ซื้อหุ้นแล้ว...ถือยังไงให้สบายใจ สไตล์ VI

โดย อธิป กีรติพิชญ์ Facebook Fanpage : นิ้วโป้ง Fundamental VI
4 Min Read
30 สิงหาคม 2566
10.42k views
TSI_Article_513_Inv_ซื้อหุ้นแล้ว...ถือยังไงให้สบายใจ สไตล์ VI_Thumbnail
Highlights
  • การซื้อหุ้นพื้นฐานดีในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แล้วถือยาว จะทำให้ได้กำไร แต่ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว แนวคิดนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้น

  • การซื้อหุ้นและถือได้อย่างสบายใจ นักลงทุนควรตระหนักเสมอว่า หุ้นที่ถืออยู่ในพอร์ตแม้จะเป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีในวันนี้และตั้งใจถือไว้ในระยะยาว ยังต้องการการติดตามข้อมูล ติดตามพัฒนาการเชิงบวกและเชิงลบของบริษัท เพราะอาจมีผลกระทบต่อความเสี่ยงและโอกาสการลงทุน

หนึ่งในหลักคิดที่สำคัญที่สุดของนักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบเน้นคุณค่า หรือ วีไอ (Value Investing) คือ “เลือกลงทุนในกิจการชั้นเยี่ยม ที่ราคาชั้นยอด” ที่ว่าราคาชั้นยอด ไม่ได้หมายถึงระดับราคาแพงสุดยอด (ดอย) นะครับ แต่หมายถึง ที่ระดับราคาถูกหรือยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตัวนั้น ๆ

 

ฟังดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นวิธีที่ดีพร้อม การเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีเยี่ยมที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แล้วถือหุ้นไว้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรอให้บริษัทได้ดำเนินงานตามแผนธุรกิจ ที่สุดแล้วถ้าเป็นไปตามที่เราวิเคราะห์ไว้ รายได้และกำไรก็จะกลับมาอยู่ในระดับเดิมและดียิ่งขึ้น ราคาหุ้นย่อมปรับตัวสูงขึ้น หรืออาจจะถือหุ้นยาวนานหลาย ๆ ปี เพื่อให้บริษัทได้เติบโตตามแผนขยายธุรกิจที่วางไว้อย่างเต็มที่ เพียงเท่านี้ก็น่าจะได้กำไรคำโตใช่ไหมครับ ?

แต่โลกการลงทุนของจริง ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น

เพราะธุรกิจคือการดีลกับความไม่แน่นอน ผลการดำเนินงานของบริษัทอาจจะไม่เป็นไปตามการวิเคราะห์ของนักลงทุน และไม่เป็นไปตามการวิเคราะห์ของผู้บริหารบริษัทเองก็เป็นได้ ความผิดพลาดอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น พื้นฐานกิจการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากปัจจัยภายนอกมากระทบ พื้นฐานกิจการแย่ลงตามเวลาอย่างช้า ๆ การประเมินราคาหุ้นของเราผิดพลาด หรือแม้แต่ตัวนักลงทุนเองได้หลงรักหุ้นที่ตัวเองถือ จนกระทั่งมองข้ามสัญญาณเตือนภัยทุกอย่างและยึดมั่นกับการถือหุ้น (เคยดี) ไว้อย่างนั้น เป็นต้น

 

สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรระลึกถึง คือ ไม่มีกิจการไหนที่จะคงการเติบโตระดับสูงอยู่ได้ตลอดไป บริษัทก็เหมือนคน ๆ หนึ่ง ที่มีช่วงเริ่มต้น (วัยเด็ก) ช่วงเติบโต (วัยหนุ่ม) ช่วงอิ่มตัว (วัยกลางคน) และช่วงถดถอย (วัยชรา) แต่ละช่วงให้ค่า P/E ไม่เท่ากัน ให้สมมติฐานการเติบโตไม่เท่ากัน และความสบายใจในการถือครองหุ้นในแต่ละช่วงวัย ย่อมไม่เท่ากัน ชีวิตคนเราอาจแบ่งช่วงชีวิตได้ด้วยอายุ แต่สำหรับบริษัทแล้วจะใช้อายุบริษัทมาแบ่งไม่ได้ จำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์ว่าธุรกิจนี้อยู่ในช่วงวัยไหน เราต้องการถือหุ้นที่ยังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าหุ้นที่อิ่มตัวไปแล้วหรือเข้าสู่ช่วงถดถอยขาลง นักลงทุนจึงต้องทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ในการเฝ้าดูและสังเกตสัญญาณของความเสื่อมถอยในธุรกิจ

 

  • กิจการใดที่เข้าสู่ช่วงถดถอย...รายได้และกำไรจะลดลง นำมาซึ่งเงินปันผลและราคาหุ้นที่ลดลง
  • กิจการใดที่เข้าสู่ช่วงอิ่มตัว...รายได้และกำไร แม้ยังอยู่ในระดับน่าพอใจ แต่อัตราการเติบโตจะช้าลง ในที่สุดตลาดจะให้ค่า P/E ลดลง

 

การเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยนี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และหลายกรณีก็รุนแรงกว่าที่คาดไว้ ช่วงโควิด 3 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในหุ้นหลายกลุ่ม บางกลุ่มกิจการจะดีในช่วงโควิดแต่กลับแย่ลงหลังจากจบช่วงโควิด เช่น ถุงมือยาง เดินเรือ เหล็ก ถ่านหิน อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น นักลงทุนได้เห็นแล้วว่า การซื้อหุ้นและถือยาวโดยไม่สนใจติดตามข้อมูลอะไรเพิ่มเติมและไม่สนใจพัฒนาการเชิงบวกและเชิงลบของกิจการเลย มีความเสี่ยงอยู่เสมอ ดังนั้นการซื้อหุ้นแล้วถืออย่างสบายใจ จึงไม่ใช่การไม่ทำอะไรเลย บทความนี้ อยากนำเสนอประเด็นสำคัญ 3 ประการ ที่นักลงทุนควรตระหนักไว้เสมอในระหว่างที่ถือหุ้นไว้ในพอร์ตระยะยาว

 

1. เมื่อพบว่าคิดผิด ให้คิดใหม่ ... อย่าหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง

มนุษย์เราทุกคนสามารถทำผิดพลาดกันได้ รวมทั้งเรื่องการวิเคราะห์หุ้นด้วย เมื่อเราพบความจริงว่า งบการเงิน และปัจจัยเชิงคุณภาพต่าง ๆ ของหุ้นที่ถืออยู่ กำลังมีพัฒนาการไปในทางที่แย่ลงไปเรื่อย ๆ นี่คือการพบว่าเราได้วิเคราะห์คาดการณ์ผิด ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องถือหุ้นเหล่านั้นไว้ระยะยาวในพอร์ต โดยที่เราตอบตัวเองไม่ได้เลยว่าบริษัทจะมีพัฒนาการในเชิงบวกต่อไปได้อย่างไร เมื่อไหร่ และมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นควรเป็นเท่าไหร่

 

เมื่อรู้ตัวว่าคิดผิด ให้คิดใหม่ว่าหากย้อนเวลากลับไปตอนตัดสินใจกดซื้อหุ้นตัวนี้ในครั้งแรกได้ เราจะยังตัดสินใจแบบเดิมอีกไหม ความผิดพลาดที่น่ากลัว คือ นักลงทุนมีอัตตาสูง (Ego) เชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไป แล้วพยายามปกป้องการตัดสินใจที่ทำไปแล้ว ด้วยการสร้างเหตุผลเข้าข้างตัวเองเพื่อที่จะถือหุ้นต่อไป ในโลกของการทำงานบริษัท การตัดสินใจลงทุนใด ๆ จะมีห้องประชุมใหญ่ที่รวมตัวแทนของฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเทคนิค การตลาด การเงิน บัญชี กฎหมาย สื่อสารองค์กร เป็นต้น คอยตั้งคำถามและคิดจากหลากหลายมุมมอง องค์ประชุมจะได้คิดอย่างละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจนำเงินบริษัทไปลงทุนทำโครงการใหม่ใด ๆ แต่การเป็นนักลงทุนรายบุคคลที่วิเคราะห์หุ้นคนเดียว เราจำเป็นต้องยืดหยุ่น นั่นคือ ยังคงมีความมั่นใจ แต่ต้องไม่ดื้อ เราต้องพร้อมที่จะคิดใหม่เมื่อมีชุดข้อมูลใหม่ปรากฏ

 

ความน่ากลัวของความดื้อดึงต่อการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยคือ แม้ว่าข้อมูลชุดใหม่ปรากฏแล้ว ความผิดพลาดได้ถูกพบแล้ว พื้นฐานกิจการเปลี่ยนไปแล้ว และราคาหุ้นกำลังลงหนักแล้ว แต่ตัวเรากลับไม่ยอมรับว่าตัวเองตัดสินใจผิด แต่กลับมองว่า ตอนนี้ราคาหุ้นลงมาเยอะแล้ว ราคานี้ถูกมากแล้ว ราคานี้ยังต่ำกว่าราคา IPO ด้วยซ้ำ เป็นต้น การตัดสินใจถัวหุ้นขาลง โดยที่พื้นฐานกิจการแย่ลงด้วย เป็นวิธีที่อันตราย เพราะเมื่อตลาดรับรู้การแย่ลงของพื้นฐานหุ้นแล้ว ตลาดจะให้ค่า P/E ลดลง และเมื่อถึงไตรมาสต่อไปกำไรสุทธิของบริษัทลดลง ตลาดก็จะกดค่า P/E ลงไปอีก ราคาหุ้นจะลดลงต่อไปได้อย่างน่ากลัว

 

ความผิดพลาดในการลงทุนหลายกรณี เกิดจากการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง เพื่อจะยังคงถือหุ้นต่อไปแม้จะรู้ตัวว่าวิเคราะห์ผิดไปแล้ว ถ้าพบว่าเราวิเคราะห์ผิด ก็แค่ขายมันออกไปแล้วมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ การยอมรับความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของเกมที่นักลงทุนระยะยาวจำเป็นต้องมี

 

2. หุ้นซื้อได้ ก็ต้องขายเป็น ... อย่าหลงรักหุ้นที่ตัวเองถือ

มีคำกล่าวว่า ตัวเรา รู้ว่าเราถือหุ้นอะไร …แต่ ตัวหุ้น ไม่รู้ว่าใครมาถือตัวมัน” ถ้าหุ้น (หรือกิจการ) ที่เราถือนั้นกำลังปรับตัวไปในทางแย่ลง เราสามารถขายมันออกไปได้แม้ว่าเราจะเพิ่งเข้าซื้อได้ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่สัปดาห์ก็ตาม อย่ายึดติดว่าซื้อหุ้นแล้วจำเป็นต้องถือยาวเท่านั้น

 

ความผิดพลาดนี้มักเกิดกับนักลงทุนเชิงปัจจัยพื้นฐาน ที่มีการวิเคราะห์กิจการเชิงคุณภาพมาอย่างดี ทั้งคุณภาพกิจการและงบการเงิน ตั้งใจเข้าซื้อลงทุนเพื่อถือหุ้นในระยะยาว สิ่งนี้อาจจะทำให้เราเกิดความลำเอียง (Bias) ในการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเป็นเจ้าของมากเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสอื่น ๆ ซึ่งหากเป็นหนักเข้า เราเรียกว่า “อาการหลงรักหุ้นที่ตัวเองถือเมื่อเกิดอาการหลงรัก จะเกิดความลำเอียงในการวิเคราะห์และการตัดสินใจของตัวนักลงทุนเองด้วย เราเคยเห็นนักลงทุนที่หลงรักหุ้นของตัวเอง ไปห้างสรรพสินค้าก็จะมองหาแต่สินค้าของหุ้น หากเจอสินค้าเต็มชั้นวาง ก็สรุปว่า เพราะสินค้าเราขายดี ห้างเลยต้องใส่สินค้าไว้เต็มชั้นวาง แต่พอเจอสินค้าของตัวเองพร่องลงมาก ก็สรุปว่าเพราะสินค้าเราขายดี ห้างเลยเติมของแทบไม่ทันชั้นเลยว่าง แล้วพอเดินห้างแต่กลับหาสินค้าไม่เจอ ก็สรุปว่าเพราะห้างที่เราเดินอยู่ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้าเรา เป็นต้น ไม่ว่าความจริงตรงหน้าปรากฏอย่างไร นักลงทุนที่หลงรักหุ้นก็จะมีข้อสรุปที่เป็นบวกกับหุ้นของตัวเองได้เสมอ อย่างนี้คืออาการหลงรักหุ้น

 

เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยความรู้สึกผูกพันกับหุ้นยิ่งมากขึ้น อาการหลงรักหุ้นจะทำให้นักลงทุนยังคงถือหุ้นต่อไป แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้คุณภาพกิจการถดถอยลงอย่างมากแล้วก็ตาม ซึ่งอันตรายมาก กลยุทธ์หนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาหลงรักหุ้นได้ คือ การจับสัญญาณเตือนภัยผ่านงบการเงิน รายงานงบการเงินทั้งงบกำไรขาดทุน งบดุล และงบกระแสเงินสด มีข้อมูลมากมายซึ่งนำมาใช้คาดการณ์และประเมินความเป็นไปของกิจการได้ ที่สำคัญที่สุด มันคือความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้างบการเงินฟ้องชัดเจนว่าหุ้นที่เราหลงรักกำลังมีผลประกอบการที่แย่ลงทุกไตรมาส รายได้ลด กำไรลด เงินปันผลลด เราก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนภัยในทางบัญชีนี้ จำเป็นต้องหยุดคิด หยุดหลงรักหุ้น แล้ววิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้งว่ายังดีเหมือนเดิมที่เคยรู้จักกันไหม

3. นี่คือยุคเปลี่ยนแปลงไว...อย่าเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

นักลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจว่า ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง ทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และจะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน บริษัทก็เช่นกัน การติดตามข้อมูลและพัฒนาการของบริษัท ทั้งสภาวะภายในบริษัทเอง และปัจจัยภายนอก เช่น ระดับการแข่งขัน คู่แข่ง ลูกค้า สินค้าทดแทน เป็นต้น แล้วจึงวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง จัดเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งในการลงทุน

 

การยึดติดว่าหุ้นเราดี กิจการเราดี ต้องการถือครองหุ้นในระยะยาวเท่านั้น บางครั้งกลายเป็นความเพิกเฉยท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุของความผิดพลาดครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการขายหุ้นออกไปไม่ทัน ก่อนที่หุ้นจะเข้าสู่ช่วงขาลงอย่างรุนแรง ลองนึกถึงหุ้นใหญ่ระดับโลกอย่าง Kodak, NOKIA และ BlackBerry ต่างก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และการถือหุ้นระยะยาวกับหุ้นที่ปรับตัวไม่ทัน จะให้ผลลบเลวร้ายเกินคาดเดาต่อนักลงทุนที่ถือครองหุ้นเหล่านั้นไว้ในพอร์ต

 

จริงอยู่...การตีความว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นแค่สิ่งชั่วคราวก็เป็นไปได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในช่วงโควิดที่หลายเหตุการณ์เราเคยเชื่อว่าเป็น New Normal เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร แต่สุดท้ายชีวิตก็กลับมาสู่สภาวะปกติในยุคหลังโควิด เรายังไปกินข้าวนอกบ้าน ยังคงเดินทาง ยังคงท่องเที่ยว การถดถอย หรือการเติบโตที่ชะลอตัวลงของบางกิจการ อาจเป็นแค่เรื่องชั่วคราวมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างถาวร หน้าที่สำคัญของนักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานที่ต้องการถือหุ้นระยะยาว คือ การพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของแต่ละเหตุการณ์โดยละเอียด แยกแยะให้ได้ว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงชั่วคราวหรือถาวร

 

  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือที่เราคุ้นชินกับคำว่า Technology Disruption มักจะมีความรุนแรงกว่าที่คาดคิด ทำให้บริษัทที่เคยเป็นที่หนึ่งต้องกลายเป็นบริษัทที่ล้าหลังอย่างมากภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ฟิลม์ถ่ายรูปที่ถูกดิสรัปโดยกล้องดิจิทัลและกล้องโทรศัพท์ สมาร์ทโฟนและระบบแอปพลิเคชันที่มาดิสรัปโทรศัพท์มือถือปุ่มกด สื่อโซเชียลมีเดียที่ให้ข้อมูลข่าวสารฉับไว มาดิสรัปอุตสาหกรรมนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ช่องทีวี เป็นต้น

 

  • การเปลี่ยนแปลงของวัฏจักร นักลงทุนไม่สามารถทำนายวงรอบขาขึ้นหรือขาลงของธุรกิจได้อย่างสมัยอดีต นี่คือยุคสมัยที่วงจรเศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่ 10 ปี วงจรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปิโตรเคมี อาจจะไม่ใช่ 7 ปี ราคาน้ำมันในไตรมาสสี่ก็ไม่จำเป็นต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเพราะคาดการณ์อากาศหนาว เป็นต้น ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกต่างก็มีเครื่องมือในการบริหารจัดการ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการทำ QE และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือทำลายเศรษฐกิจบางประเทศ บาง Sector ด้วยนโยบายการกีดกันทางการค้า (Trade War) ในหลายกรณี ช่วงวัฏจักรขาลงสามารถลากยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ บางครั้งยาวนาน 8 – 10 ปี โดยเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของประเทศนั้น ๆ ไม่ไปไหน หากนักลงทุนสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็จำเป็นต้องโยกย้ายการลงทุนบางส่วนออกจากพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะทศวรรษที่หายไป (Lost Decades)

 

  • การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของลูกค้า การเปลี่ยนแปลงที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จนเราไม่ทันสังเกตหรือแม้จะสังเกตเห็นก็ยังประมาทว่า มันไม่สามารถมาแทนที่ได้ มันไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง มันเป็นแค่กระแสชั่วคราว กว่าเราจะไหวตัวทัน ราคาหุ้นก็ตกลงอย่างมีนัยยะสำคัญจนกระทั่งตัดใจขายออกไม่ได้แล้ว ลองนึกถึงหุ้นช่องทีวีอันดับหนึ่ง ที่เคยกวาดเม็ดเงินโฆษณาและดึงดูดสายตาของลูกค้า หรือ หุ้นเครื่องสำอางไทยชื่อดังที่เคยเป็นที่นิยมของลูกค้า หรือแม้แต่หุ้นโรงหนัง ที่เราเริ่มเห็นพฤติกรรมการเข้าโรงหนังของวัยรุ่นที่กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

 

ความเสื่อมถอยของกิจการจากการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของลูกค้า มักเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เป็นไปตามแผน เช่น การคุ้นชินต่อรูปแบบการบริโภคแบบใหม่ในช่วงโควิด การไม่เห็นผลตอบแทนระดับเดิมจากการลงทุนใหม่ ๆ ของบริษัท ความกดดันจากการแข่งขันที่มากขึ้นทั้งจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกันและต่างอุตสาหกรรม  ดังนั้นหากนักลงทุนพบการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของลูกค้าในกิจการที่เราลงทุนอยู่ แม้เพียงเล็กน้อยแต่ก็คุ้มค่าที่จะต้องทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างละเอียด

 

สรุป การมีกลยุทธ์ซื้อแล้วถือยาวนั้นสามารถทำได้ แต่การที่จะทำได้อย่างสบายใจ เราต้องตระหนักเสมอว่าหุ้นที่เราถืออยู่ในพอร์ตแม้จะเป็นหุ้นที่มีคุณภาพสูงในวันนี้และเราตั้งใจถือมันไว้ในระยะยาว แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องรีวิวผลประกอบการรายไตรมาสและติดตามพัฒนาการสำคัญของกิจการเหล่านั้นเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน และนำไปสู่การถือหุ้นอย่างสบายใจแบบวีไอที่แท้จริง

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Financial Statement Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้กลยุทธ์การซื้อขายหุ้นให้เป็น เห็นกำไร เพื่อให้ไม่เสียโอกาสในการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Buy & Sell Strategy” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: