คำกล่าวที่ว่า “ตลาดหุ้นไทยเริ่มไร้เสน่ห์” เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่สร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นกว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยเผชิญกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้า รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือการไร้ซึ่งนวัตกรรมใหม่
คำกล่าวเหล่านี้ อาจไม่ได้เป็นจริงเสมอไป เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็มีเสน่ห์ในตัวไม่แพ้กับต่างประเทศ โดยหุ้นไทยจัดเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะยาวเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ ในประเทศ โดยนับตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปัจจุบัน ผลตอบแทนรวมเงินปันผลเฉลี่ยต่อปีของดัชนีหุ้นไทย (SET Index) อยู่ที่ราว 7.6% สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ราว 3.3% และสูงกว่าอัตราเงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันที่อยู่ที่ราว 0.5 – 1.0%
ถึงแม้ในทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยอาจไม่ได้ไปไหนไกลนัก เนื่องจากถูกกดดันจากปัจจัยทางการเมือง ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและการไหลออกของเงินลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อการเมืองมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติได้ดีขึ้น
ถึงแม้ว่า ตลาดหุ้นไทยอาจยังมีความผันผวนสูงอยู่ในระยะสั้นจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อหุ้นบางกลุ่ม ดังนั้น นักลงทุนที่ไม่ถนัดเลือกหุ้นรายตัว หรือต้องการความผันผวนของหุ้นที่น้อยกว่า อาจพิจารณาการลงทุนในหุ้นไทยผ่านกองทุน ETF ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระจายการลงทุนตามดัชนีอ้างอิง ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นรายตัว
ตัวอย่าง กองทุน ETF ที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหุ้นไทย
BSET100 เป็นกองทุน ETF ที่อ้างอิงดัชนี SET100 มีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการราว 1,124 ล้านบาท มีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละไม่เกิน 2 ครั้ง มีค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.54% ต่อปี โดยดัชนี SET100 ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ 100 ตัวในตลาดหุ้นไทย ผ่านการคัดกรองในแง่มูลค่าตลาดและสภาพคล่อง โดยครอบคลุมมูลค่าตลาดประมาณ 77% ของตลาดหุ้นไทย รวมถึงต้องไม่เป็นหุ้นที่ถูกระงับการซื้อขายเกิน 20 วัน จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการกระจายลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง สะท้อนภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
โดยหุ้น 5 อันดับแรกของ BSET100 ประกอบด้วย DELTA (น้ำหนัก 9.2%), AOT (7%), PTT (6.9%), PTTEP (4.5%) และ ADVANC (4.3%) โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนราคา (Price Performance) ได้ 21.11% (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2566)
BMSCITH เป็นกองทุน ETF ที่อ้างอิงดัชนี MSCI Thailand ex Foreign Board มีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการราว 960 ล้านบาท มีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละไม่เกิน 2 ครั้ง มีค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.43% ต่อปี โดย MSCI Thailand ex Foreign Board เป็นดัชนีที่มีการปรับปรุงจาก MSCI Thailand ด้วยการตัดหลักทรัพย์กระดานต่างประเทศออก ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ 42 ตัวในตลาดหุ้นไทย ที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองในแง่มูลค่าตลาดและสภาพคล่องของ MSCI ซึ่งเป็นผู้จัดทำดัชนีระดับโลกและมีความเป็นมาตรฐานสากล ทำให้เป็นดัชนีที่นักลงทุนต่างชาติมักพิจารณาในการเลือกลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ดังนั้น BMSCITH จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนแบบโฟกัสและอิงการลงทุนตามแนวการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยหุ้น 5 อันดับแรกของ BMSCITH ประกอบด้วย CPALL (8%), PTT (7.5%), DELTA (7.2%), AOT (6.6%) และ BDMS (6.6%) โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนราคา (Price Performance) ที่ 15.10% (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2566)
BMSCG เป็นกองทุน ETF ที่อ้างอิงดัชนี BCAP Mid Small Cap CG มีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการราว 332 ล้านบาท (ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล) มีค่าธรรมเนียมการจัดการ 1.07% ต่อปี โดยดัชนี BCAP Mid Small Cap CG ประกอบด้วยหุ้นขนาดกลางและเล็กที่มีธรรมาภิบาลดี 48 ตัวในตลาดหุ้นไทย ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัทขนาดเล็กที่มักมีปัญหาด้านธรรมาภิบาลจนทำให้กระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว ดังนั้น BMSCG จึงเหมาะสำหรับผู้ที่คาดหวังการเติบโตในระยะยาว และสามารถรับความเสี่ยงสูงได้ โดยหุ้น 5 อันดับแรกของ BMSCG ประกอบด้วย HANA (2.9%), ERW (2.8%), THCOM (2.7%), KCE (2.7%) และ ICHI (2.7%) โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนราคา (Price Performance) ที่ 39.47% (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2566)
เป็นกองทุน ETF ลงทุนในหุ้นใหญ่ 50 ตัวแรกของดัชนี SET50 ใช้กลยุทธ์การบริหารกองทุนเชิงรับ โดยลงทุนในตราสารทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ จะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีอ้างอิง (SET50 Index) ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างการเข้าหรือออกจากการเป็นหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีอ้างอิงด้วย และส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินหรือเงินฝาก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพื่อชำระราคาหลักทรัพย์ เพื่อรอการลงทุน หรือเพื่อเป็นสภาพคล่องของกองทุน และกองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง (SET50 Index)
โดยหุ้น 5 อันดับแรกของ TDEX ประกอบด้วย DELTA (10.68%), AOT (7.67%), PTT (7.55%), ADVANC (5.04%) และ PTTEP (4.74%) โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนราคา (Price Performance) ที่ 10.89% (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2566)
กล่าวโดยสรุป หุ้นไทยยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจ เหมาะสำหรับการกระจายการลงทุนหรือการออม โดยเฉพาะนับจากนี้ที่การเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติกลับมา โดยสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดลงทุนหุ้นไทยรายตัวอาจพิจารณากระจายลงทุนอ้างอิงดัชนีผ่านกองทุน ETF ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนแบบ Passive ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในต่างประเทศ และมีให้เลือกลงทุนแล้วในประเทศไทย
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ ลงทุนในกองทุนรวม ETF แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ผลตอบแทนและความเสี่ยง สิทธิประโยชน์ทางภาษี และวิธีซื้อขายกองทุน ETF พร้อมเทคนิคการลงทุนอย่างมืออาชีพ ผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน ETF” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่