมาณ 0.4 – 0.6% ของมูลค่าทรัพย์สิน (โดยปกติอัตราการผ่อนชำระจะต่ำกว่าหนี้เดิม) และตอนที่ซื้อคืนก็ยังสามารถขอสินเชื่อกับธนาคารเดิมได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะมีเงื่อนไขรับโอนหลักประกันแล้วหักลบหนี้ในจำนวนไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน หากมีหนี้ส่วนเกินก็ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันโอนด้วย
กรณีค้างชำระหนี้จนถึงขั้นถูกฟ้องร้อง
เมื่อถึงขั้นถูกฟ้อง สามารถขอเจรจากับธนาคารได้ เช่น ขอให้ธนาคารชะลอฟ้อง ขอให้ธนาคารถอนฟ้อง ขอให้ชะลอการขายทอดตลาด ขอยอมความกับธนาคาร ขอชะลอการยึดทรัพย์ ขอเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โดยต้องเข้าไปเจรจาพูดคุยรับทราบเงื่อนไขกับทางธนาคารถึงยอดหนี้ที่ต้องชำระและวิธีชำระหนี้ แต่หากปล่อยไว้จนขายทอดตลาดแล้วยังไม่พอชำระหนี้ เนื่องจากมีดอกเบี้ยปรับที่สะสมมา ก็จะถูกยึดทรัพย์สินอื่นที่มีเพื่อนำไปชำระหนี้ส่วนต่างแทน หากมีไม่พอชำระหนี้ก็จะถูกฟ้องล้มละลาย ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างน้อย 3 ปี และเสียประวัติทางการเงินอีกด้วย
ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)” จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ใช้บริการทางการเงิน หากมีปัญหาในการชำระหนี้ เช่น การผ่อนที่อยู่อาศัย สามารถขอคำปรึกษาได้ หรือหากเคยยื่นเรื่องขอพักชำระหนี้กับทางธนาคารมาก่อน แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินก็สามารถติดต่อที่ศูนย์ช่วยเหลือได้ โดยจะเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างผู้ขอพักชำระหนี้กับทางธนาคาร เพื่อหาแนวทางที่จะอนุมัติได้อีกครั้ง
ทางที่ดีหากเริ่มติดขัด เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระหนี้ ควรเตรียมหาทางแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อหาทางออก การเดินเข้าไปเจรจากับธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นสิ่งที่ควรรีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด ไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาบานปลายใหญ่โต จนกระทบฐานะทางการเงินโดยรวมของตัวเราและครอบครัวได้
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้วิธีจัดการหนี้เมื่อหนี้เริ่มมีปัญหา โดยจะอธิบายขั้นตอนและวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ด้วยตนเอง และการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เหมาะกับผู้ที่เป็นหนี้แล้ว หรือผู้ที่ภาระหนี้เริ่มพอกพูนกังวลว่าจะมีปัญหาในอนาคต สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “เป็นหนี้แล้วจัดการยังไง” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่