ข้อควรรู้ก่อนลงทุนกองทุนรวม

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
20 มกราคม 2565
12.046k views
Inv_ข้อควรรู้ก่อนลงทุนกองทุนรวม_Thumbnail
Highlights

หลายคนอาจมีคำถามว่า หากจะเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวมวันนี้ “สายเกินไปหรือยัง” คำตอบคือ ไม่สาย เพราะการลงทุน ไม่มีคำว่าสายเกินไป เพียงแต่ต้องศึกษาหาข้อมูล วิเคราะห์ สำรวจตัวเองให้ดี เนื่องจากการเลือกกองทุนรวมหรือเลือก บลจ. ก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่แตกต่างไปจากการลงทุนหุ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนที่ลงทุนกองทุนรวมแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น หากต้องการประสบความสำเร็จต้องเริ่มต้นให้ดี เพราะถ้าเริ่มดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตลาดการลงทุนผันผวนอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับการลงทุนในกองทุนรวมที่ผันผวนจนนักลงทุนรู้สึกกังวลกับผลตอบแทนว่าจะสมหวังดังใจหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายคนที่มองว่าเมื่อลงทุนในกองทุนรวมไปแล้วจะมีผู้จัดการกองทุน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนคอยดูแลเม็ดเงินลงทุนให้อยู่แล้ว เพียงแค่รู้จักตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน มีเป้าหมายการลงทุนอย่างไร จากนั้นก็ลงทุนได้เลย

 

ซึ่งไม่ผิดที่คิดเช่นนั้น แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะนอกจากนักลงทุนจะรู้จักตัวเองแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกองทุนรวมนั้น ๆ อีกด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ ก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมใดกองทุนหนึ่ง จะต้องมีสิ่งที่ต้องพิจารณา เปรียบเหมือนกับเรากำลังเลือกซื้อรองเท้า เมื่อรู้ขนาดเท้าของตัวเองแล้วก็ต้องหารองเท้าที่มีขนาดพอเหมาะกับเท้าตัวเอง แถมยังต้องเลือกยี่ห้อ เลือกสี เลือกลาย เลือกราคา การลงทุนในกองทุนรวมก็เช่นกัน

 

อันดับแรก ต้องรู้จุดประสงค์และเป้าหมายการลงทุนของตัวเองก่อนว่าต้องการลงทุนเพื่ออะไร จากนั้นมาดูว่ามีกองทุนรวมใดบ้างที่มีนโยบายการลงทุนตรงกับเป้าหมายการลงทุนที่ต้องการ เช่น ต้องการลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนสูง ๆ อีกทั้งสามารถรับความเสี่ยงได้สูง ก็ต้องมองไปที่กองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ  

 

แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองอายุเริ่มเยอะขึ้น รับความเสี่ยงได้น้อยลง ไม่อยากสูญเสียเงินต้นมาก แต่อีกใจหนึ่งก็ยังต้องการผลตอบแทนในระดับปานกลาง ก็ควรมองไปที่กองทุนรวมแบบยืดหยุ่นหรือกองทุนรวมผสม แต่ถ้าไม่อยากเห็นเงินต้นสูญหาย แสดงว่ารับความเสี่ยงได้น้อยและยอมรับผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำได้ ก็ต้องเน้นกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนให้ครบถ้วนขึ้น ก็ต้องมองไปที่กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน แต่ไม่ควรลงทุนในสัดส่วนที่สูง เพราะกองทุนรวมดังกล่าวมีความผันผวนสูง เหมาะสำหรับเพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเท่านั้น

 

ที่สำคัญ การเลือกกองทุนรวมนั้นไม่ควรดูเพียงนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนเท่านั้น แต่ควรศึกษารายละเอียดด้านพอร์ตการลงทุนของแต่ละกองด้วย เพราะถึงแม้เป็นกองทุนรวมประเภทเดียวกันก็จะมีการลงทุนในตราสารที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนรวมหุ้น มีทั้งกองที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก หุ้นเติบโต หุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง หรือหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมใด อุตสาหกรรมหนึ่ง

 

ถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็ต้องดูว่ากองทุนรวมนั้นไปลงทุนตราสารหนี้ประเภทใด เช่น ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น พันธบัตรระยะยาว ลงทุนหุ้นกู้ เป็นต้น หรือหากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ไปลงทุนต่างประเทศ ต้องดูด้วยว่าตราสารหนี้ที่ไปลงทุนนั้นเป็นตราสารประเภทใด มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับไหน ลงทุนตราสารหนี้ประเทศอะไร เป็นต้น

 

ดังนั้น นักลงทุนจะต้องเข้าไปดูในรายละเอียดว่ากองทุนรวมนั้นไปลงทุนในตราสารประเภทใด สัดส่วนการลงทุนเป็นอย่างไร เพราะสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกัน ความเสี่ยงและผลตอบแทนย่อมแตกต่างกันด้วย ถัดจากนั้นต้องเข้าใจเกี่ยวกับผลตอบแทนของกองทุนรวม โดยผลตอบแทนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Total Return กับ Price Return

 

โดย Total Return เป็นผลตอบแทนที่ได้รวมเงินปันผลเข้าไปแล้ว โดยดูผลตอบแทนนี้เป็นหลักเพราะกองทุนรวมบางกองมีนโยบายจ่ายเงินปันผล และบางกองทุนก็ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ส่วน Price Return เป็นผลตอบแทนของกองทุนรวมที่ไม่ได้รวมการจ่ายเงินปันผลเข้ามา ดังนั้น โดยปกติแล้วผลตอบแทนแบบ Price Return จะต่ำกว่า Total Return

 

ต่อมาควรดูผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (Annualized Return) ซึ่งวิธีการคำนวณจะใช้วิธีการเฉลี่ยต่อปี ด้วยการนำผลตอบแทนในแต่ละปีมาบวกกันแล้วก็หารจำนวนปีที่ต้องการดูค่าเฉลี่ย เช่น ถ้าต้องการดูผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2560 - 2564) ก็นำผลตอบแทนปี 2560 ถึง 2564 มาบวกกัน แล้วก็หารด้วย 5 ผลลัพธ์ออกมาจะเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี

 

กับอีกวิธี คือ ดูผลตอบแทนแบบสะสม (Cumulative Return) จะเป็นการนำผลตอบแทนปีแรกกับผลตอบแทนที่ต้องการคำนวณปีล่าสุดมาดู เช่น ถ้าต้องการหาผลตอบแทนของกองทุนรวมปี 2560 - 2564 ก็นำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ปี 2560 และปี 2564 มาคำนวณ (โดยที่ไม่ต้องสนใจตัวเลขปี 2561 - 2563) เช่น NAV ปี 2560 อยู่ที่ 10 บาท ส่วน NAV ปี 2564 อยู่ที่ 20 บาท แสดงว่ากองทุนรวมนี้มีผลตอบแทนในปี 2564 เพิ่มขึ้น 100% จากปี 2560

 

ดังนั้น จะสังเกตได้ว่าหากคำนวณผลตอบแทนแบบสะสม จะเห็นตัวเลขผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุนว่าต้องการดูผลตอบแทนด้วยวิธีใด

 

ถัดจากนั้นนักลงทุนต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวมกับตัวชี้วัด (Benchmark) เช่น ถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้น ก็ต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนกับดัชนีหุ้นไทย (SET Index) หรือถ้าเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่อยู่ใน SET50 ก็ต้องเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของดัชนี SET50 Index เป็นต้น

 

การเปรียบเทียบดังกล่าว เป็นการวัดว่าผู้จัดการกองทุนมีประสิทธิภาพเพียงใดและสามารถเอาชนะตัวชี้วัดได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากกองทุนรวมนั้นไม่สามารถเอาชนะ Benchmark ได้เลย ก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดว่าควรลงทุนหรือไม่ หรืออาจหันไปพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมที่มีลักษณะเป็น Passive Fund ซึ่งผลตอบแทนจะเกาะไปกับ Benchmark แถมค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายก็อยู่ในระดับต่ำอีกด้วย

 

แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน จะเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ยของ 5 ธนาคารขนาดใหญ่ หรือถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ก็ต้องดูว่าลงทุนตราสารหนี้ประเภทใด ถ้าเป็นพันธบัตรรัฐบาล ก็เปรียบเทียบกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล แต่ถ้าไปลงทุนในหุ้นกู้ก็จะเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของหุ้นกู้   

 

นอกจากจะเปรียบเทียบกับ Benchmark แล้ว ต้องเปรียบเทียบกับกองทุนรวมประเภทเดียวกันด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่น เปรียบเทียบผลตอบแทน ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม พูดง่าย ๆ ต้องเปรียบเทียบกับกองทุนรวมที่เป็นคู่แข่งด้วย เพราะอย่าลืมว่าในบางปีกองทุนรวมทุกกองก็สามารถเอาชนะ Benchmark ได้เหมือนกันหมด ดังนั้น ต้องเลือกกองทุนรวมที่ดีที่สุด เช่นเดียวกัน ถ้าปีไหนที่กองทุนรวมทำผลงานออกมาย่ำแย่เหมือน ๆ กัน ยิ่งต้องเปรียบเทียบกันว่ากองทุนรวมไหนที่ติดลบ (ขาดทุน) น้อยที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไม่ควรดูแค่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว ต้องดูความเสี่ยงของกองทุนรวมด้วย ในที่นี้หมายถึง หากเป็นกองทุนรวมตราสารทุน ผลตอบแทนย่อมสูง ความเสี่ยงย่อมสูงด้วย หรือกองทุนรวมตลาดเงิน ความเสี่ยงต่ำ แต่ผลตอบแทนก็ต่ำตามไปด้วย

 

ดังนั้น หากจะดูเรื่องความเสี่ยง ต้องไปดูค่าความผันผวน (Standard Deviation) โดยค่าความผันผวนยิ่งต่ำยิ่งดี หมายความว่า ความผันผวนของผลตอบแทนต่ำ NAV จะไม่เหวี่ยงมาก ตรงกันข้ามถ้าค่าความผันผวนสูง แสดงว่าผลตอบแทนจะมีความผันผวนมาก NAV ก็จะเหวี่ยงมาก บางจังหวะอาจจะพุ่งขึ้นไปสูง แต่อีกไม่กี่วันถัดมากลับปรับลดลงจนน่าใจหาย

 

ถัดจากนั้น ให้พิจารณาผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ว่ากองทุนรวมนั้น ๆ ใครคือผู้จัดการกองทุน โดยหลักสากลแล้วกองทุนรวมอาจจะบริหารด้วยผู้จัดการกองทุนคนเดียวหรือบริหารกันเป็นทีมก็ได้ แต่ในประเทศไทยนั้น กองทุนรวมทั้งหมดจะบริหารกันเป็นทีม ดังนั้น อาจจะไม่มีผลกระทบกับกองทุนรวมมากนัก หากมีผู้จัดการกองทุนคนใดคนหนึ่งลาออก เพราะยังมีผู้จัดการกองทุนอีกหลายคนบริหารต่อไป แต่ถ้าผู้จัดการกองทุนตัดสินใจลาออกพร้อมกันยกทีม อาจจะกระทบกับการบริหารกองทุนได้

 

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนต้องพิจารณาด้านประสบการณ์ของผู้จัดการกองทุนแต่ละคนด้วยว่าเป็นอย่างไร มีชื่อเสียงด้านการบริหารกองทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าผู้จัดการกองทุนแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน เช่น เชี่ยวชาญตลาดหุ้น เชี่ยวชาญตลาดตราสารหนี้ หรือเชี่ยวชาญตลาดการลงทุนต่างประเทศ

 

นอกเหนือจากนี้ ต้องดูผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนรวมด้วยว่าเป็นอย่างไร เพราะจะสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของแต่ละ บลจ. ว่ามีความเชี่ยวชาญการลงทุนด้านไหน เช่น บลจ.นี้เชี่ยวชาญการลงทุนหุ้น อีกแห่งเชี่ยวชาญการลงทุนตราสารหนี้ หรือบางแห่งเชี่ยวชาญการลงทุนต่างประเทศ

 

ปัจจัยที่ลืมไม่ได้ คือ ค่าใช้จ่าย โดยค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ผู้ลงทุนต้องจ่ายให้กับ บลจ. เช่น ค่าใช้จ่ายด้านค่าธรรมเนียมการซื้อ (Front-End Fee) และค่าธรรมเนียมการขาย (Back-End Fee)

 

อีกส่วนที่ต้องจ่าย คือ จ่ายให้กับกองทุนรวม โดยจะหักออกจาก NAV ของกองทุนรวมนั้น ๆ เรียกค่าใช้จ่ายนี้ว่า Total Expense Ratio เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าสอบบัญชี ค่าประกาศหนังสือพิมพ์มูลค่าหน่วยลงทุน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้จะประกาศผ่านหนังสือรายงานประจำปี

 

หากศึกษาข้อมูลข้างต้นทั้งหมด เพียงเท่านี้ นักลงทุนมือใหม่ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวมได้อย่างมั่นใจและมีโอกาสประสบความสำเร็จในระยะยาว


สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ที่สนใจเรียนรู้เทคนิคการเลือกกองทุนรวมแต่ละประเภท พร้อมสร้างและบริหารพอร์ตกองทุนรวมด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ห้องเรียนกองทุนรวม The Series” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: