ESG เทรนด์การลงทุนที่ยั่งยืน – กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

โดย SET
5 Min Read
27 กันยายน 2566
4.802k views
banner-01_0

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

         ถึงแม้ในปัจจุบันบริษัทในกลุ่มน้ำมันและโรงกลั่นจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบทางตรงมากที่สุดจากความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และธรรมาภิบาล (G) แต่ในอนาคตอันใกล้ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรรมอาหารจะได้รับแรงกดดันมากยิ่งขึ้นจากนักลงทุน ผู้บริโภค และภาครัฐให้มุ่งเน้นบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรม

 

          สาเหตุสำคัญเกิดจากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรของโลกที่มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.8 พันล้านคน ภายในปี 2050 ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของความต้องการอาหารอีกร้อยละ หรือการให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนประเภทของอาหารและเครื่องดื่มในการบริโภค และให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มมากยิ่งขึ้น

 

          ปัจจัยข้างต้นกดดันให้ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ต้องหาแนวทางการทำธุรกิจที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม มิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตอาหารเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเภทสินค้าให้สอดรับกับความต้องการใหม่ของผู้บริโภค

 

          กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารนั้นมีห่วงโซ่การผลิตที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบที่ใช้ว่ามีที่มาอย่างไร ไปจนถึงกระบวนการผลิตของตนเองว่ามีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับมิติสังคมที่เกี่ยวกับการใช้แรงงาน และสุขภาวะของแรงงานและผู้บริโภคร่วมด้วย

 

          เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงปัจจัย ESG ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร จึงขอสรุปเป็นปัจจัยย่อยต่าง ๆ โดยปัจจัยที่จะอธิบายนี้กระทบทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ผู้ประกอบธุรกิจในแต่ละประเภทสินค้าอาจได้รับผลกระทบจากแต่ละปัจจัยในระดับที่แตกต่างกันได้

กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

 

         1.การใช้พื้นที่เพาะปลูกและทำปศุสัตว์

          การประกอบ ในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกและทำปศุสัตว์จะเกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ในการทำธุรกิจค่อนข้างมาก ซึ่งหากพิจารณาที่จำนวนพื้นที่ทั้งหมดจะพบว่า ร้อยละ 70-80 ของปริมาณพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้ไปในการเพาะปลูกสำหรับกิจกรรมอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง (Soy) และข้าวโพด (Maize) เป็นต้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าปริมาณพื้นที่สำหรับกิจกรรมอาหารสัตว์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 ภายในปี 2050 หากไม่มีการคิดค้นนวัตกรรมมาปรับปรุงกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ การใช้พื้นที่ในสัดส่วนมากนี้นำมาสู่ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง คุณภาพดินที่แย่ลง ความหลากหลายทางระบบนิเวศน้อยลง และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

 

          2.การใช้น้ำและมลพิษทางน้ำ

          ในปัจจุบันผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้น้ำในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำที่มีการใช้ในอุตสาหกรรมทั่วโลกในแต่ละปี โดยธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีการใช้น้ำค่อนข้างมากคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของปริมาณการใช้น้ำในอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้จึงมีการประเมินว่า หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ใช้สำหรับผลิตเนื้อสัตว์ พบว่าเนื้อวัวมีการใช้น้ำประมาณ

          ปริมาณการใช้น้ำที่มากในส่วนใหญ่ร้อยละ 98 อยู่ในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ (Animal Feed) ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวยังมีส่วนที่ทำให้เกิดน้ำเสียด้วย เพราะการผลิตอาหารสัตว์มักมีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงค่อนข้างมาก ถึงแม้การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะทำให้เกิดสารอาหารที่สำคัญต่อดิน แต่การใช้ในปริมาณมากทำให้ดินเค็ม

          3.การปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก

          ได้มีการประเมินว่ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนคิดเป็นร้อยละ 20-25 ของปริมาณคาร์บอนทั้งหมดที่มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในแต่ละปี ดังนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจึงต้องให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซ Green House Gases (GHG) อย่างเชิงรุก นอกจากนี้ หากวิเคราะห์เฉพาะอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์จะพบว่ามีการปล่อยก๊าซ GHG ประมาณร้อยละ 14.5 และมีการปล่อยประมาณร้อยละ 55 ของปริมาณที่มีการปล่อยจากทุกอุตสาหกรรมในแต่ละปี

          ปริมาณการปล่อยนี้เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การย่อยอาหารของสัตว์ (Enteric Fermentation) การผลิตอาหารสัตว์ (Feed Production), และจัดการมูลสัตว์ (Manure Management) เป็นต้น ซึ่งปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับนี้เทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากอุตสาหกรรมขนส่งในแต่ละปี ซึ่งก๊าซคาร์บอนส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

 

          4.การใช้ยาปฏิชีวนะและการดื้อยาของเชื้อโรค

          ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ต้องให้ความสำคัญกับการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ของบริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์ เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณมากส่งผลต่อการดื้อยาของเชื้อโรคต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น และยังเป็นปัจจัยกระตุ้นที่นำมาสู่การเกิดโรคระบาดในสัตว์ที่มีความถี่มากยิ่งขึ้น การดื้อยาของเชื้อโรคนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในสัตว์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นในคนด้วย ซึ่งนำมาสู่ต้นทุนทางสังคมที่สูงมากยิ่งขึ้นในการรองรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารจะต้องวางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่ภาครัฐอาจมีมาตรการกำกับการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการผลิตอาหารที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

 

          5.การปรับเปลี่ยนภาชนะบรรจุอาหาร

          ผู้ประกอบการทุกประเภทสินค้าไม่ว่าจะเป็นอาหาร และเครื่องดื่ม จะต้องให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ภาชนะสำหรับการบรรจุอาหาร เพราะกระบวนการผลิตภาชนะโดยเฉพาะประเภทพลาสติกมีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้วัตถุดิบใหม่สำหรับการผลิตภาชนะและหีบห่อที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย

          ในปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวทั่วโลกเพื่อสนับสนุนไม่ให้มีการใช้พลาสติกในปริมาณมาก ถึงแม้จะยังไม่ได้นำไปสู่นโยบายและกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาล แต่ในระยะกลางถึงยาวมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จะเกิดกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจัดการกับขยะพลาสติก และอาจมีการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกที่เกิดจากภาชนะบรรจุอาหาร

          6.เทรนด์การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มาจากพืช

          ในฝั่งของผู้บริโภคก็มีการตระหนักถึงความปลอดภัยและความยั่งยืนของกระบวนการผลิตอาหาร จนเกิดเทรนด์ใหม่ที่ผู้บริโภคต้องการรับประทานเนื้อสัตว์และเครื่องดื่มที่ผลิตจากพืชมากยิ่งขึ้น (plant-based meat and drinks) โดยมีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มาจากพืชจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 8.87 ในระหว่างปี 2022 ถึง 2027 นอกจากนี้การสำรวจในยุโรปพบว่า ผู้บริโภคสัดส่วนมากถึงร้อยละ 45 มีความต้องการ plant-based products แล้ว

          มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับว่าโปรตีนที่มาจากพืชมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าโปรตีนที่มาจากสัตว์ เพราะการทำปศุสัตว์กินส่วนแบ่งของสัดส่วนการใช้พื้นที่เกษตรกรรมมากถึงร้อยละ 83 ในขณะที่อาหารที่มาจากพืชใช้พื้นที่น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ประมาณร้อยละ 76 และลดการปล่อยก๊าซ GHG ได้มากถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับการผลิตเนื้อสัตว์จากวัวในปริมาณที่เท่ากัน

          7.แรงกดดันให้คำนึงถึงความหลากหลายของแรงงานและสิทธิมนุษยชน

          ในส่วนของปัจจัยทางสังคมอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การใช้แรงงานที่ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารจะต้องมีการตรวจสอบให้มั่นใจว่า ตลอดห่วงโซ่การผลิตของตน และของคู่ค้ามีการปฏิบัติต่อแรงงานที่เป็นธรรมมากน้อยเพียงใด มีการใช้แรงงานเด็กหรือไม่ มีความเท่าเทียม และได้รับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Human Rights) อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องสร้างความมั่นใจว่ามีการกำหนดค่าตอบแทนให้กับแรงงาน รวมถึงค่าตอบแทนที่ให้กับเกษตรกรและคู่ค้าอย่างเป็นธรรม

          8.เทรนด์การบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมีสารอาหารที่เหมาะสม

          ผู้บริโภคมีการให้ความสำคัญกับสุขภาพและการอยู่ดีมีสุขมากยิ่งขึ้น โดยเลือกที่จะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีการใช้สารปรุงแต่ง สารกันบูด น้ำตาลในปริมาณสูง และสารเคมีที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มต้นทุนการดูแลรักษาพยาบาลของรัฐบาล นำมาสู่การออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ การกินอาหารอย่างปลอดภัย หรือแม้กระทั่งภาษีจากการใช้วัตถุดิบบางประเภท เช่น น้ำตาล รัฐบาลอาจมีการบังคับให้อาหารที่วางขายต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ได้รับสติ๊กเกอร์ที่ออกโดยทางการจึงจะสามารถวางขายได้

          9.ระมัดระวังการใช้สื่อโฆษณาและสื่อสังคมออนไลน์

          ความเสี่ยงด้านสังคมอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความเสี่ยงจากการโฆษณา และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากมีประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมายด้านข้อมูลส่วนบุคคลและประเด็นที่ผู้บริโภคมักจะมีความอ่อนไหวกับเรื่องบางเรื่อง เช่น ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลที่โฆษณา หรือการมีทัศนคติที่ไม่เหมาะสมกับบางกลุ่มสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทจะต้องไม่ปกปิดผลการทดสอบหรือผลการประเมินว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยหรือเกณฑ์ด้านศาสนา หากมีข้อมูลที่สร้างความสงสัยให้กับสังคมอาจนำมาสู่กระแสสังคมที่รณรงค์ไม่ให้บริโภคสินค้าของบริษัทได้

          10.การให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นรายย่อย

          ปัจจัยด้านธรรมาภิบาลนั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับสัดส่วนการถือหุ้นซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมักจะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่มาจากกลุ่มครอบครัวและผู้ก่อตั้งค่อนข้างมาก ดังนั้น บริษัทจะต้องให้ความสำคัญกับสิทธิของนักลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนสถาบัน โดยการสร้างความมั่นใจว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะไม่มีการดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนเอง

          จากผลกระทบของการดำเนินธุรกิจของบริษัทในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลข้างต้น ได้ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรม

          นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจของตนเพื่อให้สามารถบ่งชี้ได้ว่า ผลการดำเนินงานจะได้รับผลกระทบจากแต่ละปัจจัยมากน้อยเพียงใด เช่น บริษัทผลิตอาหารสำเร็จรูปจะต้องเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับ
เทรนด์การบริโภคใหม่ ๆ ของลูกค้า ในขณะที่บริษัทผลิตเนื้อสัตว์จะต้องให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซคาร์บอน การใช้น้ำ และการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

          การทำความเข้าใจลักษณะของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตของแต่ละบริษัทนี้ ผู้ลงทุนสามารถหาข้อมูลได้จากรายงานบทวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรม และรายงานประจำปีของบริษัทเหล่านั้นได้ โดยนักลงทุนจะพยายามเชื่อมโยงว่า รายได้และค่าใช้จ่ายของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากปัจจัย ESG ในแง่มุมไหนอย่างไร และนักลงทุนจะต้องกำหนดดัชนีชี้วัดด้าน ESG สำหรับเฝ้าระวังเพื่อประเมินความเสี่ยง เช่น ดัชนีชี้วัดการปล่อยก๊าซ GHG ดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อัตราส่วนปริมาณน้ำที่ใช้ต่อผลผลิต สัดส่วนการใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือลักษณะของแรงงานและนโยบายการให้ความสำคัญหลักสิทธิมนุยชน เป็นต้น

          ตัวอย่างของผลกระทบของแต่ละดัชนีชี้วัดด้าน ESG ต่อผลการดำเนินงานด้านการเงิน เช่นปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ส่งผลต่อภาระต้นทุนการลงทุนในอนาคตเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น หรือบริษัทจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก Carbon Credit มากขึ้นในอนาคต หรือการเลือกใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคยินดีที่จะซื้อสินค้าจากบริษัทต่อไป ยอดขายของบริษัทจึงมีความมั่นคงและเติบโต เป็นต้น


ตัวอย่างแนวทางการบริหารจัดการปัจจัยด้าน ESG

          ตัวอย่างที่ 1 บริษัท Danone ที่มีการดำเนินกลยุทธ์เพื่อลดการใช้พลาสติก PET ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับกฎเกณฑ์ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการใช้พลาสติก จนทำให้ในปี ค.ศ. 2017 Danone ได้ร่วมมือกับ Nestle ในการเริ่มโครงการ NatureAll Bottle Alliance ที่จะพัฒนาขวดที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมชีวมวล (biomass) นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2018 Danone ได้แสดงจุดยืนในการพัฒนา Circular Economy สำหรับการใช้ภาชนะประเภทพลาสติก ที่สามารถภายในปี 2025[11]

          ตัวอย่างที่ 2 บริษัทผลิตเนื้อสัตว์ชั้นนำของโลกอย่าง Tyson ได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารอย่างเข้มข้น เพื่อลดโอกาสที่บริษัทจะต้องเรียกคืนเนื้อสัตว์จากผู้บริโภค ซึ่งจะกระทบกับรายได้และกำไรของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น บริษัทจึงมีการพัฒนามาตรฐานภายในฟาร์มของตนเอง การตรวจสอบอย่างเป็นประจำ และการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม เพื่อลดโอกาสที่เนื้อสัตว์ของบริษัทจะมีสิ่งปนเปื้อน นอกจากนี้บริษัทยังได้พยายามลดการใช้ยาปฏิชีวนะ จึงทำให้ในปัจจุบัน ร้อยละ 95 ของเนื้อสัตว์ที่บริษัทผลิตไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนและสเตียรอยด์ในสัตว์ร่วมด้วย[12]

          กล่าวโดยสรุป บริษัทในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องลงทุนในนวัตกรรม คิดค้นสูตรอาหารและเครื่องดื่มแบบใหม่ เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการผลิตและจัดหาวัตถุดิบ และอาจให้ความสำคัญกับการควบรวมกิจการมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองมีเทคโนโลยีและมีศักยภาพที่พร้อมกับการสร้างยอดขายในอนาคต

          นักลงทุนสามารถเริ่มต้นวิเคราะห์ปัจจัยด้าน ESG ของบริษัทในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารจากรายงานการวิเคราะห์ความยั่งยืน และประเมินว่าบริษัทที่ลงทุนถูกประกาศให้อยู่ใน หรือไม่ โดยดัชนีดังกล่าวพัฒนาโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสามารถศึกษาข้อมูลได้จาก https://www.setsustainability.com/page/thsi-thailand-sustainability-investment หากบริษัทใดไม่อยู่ในดัชนีความยั่งยืนนักลงทุนจะต้องวิเคราะห์เชิงลึกมากยิ่งขึ้นว่าบริษัทดังกล่าวมีกลยุทธ์ด้าน ESG ที่เพียงพอหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: