นักลงทุนคงคุ้นเคยกับประโยค “อย่านำไข่ทั้งหมด ใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” โดยประโยคนี้อาจตีความได้ 2 รูปแบบ คือ กลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) และกลยุทธ์การกระจายลงทุน (Diversification)
กลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน คือ การจัดสรรเงินลงทุนไปยังประเภทสินทรัพย์ที่แตกต่างกันหลากหลายชนิด เช่น หุ้น พันธบัตร ทองคำ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน ช่วยสร้างสมดุลให้กับพอร์ตลงทุนและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ส่วนกลยุทธ์การกระจายลงทุน คือ การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงอีกขั้น ที่คุ้นเคยและได้ยินมากที่สุด คือ การกระจายการลงทุนในหุ้น โดยลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย เช่น กลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ เทคโนโลยี อาหาร เป็นต้น เพื่อลดความเสียหายต่อพอร์ตลงทุนโดยรวม
การลงทุนในตราสารหนี้ก็เช่นเดียวกัน นักลงทุนสามารถใช้กลยุทธ์การกระจายลงทุน เพื่อช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น อย่างเช่น การกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป เอเชีย หรือไทย ตามอันดับความน่าเชื่อถือ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
สมมติว่า ลงทุนหุ้นกู้ บริษัท A เพียงบริษัทเดียว ถ้าบริษัท A เกิดผิดนัดชำระหนี้ นักลงทุน (ในฐานะเจ้าหนี้) ก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงและอาจสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด แต่ถ้ากระจายเงินลงทุนในหุ้นกู้ เช่น ลงทุนในหุ้นกู้ 5 บริษัท ที่ประกอบธุรกิจคนละอุตสาหกรรม หากเกิดเศรษฐกิจซบเซา หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นในบางบริษัท ผลกระทบที่จะได้รับความเสียหายก็จะต่ำกว่าการลงทุนหุ้นกู้เพียงบริษัทเดียว
เช่นเดียวกัน นักลงทุนสามารถนำวิธีการกระจายการลงทุนมาประยุกต์ใช้ในการเลือกลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ได้ เช่น หากสนใจลงทุนตราสารหนี้ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสูง ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงตราสารหนี้สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวที่มีระดับความน่าเชื่อถือและผลตอบแทนตราสารหนี้อยู่ในระดับสูง ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น ตราสารหนี้ยุโรป อังกฤษ ที่สามารถกระจายการลงทุนไปยังประเทศเหล่านี้ได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนเพียงประเทศเดียว
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ จนครั้งล่าสุดในปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.50% ส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนไปถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มกลับทิศเป็นขาลงในปี 2567 โดยข้อมูลจาก CME FedWatch รายงานข้อมูล พบว่าตลาดได้ประเมินว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในไตรมาส 2 ปี 2567 โดยจะลดลงโดยรวมราว 1% ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยไปด้วย
หากพิจารณาจาก Bond Yield ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก จะพบว่าอยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี เป็นต้น จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลก ไม่เพียงได้อัตราดอกเบี้ยในระดับสูงแล้วยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Capital Gain) จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงในภายหน้าอีกด้วย และหากนักลงทุนสนใจลงทุนตราสารหนี้ มีคำแนะนำ ดังนี้
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวขึ้นมาเร็วสุดในรอบกว่า 40 ปีจนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5.0% ทำให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงต่ำในสหรัฐอเมริกา เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทเอกชนคุณภาพดี กลับมาอยู่ในระดับที่สูงอีกครั้งในรอบกว่า 20 ปี สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น
ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งอยู่ที่ 2.25% ผลตอบแทนของบรรดาสินทรัพย์เสี่ยงต่ำในไทยจึงต่ำกว่า โดยอ้างอิงจากตัวเลขผลตอบแทน (Yield) ของตราสารหนี้สหรัฐอเมริกา ทั้งตราสารตลาดเงิน (Money Market Instruments) ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงถึง 5.25% ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี (US 10 Year Treasury Bond) ที่ให้ผลตอบแทน 4.10 – 4.20% ขณะที่ตราสารตลาดเงินและพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทน 2.00 – 2.65% สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนตราสารหนี้สหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้รับ Yield ที่สูงกว่า
ในอดีตตราสารหนี้สหรัฐอเมริกา มักจะสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยได้เสมอ เช่น ช่วงวิกฤติดอทคอม (Dotcom) ปี 2543 วิกฤติซับไพร์ม ปี 2551 และวิกฤติ COVID-19 ปี 2563 ที่การลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐอเมริกา ให้ผลตอบแทน 6.50%, 7.50% และ 3.0% ตามลำดับ ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะถดถอย และกดดันให้เฟด ต้องกลับมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง จึงประเมินว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะมีทิศทางที่สอดคล้องกับสถิติในอดีต
ดังนั้น ประโยชน์ของการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ คือ ลดความเสียหายจากผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย และลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน ขณะที่ผลตอบแทนอาจไม่ได้ลดลงตามความผันผวน อย่างไรก็ตาม ควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของแต่ละคนด้วย
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับใครที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ และกำลังมองหาโอกาส แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนตราสารหนี้ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่