ทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับหุ้นปันผล

โดย SET
5 Min Read
28 สิงหาคม 2566
59.826k views
2023_31_SET-รวมเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับหุ้นปันผล_1200x660
In Focus

หุ้นปันผล เหมาะกับผู้ที่ต้องการสร้างกระแสเงินสดหรือก็คือสร้าง Passive Income ระหว่างการถือหุ้น และยังเหมาะกับนักลงทุนที่พร้อมลงทุนระยะยาวในหุ้นพื้นฐานดี บทความนี้จะพาทุกคนเรียนรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับหุ้นปันผล

สำหรับนักลงทุนจำนวนไม่น้อย หุ้นปันผล เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนี่คือทางเลือกที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอจากผลตอบแทนในรูปแบบปันผล เหมาะกับผู้ที่ต้องการสร้างกระแสเงินสดหรือก็คือสร้าง Passive Income ระหว่างการถือหุ้น และยังเหมาะกับนักลงทุนที่พร้อมลงทุนระยะยาวในหุ้นพื้นฐานดี เพราะผลตอบแทนก้อนใหญ่ของการลงทุนในหุ้นปันผลมักมาจากที่บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอในอัตราที่เติบโต ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของกิจการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

 

ข้อได้เปรียบของหุ้นปันผล คือ สามารถสร้างรายรับได้โดยไม่ต้องคอยจับจังหวะในการซื้อขายหุ้นตลอดเวลา ยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้จากปันผลแม้จะอยู่ในช่วงตลาดขาลงหากบริษัทมีศักยภาพในการกำไร ในแง่หนึ่งแล้ว จึงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนได้มากขึ้น สามารถเปลี่ยนเงินปันผลดังกล่าวมาเป็นรายได้หรือเป็นเงินลงทุนเพิ่มเติมในสินทรัพย์อื่นก็ได้

 

หุ้นปันผลคืออะไร

 

โดยทั่วไปแล้วการลงทุนหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 2 รูปแบบ คือ

1.) กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) หรือการขายหุ้นในราคาสูงกว่าที่ซื้อมา 

2.) เงินปันผล (Dividend) เมื่อบริษัทมีผลกำไรจากการดำเนินการ และแบ่งเงินบางส่วนจากกำไรมาจ่ายให้ผู้ถือหุ้น โดยหุ้นที่เน้นจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าเงินก้อนนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จะเรียกว่าหุ้นปันผล

 

คำถามคือ หุ้นปันผลควรให้ผลตอบแทนในรูปปันผลเท่าไหร่จึงจะถือได้ว่าหุ้นตัวนี้คือหุ้นปันผล? เพื่อจะตอบคำถามนี้ ให้ลองดูดัชนี SETHD (SET High Dividend) ที่เป็นดัชนีรวมหุ้น 30 ตัวที่มีขนาดใหญ่ในดัชนี SET100 สภาพคล่องสูง จ่ายปันผลต่อเนื่อง และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่เกิน 100% ของกำไรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

 

จะเห็นได้ว่า หุ้นในดัชนีนี้มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) อยู่ที่ 4.85% ของราคาหุ้น เทียบกับดัชนี SET ที่ 3.12% จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2566 สามารถดูรายละเอียดของดัชนี SETHD เพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

อย่างไรก็ตาม หุ้นปันผลที่ดีต้องไม่ได้มีดีแค่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง แต่จะต้องสูงอย่างต่อเนื่อง และยังต้องมีปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ที่ดีคอยสนับสนุน เช่น กำไร สภาพคล่อง หนี้ ความเสี่ยง เพื่อปันผลที่มั่นคงในระยะยาว เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินปันผลก็คือส่วนแบ่งของกำไรที่มาจากผลประกอบการที่ดีของกิจการ

 

อัตราส่วนทางการเงินและปัจจัยพื้นฐานที่ต้องรู้จักหากสนใจหุ้นปันผล

 

ปกติแล้วการลงทุนระยะยาวเราจะต้องทำความรู้จักกับปัจจัยพื้นฐานและอัตราส่วนทางการเงินหลายตัว และในกรณีของหุ้นปันผล มีอัตราส่วนทางการเงินอีก 2 ตัวที่เราต้องอ่านให้เป็น คือ

2023_31_SET-รวมเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับหุ้นปันผล_01-2

 

  1. Dividend Payout Ratio (อัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไร)

 

อัตราส่วนนี้จะเป็นค่าที่ทำให้นักลงทุนรู้ว่า “บริษัทจ่ายเงินปันผลมากแค่ไหนจากกำไรที่บริษัททำได้” เพราะปกติแล้วหากบริษัททำกำไรได้ 100 บาท ก็ไม่ใช่ว่าบริษัทจะจ่ายทั้ง 100 บาทออกมาเป็นปันผล พูดง่าย ๆ คือค่านี้บอกถึงความตั้งใจของบริษัทในการจ่ายเงินปันผล

 

วิธีการคำนวณอัตราการจ่ายเงินปันผล (%) = (เงินปันผลต่อหุ้น ÷ กำไรสุทธิต่อหุ้น) x 100

 

ถ้าอัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไรคือ 50% หมายความว่าบริษัทจ่ายปันผลเป็น 50% ของกำไรที่ทำได้ หากบริษัทไหนจ่ายปันผลมากกว่าก็จะมีค่านี้สูงกว่า

 

  1. Dividend Yield (อัตราผลตอบแทนเงินปันผล)

 

อัตราส่วนนี้จะเป็นค่าที่ทำให้นักลงทุนรู้ว่า “นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนในรูปปันผลมากแค่ไหนจากราคาหุ้น” เช่น อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 5% จากราคาหุ้น 100 บาท เท่ากับว่านักลงทุนจะได้เงินปันผล 5 บาทต่อ 1 หุ้นที่ถืออยู่ โดยหุ้นปันผลที่ดีควรมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

 

วิธีการคำนวณอัตราการจ่ายเงินปันผล (%) = (เงินปันผลต่อหุ้น ÷ ราคาหุ้น) x 100

 

อย่างที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ ลำพังแค่อัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไรและอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงอาจไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าหุ้นตัวหนึ่งเป็นหุ้นปันผลที่ดี เพราะหุ้นที่ให้ปันผลสูงสม่ำเสมอควรมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแรงรองรับ

 

ตัวอย่างปัจจัยพื้นฐานที่ควรสนใจ เช่น กำไรสุทธิ (Net Profit) ที่ควรเกิดขึ้นต่อเนื่อง กำไรสะสม (Accumulated Profit) ที่เป็นแหล่งเงินที่จะนำมาจ่ายปันผล กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operations) ที่สะท้อนถึงสภาพคล่องและการจัดหาเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ไปจนถึงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt-to-Equity Ratio) ที่จะช่วยบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่บริษัทกำลังแบกรับ เป็นต้น

 

ปฏิทินการจ่ายปันผล ขุมทรัพย์ที่ทุกคนต้องรู้

อีกเรื่องที่นักลงทุนควรรู้เกี่ยวกับหุ้นปันผล คือ เครื่องหมาย XD (Exclude Dividend) ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่เตือนให้รู้ว่าจะไม่มีสิทธิได้ปันผลในงวดนั้น ๆ จากการซื้อหุ้นที่ติดเครื่องหมายดังกล่าว ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการเงินปันผลก็จะต้องซื้อหุ้นก่อนที่จะมีการติดเครื่องหมาย XD โดยสามารถติดตามได้ว่าหุ้นแต่ละตัวจะขึ้น XD วันไหนได้ที่ปฏิทินหลักทรัพย์ คลิกที่นี่

 

3 ขั้นตอนคัดหุ้นปันผล ผ่าน SETSMART

 

มาจนถึงตรงนี้เราน่าจะพอทราบกันแล้วว่าการลงทุนในหุ้นปันผล จะต้องมองหาหุ้นที่อัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไรและอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงกว่าตลาดต่อเนื่อง มีกำไรสม่ำเสมอ มีสภาพคล่องสูง และมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่ง SETSMART ก็มีเครื่องมือช่วยคัดกรองหุ้นให้เราเบื้องต้น โดยหลังจากเข้าเว็บไซต์ SETSMART แล้ว ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป ดังนี้

  1. จากแถบเมนูด้านบน ไปที่ “เครื่องมือ” เลือก “ค้นหาหลักทรัพย์”
  2. จากแถบค้นหาหลักทรัพย์ด้านบน ไปที่ “ดัชนี/กลุ่มอุตสาหกรรม/หมวดอุตสาหกรรม” เลือก “SETHD” แล้วกด “ค้นหา”

 

เพียงเท่านี้ เราก็จะได้หุ้นที่เข้าข่ายว่าเป็นหุ้นปันผลสูงตามหลักเกณฑ์ของ SET

นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถคัดกรองได้เองตามปัจจัยพื้นฐาน ด้วยการเพิ่มขั้นตอนที่ 3 คือ

 

   3. กำหนดเงื่อนไขการคัดกรองหุ้นปันผลตามที่ต้องการ เช่น อัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไร (สูง) อัตราเงินปันผลตอบแทน (สูง) กำไรสุทธิ (สูง) อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ต่ำ) เป็นต้น แล้วกด “ค้นหา”

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น นักลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนปัจจัยพื้นฐานและอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ได้ตามวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

2023_31_SET-รวมเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับหุ้นปันผล_02-2

สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นปันผล รวมถึงหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ เนักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่

 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ คลิกที่นี่

Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี

ปุ่ม erc
ปุ่ม setsmart
แท็กที่เกี่ยวข้อง: