เรื่องควรรู้ เมื่อจะฟ้องคดีแบบกลุ่ม

โดย สิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
2 Min Read
2 ตุลาคม 2566
14.171k views
TSI_Article_522_Inv_เรื่องควรรู้ เมื่อจะฟ้องคดีแบบกลุ่ม_Thumbnail
Highlights
  • ความเสี่ยงหนึ่งของการลงทุนในหุ้นกู้ นั่นคือ การผิดนัดชำระหนี้ ส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญ บริษัทที่เข้าไปลงทุน อาจมีการทุจริต มีการฉ้อโกงเกิดขึ้น รวมถึงอาจมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย สามารถรวมกลุ่มกันฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่มได้

  • การฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เป็นวิธีการที่จะช่วยเหลือผู้เสียหายที่มีจำนวนมากด้วยการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว อีกทั้ง ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยค่าเสียหายแบบเท่าเทียมกันอีกด้วย

เป็นเรื่องใหม่ เรื่องใหญ่ หากเจอเหตุการณ์เกินความคาดหวัง เมื่อลงทุน “หุ้นกู้” แล้วเจอการผิดนัด (อาจ) สูญทั้งดอกเบี้ย และเงินต้น หรือเมื่อลงทุนใน “หุ้นสามัญ” และได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่นักลงทุนได้ตัดสินใจตามข้อมูลนั้นไปแล้ว จะเรียกคืนความยุติธรรมให้ตัวเอง และฟ้องเอาผิดการทุจริต เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นที่พึ่งของนักลงทุน ต้องมีสติ เตรียมการแบบมีฟอร์ม

 

เรื่องใหม่ของตลาดทุนไทย แม้กฎหมายจะเปิดช่องทางไว้ให้ ตั้งแต่ปี 2558 หรือ เมื่อ 8 ปี ก่อน แต่ในความเป็นจริงยังไม่เคยมีการฟ้องคืนความยุติธรรม ด้วยการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) แบบจริงจังเกิดขึ้นเลย โดยเจตนารมณ์ของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม คือ การช่วยเหลือผู้เสียหายที่มีจำนวนมากในการลดค่าใช้จ่ายและได้รับการชดเชยค่าเสียหาย

 

จากงานวิจัยของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2565) ประกอบการให้ความรู้ในการจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม” ซึ่งเตรียมการจัดตั้งศูนย์ฯ โดย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย มีสาระสำคัญที่พอเป็นแนวทางในการเตรียมการสำหรับนักลงทุน กรณีจะมีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ดังนี้

 

  • ตั้งสติ ทบทวนการลงทุนของตัวเองว่าตัดสินใจจากข้อมูลใด หากเป็นข้อมูลที่เข้าข่ายว่าไม่ถูกต้อง มีการทุจริต ผิดสัญญา ฉ้อโกง จึงควรไปต่อ

 

  • ต้องรวมตัวกัน ระหว่างนักลงทุนที่ได้รับความเสียหาย เป็นการรวมพลังเพื่อเรียกคืนความยุติธรรม โดยมาปรึกษาหารือกัน นัดประชุม และเลือกตัวแทนกลุ่มที่มีลักษณะบุคลิกภาพทำงานเพื่อส่วนรวม มีจิตอาสา จิตเข้มแข็ง เป็นผู้นำ พร้อมที่จะเป็นตัวแทนกลุ่มเดินขึ้นศาลในฐานะ “ตัวแทนโจทย์”

 

  • จัดหาทนายความ ในการยกร่างมูลฟ้อง ซึ่งอาจเริ่มมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น สมาชิกในกลุ่มควรตกลงกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องมีการลงขันกันหรือไม่ มีข้อตกลงกันอย่างไร

 

จากนั้น จะเป็นการพิจารณาตามกระบวนการของศาลที่จะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีการดำเนินการในอีกหลายขั้นตอน เช่น การวางเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และอื่น ๆ

 

การฟ้องคดีแบบกลุ่ม นอกจากจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เพราะผู้เสียหายทุกคนไม่ต้องต่างคนต่างฟ้องแล้ว ยังได้รับประโยชน์ในด้านความเป็นธรรม เพราะผู้เสียหายทั้งหมดในคดีเดียวกันจะได้รับการจัดสรรชำระค่าเสียหายในสัดส่วนที่เท่ากัน และเพิ่มอำนาจการต่อรอง เพราะจะทำให้ผู้กระทำผิดเจรจาต่อรองกับผู้เสียหาย เพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องคดีแบบกลุ่มมากขึ้น

 

หลังจากนั้น ยังจะมีการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ตามมาอีก ในชั้นแรก เพื่อไม่ให้ “ท้อใจ” จนอาจ “ถอดใจ” ไปก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ทีมวิจัยระบุว่าเป็นอุปสรรค ส่งผลให้การฟ้องคดีแบบกลุ่มไม่เกิดขึ้น เพราะความยุ่งยากในการรวมกลุ่ม นัยว่าเมื่อเสียหาย เสียขวัญ คิดว่าเป็นเรื่องเวรกรรม เงินทองที่ลงทุนไปนั้นหมดไป บางรายอาจเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต การที่จะมาลงขันจ้างทนายความ ฟ้องร้องเป็นคดีคงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนและเงียบงันกันไป

 

อีกประเด็น พบว่าการฟ้องอาจมีเวลายาวนาน นานเกินกว่าที่บางคนจะรอได้ จึงทำให้การฟ้องคดีแบบกลุ่มไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นกระบวนการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดี เพื่อเยียวยาความเสียหายด้วยตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย

 

การดำเนินคดีแบบกลุ่มจึงเป็นมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และยังช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง

 

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย โทร. 0-2247-7486-8 หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.thaiinvestors.com

แท็กที่เกี่ยวข้อง: