4 รูปแบบการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน

โดย กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี
3 Min Read
1 กันยายน 2566
24.432k views
TSI_Article_514_Inv_4 รูปแบบการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน_Thumbnail
Highlights
  • หุ้นกลุ่มพลังงาน อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากรมีสัดส่วนในตลาดหุ้นไทยสูงถึง 17% หากราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ ย่อมส่งผลต่อตลาดหุ้น

  • การดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบ และอัตราแลกเปลี่ยน สามารถแบ่งสถานการณ์ตลาดออกเป็น 4 รูปแบบ เพื่อวิเคราะห์และหาโอกาสในการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ

SET Index เป็นหนึ่งในดัชนีตลาดหุ้นที่มีความเฉพาะตัว และมักไม่เคลื่อนไหวตามตลาดต่างประเทศมากนัก ส่วนหนึ่งมาจากสัดส่วนนักลงทุนในประเทศที่มากกว่าตลาดอื่น แต่ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งมาจากองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ระหว่างตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ พลังงาน”

 

ในตลาดหุ้นไทยนั้น หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากรปัจจุบันมีสัดส่วนตลาด (ประเมินจาก Market Capitalization ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2023) ถึงราว 17% เทียบกับหุ้นโลกที่มีสัดส่วนในกลุ่มนี้เพียงราว 7%

 

ช่วงที่ราคาพลังงานมีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ผสมผสาน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนไทยจึงต้องไหวตัวเร็วที่สุด และต้องรู้ให้ทันเสมอว่า สถานการณ์พลังงานแบบไหน จะเป็นผลบวกหรือผลลบกับตลาด ต้องเลือกหุ้นในกลุ่มพลังงานแบบไหน และลงทุนอย่างไร

 

เมื่อมองย้อนไปในอดีต พบว่าตลาดหุ้นไทยมักเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบ มากกว่าสินค้าพลังงานอื่น มุมมองของนักกลยุทธ์ เราสามารถแบ่งสถานการณ์ตลาดได้เป็น 4 รูปแบบ” ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ และอัตราแลกเปลี่ยน

 

รูปแบบที่หนึ่ง เศรษฐกิจเร่งตัว ราคาน้ำมันดิบสูง และเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า เหมาะกับกลุ่มพลังงานกลางน้ำ

ช่วงเวลานี้ เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด ตลาดเรียกรวมว่า Risk-on มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตปกติ หรือหลังผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ทำให้ราคาน้ำมันฟื้นตัว

 

การจับจ่ายใช้สอย การค้า และการลงทุน เป็นกิจกรรมสร้างกำลังการบริโภค (Demands) ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนทางการผลิตและการขนส่งปรับตัวขึ้น สวนทางกับสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะอ่อนค่าลง

 

ในเศรษฐกิจรูปแบบนี้ การลงทุนกลุ่มพลังงานที่มักสร้างผลตอบแทนได้ดีมักเป็นกลุ่ม “กลางน้ำ” (Midstream) เช่น โรงกลั่น หรือ ปิโตรเคมี ที่ปรับรายได้ขึ้นตามราคาต้นทุน และสร้างรายได้ส่วนเพิ่มได้จากสินค้าสำเร็จรูปไปพร้อมกัน

 

รูปแบบที่สอง เศรษฐกิจชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบลดลง และเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เหมาะกับกลุ่มพลังงานปลายน้ำ

เป็นเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับรูปแบบที่หนึ่ง ตลาดจึงเรียกกลับกันว่า Risk-off ส่วนใหญ่จะเกิดจาก Demands ชะลอตัว หรือมีวิกฤติเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันจึงปรับตัวลง นักลงทุนหลบเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและเงินดอลลาร์สหรัฐ

 

แม้นักลงทุนหลายท่านอาจกังวลว่าทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง อาจเป็นลบต่อ Sentiment ของกลุ่มพลังงาน แต่แท้จริงแล้วภาวะ Risk-off ยังเหมาะกับการลงทุนในกลุ่มหุ้นพลังงาน “ปลายน้ำ” (Downstream) เช่น ผู้ค้าปลีกน้ำมัน เหตุผลสำคัญมาจากราคาน้ำมันดิบที่เป็นขาลงมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ราคาขายปรับตัวลงช้า บริษัทจึงมักได้รับประโยชน์จากค่าการตลาดน้ำมัน (Marketing Margin) ที่กว้างขึ้น

 

รูปแบบที่สาม ราคาน้ำมันดิบสูง พร้อมกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เน้นพลังงานต้นน้ำ

ผมเรียกรูปแบบนี้ว่าเศรษฐกิจจำยอม เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งและมักมีที่มาจากอุปทาน (Supply) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนตลาดมองว่าเป็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาส

 

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2022 ความกังวลจากสงครามส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นและตลาดปิดรับความเสี่ยงทันที

 

ด้วยราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว การลงทุนที่โดดเด่นจะหนีไม่พ้นหุ้นกลุ่มพลังงาน “ต้นน้ำ” (Upstream) เช่น บริษัทสำรวจและผลิต เพราะได้ประโยชน์สูงสุดทั้งจากราคาขายที่เพิ่มขึ้นและการตีมูลค่าเพิ่มของสินค้าคงเหลือ

 

รูปแบบที่สี่ ราคาน้ำมันดิบร่วงแต่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า เป็นรูปแบบเดียวที่อาจต้องเปลี่ยนไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน

เป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับกำลังซื้อ ผมตั้งชื่อว่าเศรษฐกิจความฝัน เหตุการณ์นี้ในอดีตเกิดได้ใน 2 สาเหตุหลัก อย่างแรกมีการเปลี่ยนแปลงด้าน Supply อย่างมีนัย เช่น การค้นพบนวัตกรรมของการผลิตน้ำมัน Shale oil ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ความคาดหวังว่าปริมาณน้ำมันจะเพิ่มขึ้น พร้อมกับมุมมองตลาดที่เข้าโหมด Risk-on

 

สาเหตุที่สอง เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บางเศรษฐกิจชะลอตัว สวนทางกับบางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว เช่น ในประเทศไทย รูปแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงการสลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดงในปี 2010 ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป รูปแบบนี้เป็นเศรษฐกิจรูปแบบเดียวที่ควรเน้น Non-oil กลุ่มการลงทุนที่โดดเด่นในอดีต คือ กลุ่ม Technology

 

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว นักลงทุนควรเลือกลงทุนหุ้นพลังงานแบบไหน ? สำหรับนักกลยุทธ์ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมองให้ออกว่าปัจจุบันเราอยู่ในเศรษฐกิจรูปแบบใด และกำลังจะพัฒนาไปเป็นรูปแบบไหน

 

ในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าโลกกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจจำยอม และแนวโน้มหลักกำลังมุ่งไปสู่เศรษฐกิจชะลอตัว

เห็นได้ชัดจากราคาน้ำมันในปัจจุบันที่สูงพร้อมกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า OPEC+ คงขยายเวลาลดกำลังการผลิต สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนล่อแหลม ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนจากจีน

 

บนสถานการณ์นี้ นักลงทุนควรมีการลงทุนกลุ่มต้นน้ำไว้เพื่อหาโอกาสจากทิศทางราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับตัวสูงขึ้นต่อ โดยผมมองว่าหุ้นที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มนี้ คือ PTTEP

 

ระยะถัดไป ผมเชื่อว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเศรษฐกิจหลักที่ต้องจับตาในระยะถัดไป ไม่ใช่แค่จีน แต่อาจรวมไปถึงสหรัฐอเมริกา ที่เข้าสู่ช่วงปีงบประมาณใหม่ที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังได้ บวกกับดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ความเสี่ยง Hard Landing ของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

 

กลยุทธ์หุ้นพลังงาน ผมจึงมองไปที่ธุรกิจปลายน้ำอย่าง OR ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากทิศทางราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน มีต้นทุนหลักคือราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มลดต่ำลง ขณะที่ราคาหน้าปั๊มมักปรับตัวลดลงช้ากว่า รายการค่าการตลาด จึงทรงตัวดีกว่าหุ้นพลังงานอื่น

 

แต่ถ้าใครคิดไม่เหมือนผม และเชื่อว่าเศรษฐกิจอาจเร่งตัวขึ้นเลย ก็สามารถเพิ่มการลงทุนในธุรกิจโรงกลั่นอย่าง TOP ที่ค่าการกลั่นจะปรับตัวสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่เติบโต และสต็อกน้ำมันดิบมีโอกาสถูกตีมูลค่าเพิ่มไปพร้อมกัน

 

ถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่านักลงทุนคงเข้าใจหลักการและรูปแบบของการลงทุนในธุรกิจพลังงานแล้วไม่มากก็น้อย

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยที่มีสัดส่วนของหุ้นในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคสูง ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันหรือพลังงาน ก็ควรทำความเข้าใจรูปแบบของการลงทุนเหล่านี้ไว้ เพราะไม่ว่าจะเป็นช่วงดีหรือไม่ดี การลงทุนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อ SET Index อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ภาพรวมและเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อค้นหาหุ้นดีในอุตสาหกรรมที่โดดเด่น น่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: