ตลอด 2 – 3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนมีความกังวลว่าเศรษฐกิจทั่วโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นอยู่ในภาวะขาลง ขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ตลอดจนตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ กลับมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น โดยผลตอบแทนของตราสารตลาดเงินอยู่ที่ 5.2% และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.8 - 4.0%
นอกจากนี้ หากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่ม “คงที่” และจากนั้นเป็น “ขาลง” จะส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสการลงทุนในตราสารหนี้ที่อาจได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจ ด้วยระดับความเสี่ยงไม่สูงมากนัก
นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน แต่ละประเทศเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0 - 0.25% เป็น 5.00 - 5.25% หรือสหภาพยุโรป ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก -0.50% เป็น 3.50% เช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามแนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลก จาก 0.5% สู่ระดับ 2.0% ผลลัพธ์ คือ ส่งผลต่อผลตอบแทนของตราสารหนี้ ทั้งพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้บริษัทเอกชน ตลอดจนดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีการปรับขึ้นตามลำดับ
การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกดังกล่าว ส่งผลให้ผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังสหรัฐอเมริกาอายุ 3 เดือน (เส้นสีเทา) ที่มักถูกใช้เป็นตัวแทนของการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำในด้าน Credit Rating และ Price Risk ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.2% สูงกว่า Earning Yield (เส้นสีน้ำเงิน) ซึ่งแสดงถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นของดัชนี S&P 500 ที่ 4.8% เป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี หรือหลังวิกฤติ Dot-com Bubble ในช่วงปี 2000
หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจริง ๆ จะช่วยเร่งให้เม็ดเงินไหลเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นจะรุนแรง (Hard Landing) หรือไม่รุนแรง (Soft Landing) ก็ล้วนเป็นผลดีต่อการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล อ้างอิงจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทน (Bond Yield) อยู่ที่ราว 3.8 - 4.0% ต่อปีในปัจจุบัน
ซึ่งหากนักลงทุนมองไปในระยะข้างหน้า พบว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสเกิดขึ้น และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน (Bond Yield) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.4 - 3.2% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงถึง 9 - 16%
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกกำลังอยู่ในระดับสูงสุด และมีโอกาสปรับลดลงในอนาคต การลงทุนในตราสารหนี้ โดยมุ่งเน้นตราสารหนี้ที่มั่งคง และมี Credit Rating สูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตลอดจนหุ้นกู้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เป็นต้น จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ไม่สูง
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับใครที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ และกำลังมองหาโอกาส แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนตราสารหนี้ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่