หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับ 5.50% ตามที่นักลงทุนคาดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกแล้วเนื่องจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมาเริ่มลดลงเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน ขณะที่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญเริ่มส่งสัญญาณที่อ่อนแอลง แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเติบโตต่ำกว่าระดับ 1% ในปีหน้า หรืออาจเกิดการถดถอยทางเทคนิค หรือ GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน (เทียบไตรมาสต่อไตรมาสหลังปรับฤดูกาล) รวมทั้งสถานการณ์ตลาดการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นหลังธนาคารในรัฐต่าง ๆ เริ่มเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งผมมองว่าอัตราการว่างงานจะทยอยปรับขึ้นในไม่ช้าและน่าจะมีผลให้ค่าจ้างเติบโตช้าลงและแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะลดลงในที่สุด
อย่างไรก็ดี เฟดยังไม่ฟันธงว่าจะจบรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากยังต้องดูพัฒนาการของเงินเฟ้อและตลาดแรงงานในอีกสองเดือนข้างหน้าก่อนการประชุมครั้งต่อไปในช่วงกลางเดือนกันยายน ซึ่งในระยะข้างหน้านี้ตลาดการเงินอาจผันผวนได้บ้างหากตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ส่งสัญญาณการชะลอตัวอย่างที่คาด หรือเงินเฟ้อมีความหน่วงในการชะลอตัวลงช้ากว่าที่คาด นอกจากเฟดแล้ว ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกรกฎาคมเช่นกัน ที่ 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Refi Rate) ได้ปรับสู่ระดับ 4.25% ขณะที่ นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า ECB น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้ไว้ก่อนสักระยะเพื่อประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ หลังเศรษฐกิจของประเทศสำคัญอย่างเยอรมนีได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคไปในช่วงก่อนหน้าและอัตราเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณลดความร้อนแรงลง และยังมองว่าในปีนี้ทาง ECB มีโอกาสขยับอัตราดอกเบี้ยได้อีกหนึ่งครั้งก่อนถึงระดับสูงสุด
ในส่วนของญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินด้วยการขยายกรอบการควบคุมระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี หรือ Yield Curve Control (YCC) ที่ +/- 1.00% จากเดิมที่ระดับ 0.50% ซึ่งผมมองว่ามาตรการ YCC น่าจะสิ้นสุดในระยะต่อไป แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยให้ภาคธนาคารของญี่ปุ่นสามารถที่จะปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยรวม ผมเชื่อว่าธนาคารกลางสำคัญ ๆ ในเอเชีย ได้สิ้นสุดหรือใกล้เต็มทีกับการสู้รบกับปัญหาเงินเฟ้อนับจากต้นปีก่อน แม้สงครามในการขึ้นดอกเบี้ยจะจบ แต่ไม่ใช่การถอนทหารหรือการลดดอกเบี้ย น่าจะเป็นการเฝ้าระวังและดูสถานการณ์ให้ชัดเจนกว่านี้ ว่าเงินเฟ้อกำลังปรับลดลง และน่าจะเป็นโอกาสในการลงทุนในเดือนสิงหาคมได้ ดังนี้
ตราสารหนี้คุณภาพดี: นักลงทุนน่าจะหาโอกาสในการลงทุนตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือดี ด้วยภาพการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะสิ้นสุดไปแล้วหรือใกล้จบรอบเต็มทีนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะเริ่มทรงตัวหรือปรับย่อลงได้ในไม่ช้า ซึ่งผมยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการเข้าสะสมตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ที่ได้ผลตอบแทนสูงและเปิดโอกาสได้รับ Capital Gains จากการปรับลงของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ เพียงแต่ให้ระมัดระวังการลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มที่ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Non-Investment Grade รวมทั้งให้ระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทที่จะลงทุนด้วย ผมจึงมักแนะนำให้ลงทุนกับรัฐบาลหรือหน่วยงานที่รัฐบาลค้ำประกัน
กองทุนรวมหุ้นที่กระจายการลงทุนทั่วโลกและเน้นการจ่ายเงินปันผล: นักลงทุนน่าจะหาโอกาสลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ที่กระจายการลงทุนทั่วโลก โดยอาจเน้นในกลุ่มหุ้นที่จ่ายเงินปันผล มีความมั่นคงและมีกำไรที่เติบโตดี ทั้งนี้ ในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรกำลังลดลง นักลงทุนมักให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทหุ้นเพิ่มขึ้น จากการประเมินมูลค่าที่น่าดึงดูดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่นักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังเติบโตได้อยู่
หุ้นจีน: ผมยังมองโอกาสในการที่รัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคของจีน รวมทั้งรัฐบาลน่าจะให้ความสนใจในการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยีในจีน ซึ่งนักลงทุนสามารถหาโอกาสในการลงทุนในตลาดจีน ทั้งกลุ่ม A-share และ H-share ได้จากมูลค่าที่น่าสนใจ
หุ้นไทย: หุ้นไทยปรับลดลงมามากจากความกังวลในการเลือกนายกรัฐมนตรีและความเสี่ยงทางการเมือง แต่ด้วยราคาที่ปรับย่อลงมามาก ขณะที่โอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากรายได้การท่องเที่ยวเริ่มมีความชัดเจนขึ้น รวมทั้งผมมองว่าในเดือนสิงหาคมนี้ น่าจะมีความชัดเจนในการได้รัฐบาลชุดใหม่มาบริหารประเทศและน่าจะมีมาตรการที่เป็นบวกต่อตลาดทุน
โดยสรุป ยังแนะนำให้นักลงทุนกระจายพอร์ตการลงทุนเพื่อเปิดโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและรับมือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งผมมองว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะถึงจุดสูงสุดไปแล้ว แต่หากผิดคาด อัตราดอกเบี้ยยังขยับต่อได้และเกิดความผันผวนในตลาดทุนและตลาดการเงินต่อเนื่อง การกระจายพอร์ตในหลายกลุ่มสินทรัพย์จะสามารถช่วยจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในพอร์ตลงทุนโดยรวมให้นักลงทุนได้
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่