8 ไอเดียลงทุน เลือกถูกจังหวะ รับผลตอบแทนที่ดี

โดย พงษ์ธร ถาวรธนากุล, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lief Capital Asset Management
3 Min Read
20 กันยายน 2566
20.412k views
TSI_Article_517_Inv_8 ไอเดียลงทุน เลือกถูกจังหวะ รับผลตอบแทนที่ดี_Thumbnail
Highlights

เศรษฐกิจโลกมีทั้งปัจจัยลบและปัจจัยบวกที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ทำให้นักลงทุนลังเลกับการตัดสินใจลงทุน ดังนั้น เพื่อรักษาผลตอบแทนและลดความเสี่ยง ต้องวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและกระจายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญต้องมองหาไอเดียการลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์ เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี

ปี 2566 เป็นอีกปีที่การลงทุนเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ดัชนีหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในแดนบวก ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนประเมินว่าสหรัฐอเมริกา กำลังข้ามผ่านภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปแบบเงียบ ๆ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจากนี้ไปจะมีปัจจัยลบอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน เช่น กำไรบริษัทหดตัว การบริโภคหดตัว หรือจะมีแบงก์ล้มอีกหรือไม่ หรือมีปัจจัยบวก เช่น เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งและตลาดหุ้นปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

จากความไม่แน่นอนดังกล่าว หากนักลงทุนลังเลกับการตัดสินใจลงทุน อย่าเพิ่งท้อและเดินออกจากตลาด เพราะยังมีแนวทางการลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง ดังนี้

1. เลือกบริหารเงินส่วนสภาพคล่อง โดยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศไทยอายุไม่เกิน 2 ปี ให้ผลตอบแทนประมาณ 2.50% ซึ่งเหตุผลที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อยู่ที่ระดับ 5.5% ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากสามารถรับความเสี่ยงเรื่องค่าเงินหรือมีความเข้าใจการลงทุนในต่างประเทศ การเลือกกองทุน ETF กลุ่มตราสารหนี้ เช่น iShares 0-3 Month Treasury Bond ETF (SGOV) หรือ SPDR Bloomberg 1-3 Month T-Bill ETF (BIL) ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 45% ต่อปี เนื่องจากตราสารหนี้สหรัฐฯ มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก ขณะเดียวกันอายุตราสารหนี้ในกองทุนสั้นมาก (1 – 3 เดือน) จึงมีความเสี่ยงต่ำ


2. เปิดใจลงทุนสินทรัพย์ตราสารหนี้ เลือกลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี เช่น ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือกลุ่มหุ้นกู้เอกชน (ควรกระจายการลงทุน) โดยอาจเพิ่มอายุตราสารหนี้ให้ยาวขึ้น (ประมาณ 5 – 10 ปี) เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้ประมาณ 3 – 4% ต่อปี เช่น กองทุน ETF อาทิ iShares Core U.S. Aggregate Bond ETF (AGG) และ Vanguard Intermediate-Term Corporate Bond ETF (VCIT) เป็นต้น

3. หาหุ้นที่มีโอกาสปรับขึ้น จากสถิติย้อนหลังพบว่า หากราคาหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ปรับขึ้น มีโอกาสถึง 70% ที่ราคาหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กจะปรับขึ้นตามไปด้วย และหากมองหุ้นในดัชนี S&P 500 พบว่าเมื่อหุ้นขนาดใหญ่ปรับขึ้น จะทำให้หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมีโอกาสปรับขึ้นตามในอีก 12 เดือนข้างหน้า ดังนั้น นักลงทุนควรเลือกหุ้นตัวอื่น ๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งเก็บเข้าพอร์ตลงทุน

เช่นเดียวกัน หากนักลงทุนมีสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง อาจพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่เพิ่มเติม เช่น อินเดีย ที่เริ่มโดดเด่นด้วยปัจจัยด้านประชากรและนวัตกรรมที่ทำให้อินเดียมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ด้วยการเลือกกองทุน ETF เช่น iShares Core MSCI Emerging Markets ETF (IEMG) ซึ่งปีนี้ให้ผลตอบแทน 5.98% หรือ iShares MSCI India ETF (INDA) ให้ผลตอบแทน 6.02% (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน 2566)

4. เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดผลกระทบหากสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะตามทฤษฎีเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ทำให้เงินไหลออกจากดอกเบี้ยต่ำไปหาแหล่งที่ดอกเบี้ยสูงกว่าเสมอ และเมื่อเงินไหลออกจะทำให้เงินอ่อนค่า โดยหากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า สกุลเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจะเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยูโรหรือดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นต้น

ถึงแม้ว่าไอเดียการลงทุนดังกล่าว ไม่สามารถสร้างประโยชน์ในแง่การจัดพอร์ตลงทุนมากนัก เพราะการเก็งกำไรในค่าเงินถือว่ามีความเสี่ยงสูง คาดการณ์ยาก (นักลงทุนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญควรหลีกเลี่ยง) แต่การเข้าใจค่าเงินจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการเข้าใจทิศทางการไหลเวียนของเงินทุน เพื่อวางแผนรับมือล่วงหน้าได้

5. แบ่งเงิน (บางส่วน) ลงทุนกลุ่มสินทรัพย์นอกตลาด (Private Market) หากนักลงทุนมีสินทรัพย์ลงทุนหุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ ขณะเดียวกันรับความเสี่ยงได้สูงก็สามารถแบ่งเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด เช่น หุ้นนอกตลาด อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด ตราสารหนี้นอกตลาด เพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตโดยรวม แต่หากรับความเสี่ยงได้น้อย อาจเลือกลงทุนผ่านกองทุน ETF เช่น Invesco Global Listed Private Equity ETF (PSP) ซึ่งปีนี้ให้ผลตอบแทน 15.62% (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน 2566)

6. หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันเงินทุนจากมาตรการภาครัฐที่ทยอยประกาศออกมาเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ โลกร้อน และภัยคุกคามอื่น ๆ อาจเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนกลุ่มที่เป็นห่วงโซ่การผลิตที่มีนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ให้ระบบดีขึ้น ฉลาดขึ้น (Smart Automation/ Supply Chain) เช่น พลังงานสะอาด แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า หรือกลุ่มที่เน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยสามารถเลือกลงทุนหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคหรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน แต่มีอีกทางเลือก คือ กองทุน ETF เช่น iShares Global Infrastructure ETF (IGF) หรือ First Trust NASDAQ Clean Edge Green Energy Index Fund (QCLN)

7. ลงทุนเมกะเทรนด์ เลือกลงทุนกลุ่ม ESG รักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการเลือกหุ้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือมีแนวทางสนับสนุน ไม่ส่งผลกระทบกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ สุขภาพ ประชากร พลังงาน น้ำ เป็นต้น ปัจจัยสนับสนุน คือ ความตระหนักรู้จากรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ ส่งผลให้มีเงินทุนอัดฉีดเข้ามาลงทุนในบริษัทกลุ่มนี้มากขึ้น หรือลงทุนผ่านดัชนีหุ้น SETTHSI ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (EGS Bond) หรือกองทุน ETF เช่น iShares USD Green Bond ETF (BGRN) ที่เลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทกลุ่มธุรกิจรักษ์โลก

8. ลงทุนหุ้นไทย โดยอาศัยปัจจัยการจัดตั้งรัฐบาลกับความคาดหวังแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและออกมาตรการกระตุ้น ศักยภาพการแข่งขันให้แข็งแรงมากขึ้น ด้วยการเน้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เช่น กลุ่มพาณิชย์หรือท่องเที่ยว หรือกลุ่มธนาคาร ที่มีโอกาสสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง หรือเลือกลงทุนกองทุน ETF เช่น TDEX, EBANK หรือ ENGY เป็นต้น

การลงทุนให้ประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องเลือกสินทรัพย์ลงทุนให้ถูกต้องและลงทุนในราคาที่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์ เพราะแต่ละวงจรเศรษฐกิจ สินทรัพย์ลงทุนในแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละประเทศ ย่อมมีเวลาที่รุ่งเรืองและเวลาที่ยากลำบากสลับกันไป ดังนั้น หากจัดพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ย่อมมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ขณะเดียวกันอาจช่วยลดความเสียหายได้อีกด้วย

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการสร้างและบริหารพอร์ตหุ้นอย่างมืออาชีพ พร้อมเจาะลึกเทคนิคจัดทำแผนการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยาว เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโต สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Portfolio Strategy” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: