หากพูดถึงคำว่า “การขายชอร์ต” นักลงทุนอาจนึกถึงว่าเป็นเรื่องเดียวกับ “การทุบหุ้น” ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง ดังนั้น มาทำความรู้จักการขายชอร์ตให้มากขึ้น และค้นหาความจริงว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงจริงหรือไม่ รวมถึงบทบาทและเสน่ห์ของการขายชอร์ตเป็นอย่างไร
ธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Borrowing and Lending) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า SBL คือ ธุรกรรมที่โบรกเกอร์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางหรือคู่สัญญาให้กับทั้งผู้ยืมหุ้น (Borrower) และผู้ให้ยืมหุ้น (Lender) เพื่อให้เกิดธุรกรรมการยืมและให้ยืมหุ้น
โดยผู้ให้ยืมหุ้นอาจเป็นนักลงทุนระยะยาวและต้องการผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (นอกเหนือจากส่วนต่างราคาหุ้นและเงินปันผล) ก็จะนำหุ้นที่ตัวเองถือครองอยู่มาให้ยืม ขณะที่ผู้ยืมหุ้นซึ่งคาดว่าราคาหุ้นที่ยืมมีแนวโน้มปรับลดลง แต่ไม่มีหุ้นดังกล่าวถืออยู่ก็จะยืมมาเพื่อขายชอร์ต (ขายล่วงหน้า)
ในอดีต ธุรกรรม SBL ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจากภาพลักษณ์ในสายตาของนักลงทุนทั่วไป มองว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง ซึ่งเป็นภาพจำที่ถูกบอกต่อกันมาและถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายสำหรับตลาดหุ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วหากย้อนไปดูข้อมูลการขายชอร์ตในอดีต กลับไม่เป็นเหมือนที่ถูกกล่าวหา
จากกราฟ พบว่ามูลค่าการขายชอร์ตตั้งปี 2555 – 2561 ค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่เฉลี่ยราว 2 แสนล้านบาทต่อปี ถัดจากนั้นก็เริ่มเห็นการเติบโตของธุรกรรมขายชอร์ต โดยเฉพาะในปี 2564 และ 2565 มูลค่าการขายชอร์ต เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนอยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านล้านบาท และ 1.7 ล้านล้านบาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) กลับไม่ได้ปรับลดลงตามมูลค่าการขายชอร์ตที่เพิ่มขึ้น สะท้อนได้ว่าธุรกรรมขายชอร์ตไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการปรับลดลงของตลาดหุ้นไทย จึงไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง อย่างที่เข้าใจผิดกันมาโดยตลอด
นอกจากนี้ การขายชอร์ตไม่ใช่ว่าฝั่งที่ยืมหุ้นมาแล้วต้องการจะโยนขายฝั่งซื้อ (Bid) ก็ทำได้เลย เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎระเบียบในการขายชอร์ต (Zero Plus Tick Rule) หมายความว่า การขายชอร์ตจะสามารถทำได้โดยที่ราคาขายไม่ต่ำกว่าราคาล่าสุด เช่น ถ้าราคาล่าสุดอยู่ที่ฝั่ง Bid ก็จะสามารถขายชอร์ตได้ที่ราคา Bid แต่ถ้าราคาล่าสุดอยู่ที่ฝั่ง Offer จะต้องตั้งขายที่ราคา Offer
ตัวอย่าง เช่น สมมติหุ้น XYZ ราคาฝั่ง Bid อยู่ที่ 35 บาท ราคาฝั่ง Offer อยู่ที่ 35.25 บาท และราคาล่าสุดอยู่ที่ 35.25 บาท จะสามารถตั้งขายชอร์ตได้ที่ราคา 35.25 บาท ไม่สามารถขายชอร์ตที่ราคา 35 บาท ได้
เสน่ห์สำหรับผู้ให้ยืม
เสน่ห์สำหรับผู้ยืม
จากตัวอย่าง ถึงแม้ราคาหุ้นจะปรับลดลง นักลงทุนก็ยังสามารถใช้ธุรกรรม SBL เพื่อทำกำไรได้เช่นกัน นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างการขายชอร์ตกับการ Short Block Trade พบว่ามีบางจุดที่แตกต่างกันบ้าง แม้ว่าทั้ง 2 ธุรกรรมจะมีความเกี่ยวเนื่องและคล้ายกัน ดังนี้
ธุรกรรม SBL มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างกลยุทธ์การลงทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น Pair Trade ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนจะทำการซื้อหุ้นตัวหนึ่ง พร้อมกับขายชอร์ตหุ้นอีกตัวหนึ่ง โดยที่หุ้นทั้งสองจะต้องมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันสูง เช่น การทำ Pair Trade ระหว่างหุ้นตัวที่ 1 กับหุ้นตัวที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) สูง โดยหากประเมินว่าหุ้นตัวที่ 1 จะ Outperform (ราคาหุ้นถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง มีโอกาสปรับขึ้น) เมื่อเทียบกับหุ้นตัวที่ 2 นักลงทุนจะทำการซื้อหุ้นตัวที่ 1 พร้อมกับขายชอร์ตหุ้นตัวที่ 2 ด้วยมูลค่าที่เท่ากัน หมายความว่า หากไม่สามารถยืมหุ้นมาขายชอร์ตได้ ก็จะไม่สามารถใช้กลยุทธ์ดังกล่าวได้
โดยสรุป ธุรกรรม SBL จึงไม่ได้เป็นสาเหตุของการทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประโยชน์ทำให้ผู้ให้ยืมหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตลงทุน รวมทั้งผู้ยืมหุ้นก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการทำกำไรจากภาวะตลาดขาลงอีกด้วย
ผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลธุรกรรม SBL สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่โบรกเกอร์ที่นักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการอ่าน Bid-Offer เทรดง่าย ๆ ได้กำไร ข้อสังเกตเบื้องต้น พร้อมข้อควรระวัง และเทคนิคในการดู Bid-Offer เพื่อหาจังหวะซื้อขายอย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Bid & Offer Strategy” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่