กฎ 7 ประการ ปิดจุดอ่อนการลงทุน

โดย มยุรี โชวิกรานต์ CFP®, CISA รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Smart Wealth Consulting บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
4 Min Read
26 พฤศจิกายน 2563
5.586k views
TSI_Article_041_Inv_Thumbnail
Highlights
  • ในบางสถานการณ์นักลงทุน “ใช้อารมณ์” ในการตัดสินใจลงทุนมากกว่า “ใช้เหตุผล” ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดและส่งเสียต่อพอร์ตลงทุนได้

  • มีแนวทาง 7 ข้อที่นักลงทุนควรนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างให้ตนเองสามารถใช้สติคิดใตร่ตรองในการลงทุน จนทำให้หลุดออกจากข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางของการลงทุนได้มากที่สุด

นักลงทุนหลายคนเข้าใจแนวคิด “จิตวิทยาการลงทุน” เป็นอย่างดี และสามารถนำมาใช้กับการตัดสินใจลงทุนอย่างเหมาะสม แต่ก็อาจมีบางจังหวะที่ทำให้เกิดการใช้ “อารมณ์” มาตัดสินใจมากกว่า “การใช้ตรรกะหรือเหตุผล” คำถามคือ แล้วอะไรที่เป็นแนวทางที่ช่วยให้กลับมาใช้ “สติ” เหนือ “อารมณ์”  ลองมาดูเแนวทางอย่างง่ายๆ 7 ข้อ ดังนี้

 

  1. จัดลำดับความสำคัญของข้อมูล การมีข้อมูลที่มากเกินไปจะเกิดโอกาสเสี่ยงที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์ไปในทิศทางที่ผิดพลาดได้ง่าย นักลงทุนควรเลือกจัดลำดับความสำคัญและจัดระบบของข้อมูล เพื่อนำมาชั่งน้ำหนักที่จะใช้ในแต่ละสถานการณ์

  1. วางขั้นตอนการตัดสินใจ รายการตรวจสอบ (Checklist) หรือเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นนั้น ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้คิดเป็นระบบมากขึ้น เมื่อใดที่มีอารมณ์เข้ามาแทนเหตุผล เราก็จะสามารถกลับมาอ่านขั้นตอนหรือ Checklist ที่ทำไว้ตั้งแต่แรกที่เลือกลงทุนในหุ้นนั้น หรือวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลานั้น ซึ่งการกำหนดขั้นตอนการตัดสินใจหรือ Checklist ไม่มีเกณฑ์ตายตัว เพราะรูปแบบการลงทุนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความสามารถในการรับความเสี่ยงไม่เท่ากัน

  1. เครื่องมือการลงทุนต่างๆ ต้องมีความยืดหยุ่นเพราะภาวะการลงทุนในแต่ละช่วง แต่ละเวลา มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เครื่องมือ หรือแนวคิด หรือหลักเกณฑ์การลงทุน อาจใช้ได้ดีในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อาจไม่สามารถใช้ได้ดีตลอดไป ดังนั้น นักลงทุนต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือหรือแนวคิดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์นั้นๆ

  1. ตั้งป้อม “ไม่เชื่อ” ก่อนเสมอเมื่อใดที่มีคนมาอธิบายไปในทางที่ตัวเองคิด ตัวเองเชื่ออยู่แล้ว ย่อมทำให้เกิด Positive Bias ได้ง่ายมากขึ้น ทำให้มองข้ามบางประเด็นของการลงทุนไป ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยการ “ไม่เชื่อ” และพยายามหาเหตุและผลมาอธิบาย แก้ไข หรือชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่ “ไม่เชื่อ” จะช่วยให้คิดได้รอบคอบมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

  1. อย่าเชื่อใจตัวเอง อย่ามั่นใจตัวเองมากเกินไปโดยไม่มีการประเมินมุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสิ่งที่ “เชื่อ” เพราะยิ่งมั่นใจในสิ่งที่ตัดสินใจมากเท่าไร การเกิด Positive Bias หรือมองโลกสวย จะมีมากขึ้นเท่านั้น โอกาสการตัดสินใจพลาดมีสูงขึ้นอย่างที่ไม่รู้ตัวมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพลาดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของพอร์ตการลงทุนที่มากขึ้น

  1. การควบคุมอารมณ์ ควบคุมตัวเองถือเป็นเงื่อนไขที่ทำยาก แต่สำคัญต่อการลงทุน เราจึงควรควบคุมตัวเองด้วยการใช้หลักคิด เหตุและผลเหนืออารมณ์ วางแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือเรียนรู้ในการลดความร้อนแรงของการใช้อารมณ์ในสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน เช่น นักลงทุนอาจลองปิดจอและเดินออกจากโต๊ะ ไปเดินผ่อนคลายเพื่อลดแรงกดดัน ณ ช่วงเวลานั้นๆ

  1. เรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเมื่อเสร็จสิ้นการลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งหรือการลงทุนรอบใดรอบหนึ่ง นักลงทุนควรเอารายการตรวจสอบที่เขียนไว้ตอนแรกมาเทียบกับผลที่ได้จากการลงทุนในรอบนั้นว่า มีความต่างหรือเหมือนในข้อใด เพื่อเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการลงทุนรอบนั้น และนำไปสู่การปิดจุดอ่อนการลงทุนในรอบถัดไปหรือในหุ้นถัดไป

 

ดังนั้น ขั้นตอนที่ช่วยให้นักลงทุนประสบความสำเร็จและหลุดออกจากข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางของการลงทุนได้ด้วยตนเอง มีดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจนจับต้องได้ เช่น ต้องการผลตอบแทนต่อรอบการลงทุน 10% บนความเสี่ยงที่รับได้จากการตัดขาดทุน 5% เป็นต้น

  1. กำหนดรายการตรวจสอบ (Checklist)จุดอ่อนของการลงทุนและพฤติกรรมการลงทุน เพื่อเป็นการย้ำเตือนตัวเราเองไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเหล่านั้น

  1. เขียนแผนดังกล่าวอย่างชัดเจนรวมถึงแนวทางการตัดสินใจลงทุน เพื่อเป็นคำมั่นสัญญากับตัวเองในการลงทุน

  1. มีการตรวจสอบและติดตามผลทั้งในแง่ของการลงทุนและพฤติกรรมการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ว่าเกิดข้อผิดพลาดใดบ้าง บนปัจจัยแวดล้อมแบบใด เพื่อที่จะเรียนรู้ นำมาประยุกต์และเตือนตัวเองในครั้งต่อไป

  1. ประเมินผลอย่างสม่ำเสมอและยอมรับในผลที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาเพื่อเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและนำไปปิดความเสี่ยงในครั้งต่อไป

  1. เมื่อนักลงทุนตัดสินใจขายหุ้นควรทำแบบเป็นระบบเพื่อให้มั่นใจว่า ได้เรียนรู้จากการลงทุนในหุ้นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายขาดทุนที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเสียใจ แต่ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในการลงทุนหุ้นนั้น

  1. ปรับปรุงเป้าหมายการลงทุนและรายการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอด้วยการเรียนรู้จากการประเมินและการตัดสินใจที่เป็นระบบ ยิ่งทบทวนสม่ำเสมอมากเท่าไร ก็จะสามารถตัดสินใจเป็นระบบมากขึ้นเท่านั้น ช่วยปิดข้อผิดพลาดจากพฤติกรรมการลงทุนที่เป็นจุดอ่อน
TSI_Article_041_Inv_กฎ 7 ประการ ปิดจุดอ่อนการลงทุน_01

จากแนวทางทั้ง 7 ข้อที่ช่วยนักลงทุนลดโอกาสเสี่ยงจากจุดอ่อนของพฤติกรรมการลงทุน รวมถึงขั้นตอนการวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการตรวจสอบอีก 7 ขั้นตอน... เชื่อว่าจะช่วยให้นักลงทุนพัฒนาตัวเองให้คิดเป็นระบบมากขึ้น ยิ่งเรียนรู้จากข้อผิดพลาดมากเท่าไร โอกาสที่จะพัฒนาตัวเองจะมีมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้พอร์ตการลงทุนของเราสร้างผลตอบแทนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ด้วยข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

หากนักลงทุนมือใหม่คนใดที่ยังไม่แน่ใจในแนวทางหรือพฤติกรรมการลงทุนของตนเองว่ามีวินัยเพียงพอหรือไม่ แล้วทำให้ไม่กล้าเสี่ยงลงทุนจริง ขอแนะนำให้ทดลองซื้อขายหุ้นในสนามจำลองก่อน เริ่มที่โปรแกรมลงทุนหุ้นและอนุพันธ์ออนไลน์จำลอง ที่เรียกว่า Streaming Click2Win" จะได้พอเห็นภาพการตัดสินใจลงทุนของตัวเองว่าพอไปได้หรือไม่ หรือมีจุดบกพร่องอะไร เพื่อที่จะได้นำไปแก้ไขก่อนตัดสินใจลงทุนในสนามจริง

แท็กที่เกี่ยวข้อง: