เกาะกระแส AI จีนกับ Baidu

โดย ธีรภัทร เมธานุเคราะห์ นักวิเคราะห์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง
4 Min Read
4 สิงหาคม 2566
5.699k views
TSI_Article_506_Inv_เกาะกระแส AI จีนกับ Baidu_Thumbnail
Highlights
  • Baidu (ไป่ตู้) ผู้ให้บริการ Search Engine อันดับหนึ่งในจีน และเป็นบริษัทเดียวในจีน ที่มีการพัฒนา AI แบบครบวงจร อีกทั้งเป็นผู้ให้กำเนิด AI อย่าง Ernie Bot คู่แข่งของ ChatGPT

  • Baidu มีธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจ Search Engine ธุรกิจให้บริการ Cloud ธุรกิจ Online Entertainment รวมถึงธุรกิจให้บริการระบบขับขี่เคลื่อนที่อัตโนมัติ หรือเทคโนโลยีไร้คนขับ ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและอยู่ในเทรนด์แห่งอนาคต

  • นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น Baidu ได้แล้วผ่านตลาดหุ้นไทย เพียงมีบัญชีซื้อขายหุ้นก็เทรดได้ แถมยังซื้อขายเป็นเงินบาท ผ่านแอปพลิเคชัน Streaming

หากกล่าวถึงหุ้นยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีชั้นนำของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เป็นที่รู้จักกันดีของนักลงทุนในหุ้นกลุ่ม MATANA ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท Microsoft, Apple, Tesla, Alphabet, Nvidia และ Amazon แต่หากเป็นหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำของจีนก็คงต้องยกให้หุ้นกลุ่ม BAT ซึ่งก็คือ Baidu, Alibaba และ Tencent ที่ต่างก็เป็นผู้นำเทคโนโลยีในแต่ละด้าน อย่าง Alibaba เป็นผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซ ส่วน Tencent เป็นผู้นำด้านเกมออนไลน์ ในขณะที่ Baidu นั้นเป็นผู้นำในด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) โดยในบทความนี้เรามาทำความรู้จักกับ Baidu ให้มากขึ้น

 

ประเทศจีนกับการพัฒนาด้าน AI

ประเทศจีนนั้นถือว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาด้าน AI จากที่เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาประเทศจีนจากการเป็นประเทศผู้รับจ้างผลิตสินค้ารายใหญ่ที่เน้นการผลิตเชิงปริมาณไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก โดยอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพื่อการต่อยอดในอนาคตมากที่สุด

 

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เงินทุนอุดหนุนจากภาครัฐ การสนับสนุนให้มีการร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติ รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการ เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศจีนก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 หรือ 2 ของโลกในการพัฒนาด้าน AI โดยข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ระบุว่าในปี 2021 ประเทศจีนมีบทวิจัยในด้านนี้ 138,000 เรื่อง เป็นรองไม่มากนักเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีประมาณ 150,000 งานวิจัย และจำนวน AI Application ที่มีการจดสิทธิบัตรก็มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก นอกจากนี้ประเทศจีนก็มีจำนวนบริษัทที่พัฒนาด้าน AI มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

 

Baidu (ไป่ตู้) นั้นเป็นบริษัทจีน บริษัทเดียว ที่มีการพัฒนา AI ครบวงจรนับตั้งแต่การออกแบบ Chip การมีกรอบการพัฒนา Deep Learning รวมทั้งความสามารถในการทำ Application ด้าน AI โดย ณ สิ้นปี 2022 Baidu มีจำนวนสิทธิบัตรที่จดทะเบียนด้าน AI มากที่สุดในโลกเกือบ 14,000 รายการ นอกจากนี้ Baidu ยังมี Open Source ด้าน AI ที่ผู้พัฒนาสามารถ Download มาใช้ได้ฟรีชื่อว่า PaddlePaddle ที่มีการ Download มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก PyTorch ของบริษัท META (เดิมคือ Facebook)

TSI_Article_506_Inv_เกาะกระแส AI จีนกับ Baidu_01

ส่วนการใช้งานด้าน Search Engine ทาง Internet ของประเทศจีนนั้น ตัวเลขกลางปี 2022 มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 800 ล้านคน ซึ่งชาวจีนนั้นมีการใช้งานด้านนี้เฉลี่ยตกคนละมากกว่า 2 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน ดังนั้น เทคโนโลยีด้าน AI จะมีส่วนสำคัญในการนำข้อมูลที่กระจัดกระจายที่มีจำนวนมากมายมหาศาลใน Internet จากการใช้งาน Search Engine นำมาวิเคราะห์ความต้องการ ความเข้าใจของคนที่ค้นหาข้อมูลเพื่อแนะนำ Content ให้กับผู้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์

 

ในขณะที่ผู้ประกอบกิจการก็สามาถนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มาดูความต้องการของผู้บริโภค เพื่อกำหนดกลยุทธ์การตลาด โดยมูลค่าตลาดของ Platform Search Engine ของประเทศจีนนั้น ในปี 2022 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 26,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2015 และคาดว่าจะเติบโตมากกว่าเท่าตัวเป็น 52,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 ทั้งนี้ Search Engine ของ Baidu ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรายเดือนกว่า 650 ล้านคน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดถึง 61% สูงที่สุดในประเทศจีน ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง Bing ของ Microsoft ที่มีส่วนแบ่งตลาด 14%

TSI_Article_506_Inv_เกาะกระแส AI จีนกับ Baidu_02

เรามาดูในด้านธุรกิจการให้บริการ Cloud กันบ้าง โดยประเทศจีนนั้นมีตลาดการให้บริการด้านนี้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก จากที่เป็นส่วนหนึ่งใน Made in China 2025 ทำให้รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยการใช้บริการ Cloud ส่งผลให้ตลาดของธุรกิจนี้ในประเทศจีนมีการขยายตัวสูงมาก โดยในปี 2021 มีมูลค่าตลาดประมาณ 30,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัท McKinsey & CO คาดว่ามูลค่าตลาดการใช้บริการ Cloud ของจีนจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัวเป็นเกือบ 90,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 ทั้งนี้ Baidu ให้บริการ Cloud แบบครบวงจร รวมทั้งมีการนำเอา AI มาผนวกกับการให้บริการในชื่อว่า AI Cloud ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มกลับมาให้ลูกค้า ทั้งนี้ AI Cloud ของ Baidu ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ติดต่อกัน 4 ปีซ้อนในตลาด Cloud สาธารณะของประเทศจีน โดย IDC (1H/2022)

 

ส่วนธุรกิจ Online Entertainment ของ Baidu ภายใต้ อ้ายฉีอี้ (iQIYI) ซึ่งก็คล้ายกับ Netflix ก็เป็นเพลตฟอร์มสตรีมมิงอันดับ 1 ในจีน โดยเฉพาะหนังซีรีส์ที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นจีน ในปี 2022 ที่ผ่านมามีผู้เข้าชมเฉลี่ย 530 ล้านคน แม้มีผู้สมัครเป็นสมาชิกแบบเสียเงินยังไม่มากนักคือประมาณ 129 ล้านคนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 แต่ก็อยู่ในช่วงการเติบโตโดยเพิ่มขึ้น 24% YoY ทั้งนี้ อ้ายฉีอี้ นั้นก็เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีชื่อย่อ IQ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

 

ส่วนการให้บริการระบบขับขี่เคลื่อนที่อัตโนมัติ หรือเทคโนโลยีไร้คนขับ (Self-Driving Car) ก็เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของ Baidu จากนี้ บริษัทถือว่าเป็นผู้นำในด้านนี้ โดยระบบขับขี่อัตโนมัติของ Baidu มีชื่อว่า Apollo ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตการใช้งานมากที่สุดในจีน รวมทั้งการทดสอบที่มีจำนวนระยะทางที่เป็นไมล์มากที่สุด และมี Algorithm สำหรับการใช้งานครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในประเทศจีน ทำให้ Baidu เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับ (Robotaxi) ภายใต้ชื่อ Apollo Go ที่ให้บริการมากกว่า 10 เมืองใหญ่ มีเที่ยวสะสมให้บริการกว่า 2 ล้านเที่ยวตั้งแต่เปิดดำเนินการ จนถึงสิ้นเดือนมกราคม ปี 2023

 

รายได้หลักของ Baidu

รายได้หลัก แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ Baidu Core และ iQIYI โดยในปีงบการเงิน 2022 คิดเป็นสัดส่วนราว 77% และ 23% ตามลำดับ ซึ่งรายได้จาก Baidu Core ก็ยังแบ่งย่อยออกเป็น ดังนี้

  1. บริการ Online Marketing มุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถในการค้นหาของเว็บไซต์ของลูกค้า และการโฆษณาผ่านเครื่องมือค้นหาบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถค้นหาและเข้าถึงเว็บไซต์ และเพิ่มโอกาสในการคลิกเข้าดูเว็บไซต์มากขึ้น โดยรายได้ส่วนนี้มีสัดส่วน 56% ของยอดรวม
  2. บริการ Cloud ซึ่งมีทั้งการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) การให้บริการเก็บข้อมูล (PaaS) การเช่าใช้ Software (SaaS) และ Application ต่าง ๆ มีสัดส่วนรายได้ 14%
  3. อื่น ๆ อาทิการให้บริการระบบขับขี่อัตโนมัติ การบริการ Robotaxi มีสัดส่วนรายได้ 7%
TSI_Article_506_Inv_เกาะกระแส AI จีนกับ Baidu_03
TSI_Article_506_Inv_เกาะกระแส AI จีนกับ Baidu_04

นอกจากที่ Baidu ดำเนินกลยุทธ์ AI ผ่านการให้บริการด้าน Search Engine บริการการ Feed คอนเทนต์ และการให้บริการการตลาดออนไลน์ รวมทั้งบริการ Cloud ในด้าน Generative AI* ที่ Microsoft ให้บริการอย่าง ChatGPT ทาง Baidu เองก็มีการพัฒนา Generative AI ของตัวเองชื่อ Ernie Bot” ซึ่งปัจจุบันเปิดให้ใช้งานได้ฟรี แต่ยังจำกัดผู้ใช้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและได้รับการอนุญาตเท่านั้น เนื่องจากทางการจีนยังไม่อนุมัติให้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ โดยบริษัทมีแผนนำมาผนวกกับธุรกิจค้นหาข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกหนุนรายได้โฆษณาในระยะยาว

 

*หมายเหตุ: Generative AI เป็นแขนงหนึ่งของ Machine Learning ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างโมเดล AI ที่เรียนรู้จากเนื้อหาที่มีอยู่แล้ว เช่น รูปภาพ ไฟล์วิดีโอ ข้อความ และเสียง โมเดลเหล่านี้จะสร้างเนื้อหาตามความต้องการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน Generative AI ใช้อธิบาย Algorithm (เช่น ChatGPT) ที่สามารถใช้เพื่อสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ ได้แก่เสียง โค้ด รูปภาพ ตัวอักษร แบบจำลอง วิดีโอ ซึ่งการเกิดขึ้นของ Generative AI นั้นมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการที่เราสร้างสรรค์คอนเทนต์ไปอย่างสิ้นเชิง

 

โอกาสลงทุนหุ้น Baidu ผ่านตลาดหุ้นไทย

ปัจจุบัน นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ซื้อขายบนกระดานตลาดหุ้นไทย เช่น DR (Depositary Receipt) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ออก DR จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนลงทุนหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศโดยตรง

 

ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัท ไป่ตู้ อิงค์ (Baidu, Inc.) หรือ DR ของหุ้น Baidu มีสัญลักษณ์ซื้อขาย คือ BIDU80 เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น Baidu ได้บนกระดานตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องยุ่งยากในการไปลงทุนฺหุ้น Baidu ในต่างประเทศโดยตรง ซื้อขายได้ด้วยเงินบาท ใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นไทย ซึ่งหากนักลงทุนมีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว ก็สามารถซื้อขายได้เลย ไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่ และเทรดได้สะดวกผ่านแอปพลิเคชัน Streaming เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป

 

อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ เช่น ลักษณะธุรกิจของหุ้นที่จะลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อที่จะลงทุนได้อย่างมั่นใจและช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการลงทุนใน DR กลไกการเคลื่อนไหวของราคา ตลอดจนวิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุนใน DR สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: