5 เสน่ห์การลงทุนอนุพันธ์

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
2 สิงหาคม 2566
6.594k views
TSI_Article_505_Inv_5 เสน่ห์การลงทุนอนุพันธ์_Thumbnail
Highlights
  • หากกำลังมองหาสินทรัพย์ลงทุน ที่จะทำกำไรทั้งในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง “ตราสารอนุพันธ์” ถือเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี โดยถูกออกแบบมาเพื่อใช้บริหารความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ก็ใช้เก็งกำไรได้ อีกทั้ง ลงทุนด้วยจำนวนเงินที่ไม่สูง ทำให้เป็นสนามลงทุนที่มีเสน่ห์ ด้วย 5 เหตุผลที่ไม่ควรพลาดเมื่อลงทุนอนุพันธ์ เติมเต็มโอกาสและความเป็นไปได้ในการลงทุน

  • อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แม้ตราสารอนุพันธ์จะมีจุดเด่นที่มีโอกาสทำกำไรที่ดี นักลงทุนก็ยังต้องรัดกุมและคำนึงถึงความเสี่ยงในการซื้อขาย เพราะเมื่อไรที่ขาดความระมัดระวังอาจขาดทุนสูงเช่นเดียวกัน

ในโลกของการเงิน นักลงทุนหลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่าหุ้น (ตราสารทุน) ซึ่งเป็นตราสารที่แสดงฐานะความเป็นเจ้าของในกิจการ และหุ้นกู้ (ตราสารหนี้) ที่แสดงฐานะการเป็นเจ้าหนี้ของกิจการ อย่างไรก็ดี ยังมีตราสารอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คือ “ตราสารอนุพันธ์” เพราะมีประโยชน์ทั้งการสร้างผลตอบแทนและการป้องกันความเสี่ยง และทำกำไรทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง

 

ตราสารอนุพันธ์ คือ ตราสารทางการเงินที่มูลค่าขึ้นอยู่กับสินค้าอ้างอิง (Underlying Asset) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ Forwards, Futures, Options และ Swap โดยปัจจุบัน บมจ.ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX ซึ่งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายอนุพันธ์ เปิดให้มีการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ 2 ประเภท คือ Futures และ Options

 

Futures คือ สัญญาที่คู่สัญญา 2 ฝ่ายตกลงราคาซื้อขายสินค้าอ้างอิงในวันนี้ แต่จะส่งมอบกันในอนาคต โดยผู้ซื้อและผู้ขายมีพันธะต้องซื้อขายกันตามที่ตกลงในสัญญา ขณะที่ Options คือ สัญญาสิทธิ ผู้ขายมีภาระต้องปฏิบัติตามพันธะในสัญญา ในขณะที่ผู้ซื้อมีสิทธิจะเลือกใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ในราคาและเวลาที่กำหนด โดยสินค้าตัวแรกของ TFEX คือ SET50 Index Futures จากนั้นได้เปิดให้มีการซื้อขาย SET50 Index Options และด้วยความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็ได้เพิ่มสินค้าอ้างอิงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย เช่น Single Stock Futures (สินค้าอ้างอิงหุ้นรายตัวตามที่ TFEX ประกาศ) 50 Baht Gold Futures (สินค้าอ้างอิงทองคำแท่งความบริสุทธิ์น้ำหนัก 50 บาท) 10 Baht Gold Futures (สินค้าอ้างอิงทองคำแท่งความบริสุทธิ์น้ำหนัก 10 บาท) และ USD Futures (สินค้าอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ) ที่สามารถใช้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

 

สำหรับปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2566) พบว่า SET50 Index Futures เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและมีปริมาณการซื้อขายเป็นอันดับ 1 (44% ของปริมาณการซื้อขายรวม) รองลงมา คือ Single Stock Futures (35% ของปริมาณการซื้อขายรวม) และอันดับ 3 คือ USD Futures (8% ของปริมาณการซื้อขายรวม)

 

ตลาดอนุพันธ์ เป็นตลาดที่มีเสน่ห์ในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผู้ที่สนใจเก็งกำไรและต้องการป้องกันความเสี่ยง โดยมีเหตุผล ดังนี้

 

1. สามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง

โดยทั่วไป การที่จะทำกำไรได้ ราคาของสินทรัพย์ที่ซื้อไปต้องปรับตัวขึ้น แต่ด้วยคุณสมบัติของตราสารอนุพันธ์ที่สามารถขายได้ก่อน (Short) และค่อยมาซื้อคืนทีหลัง (Long) ทำให้นักเก็งกำไรสามารถที่จะทำกำไรจากสภาวะตลาดที่เป็นขาลงได้ ถือเป็นอีกเสน่ห์หนึ่งที่ทำให้อนุพันธ์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสินทรัพย์โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้

 

ตัวอย่าง กรณีใช้ Futures ทำกำไรในตลาดขาขึ้น

(Long) SET50 Index Futures 1 สัญญา ที่ราคา 920 จุด และปิดสัญญาเมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นไปที่ 950 จุด (ไม่รวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ) จะได้กำไร = (950 - 920) x 200 x 1 สัญญา = 6,000 บาทต่อสัญญา

 

ตัวอย่าง กรณีใช้ Futures ทำกำไรในตลาดขาลง

(Short) SET50 Index Futures 1 สัญญา ที่ราคา 920 จุด และปิดสัญญาเมื่อดัชนีปรับตัวลงไปที่ 900 จุด (ไม่รวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ) จะได้กำไร = (920 - 900) x 200 x 1 สัญญา = 4,000 บาทต่อสัญญา

 

2. ใช้ในการป้องกันความเสี่ยง

ตราสารอนุพันธ์ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งในโลกแห่งการลงทุนที่ราคาสินทรัพย์มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา มีโอกาสที่ราคาสินทรัพย์นั้นจะเคลื่อนไหวไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำตราสารอนุพันธ์มาใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้

 

ตัวอย่าง การป้องกันความเสี่ยงจากการถือครองหุ้นด้วย Single Stock Futures

สมมติว่า นักลงทุนท่านหนึ่งถือหุ้น PTT จำนวน 10,000 หุ้น ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 33 บาท อย่างไรก็ดี มีความกังวลว่าราคาหุ้นอาจปรับตัวลงจึงต้องการป้องกันความเสี่ยง โดยการเปิดสถานะ Short หรือขายล่วงหน้า PTT Futures จำนวน (10,000/1,000) = 10 สัญญา เพื่อครอบคลุมจำนวนหุ้น PTT ที่ถืออยู่ ซึ่งมีมูลค่า 10,000 x 33 = 330,000 บาท (สมมติราคา PTT Futures ขณะเปิดสัญญาเท่ากับ 32 บาท และไม่รวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ)

 

ในอนาคตถ้าราคาหุ้นปรับตัวลงมาที่ 30 บาท จะทำให้มูลค่าหุ้นเหลือ 30 x 10,000 = 300,000 บาท แต่จะมีกำไรจากสถานะ Short PTT Futures (32 - 30) x 1,000 x 10 = 20,000 บาท มาชดเชย ทำให้มูลค่าหุ้นรวมในพอร์ตลงทุนเป็น 300,000 + 20,000 = 320,000 บาท

 

ตัวอย่าง การป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการลงทุนในต่างประเทศด้วย Currency Futures

สมมติว่า นักลงทุนนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้น TSLA ที่สหรัฐอเมริกา จำนวน 500 หุ้น ที่ราคา 200 ดอลลาร์สหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) พร้อมกับ Short USD Futures ที่ 34.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 100 สัญญา เพื่อต้องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต

 

อีก 6 เดือนต่อมา นักลงทุนขายหุ้น TSLA จำนวน 500 หุ้น ที่ราคา 220 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมนำเงินกลับเข้ามาในประเทศไทย โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไม่รวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ) นักลงทุนแลกเงินบาทกลับไทยได้ 34 x (500 x 220) = 3,740,000 บาท และได้กำไรจากการ Short USD Futures (34.7 - 34) x 1,000 x 100 = 70,000 บาท รวมผลตอบแทน 3,740,000 + 70,000 = 3,810,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 8.9% แต่ถ้าไม่ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนผลตอบแทนจากการลงทุน ก็จะเหลือ 6.9%

 

3. การมี Leverage

การซื้อขายตราสารอนุพันธ์จะใช้ระบบ Margin คือ วางเงินหลักประกัน (Initial Margin) เพียงบางส่วนประมาณ 5 – 25% ของมูลค่าสัญญาขึ้นอยู่กับสินค้าอ้างอิงนั้น ๆ แต่สามารถเลียนแบบผลตอบแทนได้เสมือนการลงทุนในสินทรัพย์นั้นโดยตรง เช่น ซื้อหุ้น BANPU ที่ราคา 9 บาท จำนวน 20,000 หุ้น ใช้เงินลงทุน 180,000 บาท ถ้าราคาหุ้นปรับขึ้นที่ 9.5 บาท และปิดทำกำไรก็จะได้กำไร 10,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทนราว 5.5% แต่ถ้าเปิด Long BANPUM23 จำนวน 20 สัญญาที่ราคาหุ้นละ 8.98 บาท วางหลักประกันที่ 14,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2566) ถ้าราคาขึ้นไปที่ 9.48 บาท และปิดสถานะทำกำไร จะได้กำไร 10,000 บาท จากเงินตั้งต้นที่ 14,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทนสูงถึงราว 71% (ไม่รวมค่าธรรมเนียมต่าง  ๆ) อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนคาดการณ์ในการเทรดผิดทาง ราคาหุ้น BANPU กลับปรับตัวลงก็จะทำให้ขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน หมายความว่า ตราสารอนุพันธ์ที่มี Leverage เปรียบเสมือนดาบ 2 คม ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่พร้อมและมีเวลาติดตามข้อมูลและราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดเท่านั้น 

 

ทั้งนี้ Single Stock Futures (SSF) ไม่ใช่ทุกตัวที่จะมีสภาพคล่องสูง ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่นักลงทุนจะซื้อขายผ่านกระดาน TFEX โดยตรง ด้วยเหตุนี้ บริษัทหลักทรัพย์ในไทยหลายแห่งได้เปิดให้มีบริการธุรกรรม Block Trade ซึ่งจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องต่ำของ SSF ในกระดาน TFEX ได้

 

Note: Leverage คือ เครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการลงทุนให้สูงขึ้น ทำให้สามารถซื้อสินทรัพย์ได้มากขึ้นหลายเท่า ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น ในทางกลับกันอาจขาดทุนได้มากกว่าเดิมเช่นกัน

 

4. ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดอนุพันธ์ถูกกว่าในตลาดหุ้น

การซื้อขายสินทรัพย์ต่าง ๆ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ค่าธรรมเนียม หรือ ค่า Commission ที่ต้องจ่ายออกไป กระนั้นก็ดี ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดอนุพันธ์จะถูกกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น โดยการซื้อขาย Single Stock Futures (SSF) ที่มีหุ้นอ้างอิงตัวเดียวกับการซื้อขายหุ้น ค่า Commission ของการเปิดสถานะ SSF จะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.1% ของมูลค่าสัญญา อีกทั้ง หากพิจารณาค่า Commission ของการซื้อขาย SET50 Index Futures พบว่าอยู่ที่ราว 0.05% ของมูลค่าสัญญา รวมทั้ง USD Futures อยู่ที่ประมาณ 0.03% จึงเห็นได้ว่าต้นทุนธุรกรรมในการซื้อขายอนุพันธ์ค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำกว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นพอสมควร

 

5. เพิ่มทางเลือกการเข้าถึงสินค้าในตลาดโลก

นักเก็งกำไรที่ต้องการเทรดทองคำ โลหะเงิน และยางพาราในตลาดโลก คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าไปถึงตลาดที่ซื้อขายสินค้าดังกล่าว แต่การที่ไม่มีกฎหมายในประเทศไทยรองรับการโอนเงินข้ามประเทศ ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อ TFEX เปิดให้มีการซื้อขาย Futures ที่อ้างอิงกับสินค้าดังกล่าว ทำให้นักเก็งกำไรสามารถเข้าถึงสินค้าที่ซื้อขายในตลาดโลกได้สะดวก รวดเร็ว

 

โดย Futures ที่อ้างอิงกับทองคำใน TFEX จะมี Gold Futures ขนาด 50 บาท และ 10 บาท (สัญลักษณ์ GF และ GF10) รวมทั้ง Gold Online Futures (สัญลักษณ์ GO) นอกจากนี้ ยังมี Gold-D (สัญลักษณ์ GD) ขณะที่ โลหะเงินจะมี Silver Online Futures (สัญลักษณ์ SVF) ในส่วนของยางพาราก็มี Japanese Rubber Futures (สัญลักษณ์ JRF) นอกจากนี้ ยังมีอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นคู่สกุลเงินยอดฮิตในตลาดโลกอย่าง EUR/USD และ USD/JPY (สัญลักษณ์ EURUSD และ USDJPY) ให้เลือกซื้อขายกันได้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตราสารอนุพันธ์จะมีเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้มาก แต่เนื่องจากเป็นตราสารที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง นักลงทุนจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนเข้าไปซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของสัญญา การคำนวณราคา การวางหลักประกัน ผลตอบแทน ความเสี่ยง และติดตามข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด

 

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของตราสารอนุพันธ์ได้ที่ https://www.tfex.co.th/th/products/products.html หรือ https://www.bualuang.co.th/content/301-.html?lg=th

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการลงทุนในอนุพันธ์ประเภทต่าง ๆ ทั้ง Futures และ Options ตลอดจนกลไกการซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ การวางหลักประกัน กลยุทธ์การลงทุน และข้อควรระวังของการลงทุนในอนุพันธ์ สามารถเรียนรู้ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนอนุพันธ์ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: