“ฉันเคยเห็นผู้คนที่สูญเสียทุกสิ่งและทุกคนที่พวกเขารักไปกับ สงคราม ความอดอยาก และ … ภัยทางธรรมชาติ” Chelsea Clinton นักเขียนชาวสหรัฐฯ ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ กลายเป็นตัวแปรที่สำคัญกับเศรษฐกิจและตลาดการเงินอย่างคาดไม่ถึง ไม่ใช่แค่เพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น แต่บางครั้ง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ให้คุณหรือโทษกับชาวโลกในบางจุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับตลาดการเงิน ในช่วง 9 – 12 เดือนที่จะถึงนี้มีการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ชื่อว่า เอลนีโญ (El Nino) เป็นเรื่องใหญ่ที่นักลงทุนไทยจะต้องเผชิญ บทความนี้จะตอบคำถามทุกท่านว่า เอลนีโญคืออะไร สำคัญกับการลงทุนอย่างไร โอกาสและความท้าทายในบริบทหุ้นไทยอยู่ที่ไหน มาหาคำตอบกันครับ
ปรากฏการณ์เอลนีโญคือเรื่องของ "น้ำ" และ "ลม"
ตามธรรมชาติ กระแสลมจะพัดจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูงและอุณหภูมิต่ำ ไปสู่บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำและอุณหภูมิสูง หรือหากมองผ่านแผนที่โลก กระแสลมจะพัดจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ทวีปอเมริกาใต้) ไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อินโดนีเซียและออสเตรเลีย)
ธรรมชาติจะนำพากระแสน้ำจากฝั่งตะวันออก ซึ่งมีระดับน้ำสูงกว่าและอุ่นกว่ามายังฝั่งตะวันตก ประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย จะได้รับความชุ่มชื้นและฝนตกชุกจากการเปลี่ยนแปลงนี้
อย่างไรก็ดี ธรรมชาติของกระแสลมและกระแสน้ำ จะมีช่วงพิเศษที่เรียกว่า El Nino (เอลนีโญ แปลว่า เด็กผู้ชายในภาษาสเปน) ที่กระแสลมและกระแสน้ำจะเคลื่อนในทิศทาง "กลับทิศ" กับปกติ หรือเปลี่ยนจากฝั่งตะวันตกไปสู่ฝั่งตะวันออก
ผลกระทบที่ตามมา คือประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียจะเกิดสภาวะแห้งแล้งฉับพลัน บางครั้งลุกลามไปถึงปัญหาไฟป่า ในขณะที่ทวีปอเมริกาใต้จะชุ่มชื้นผิดปกติ ฝนตกมาก กระแสน้ำเย็นไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาบนผิวน้ำได้ ทำให้แร่ธาตุอาหารต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ลดลง
สำหรับนักลงทุนไทย แม้ประเทศเราจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ผลทางอ้อมก็เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของการลงทุนสูงอย่างไม่น่าเชื่อ
เหตุผลหลัก คือ เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ "น้ำ" คือประเด็นแรก ความแห้งแล้งจะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในคลองที่ขุดเพื่อใช้ในการขนส่ง หรือการส่งออกนำเข้าระหว่างประเทศ เช่น คลองปานามาตอนเหนือสุดของทวีปอเมริกาใต้ คลองสุเอซที่เชื่อมต่อการขนส่งทวีปยุโรปและเอเชีย หรือคลองหยวนเหอที่เชื่อมการขนส่งวัตถุดิบจากเมืองเทียนจินไปจนถึงเมืองหางโจวของจีน
ประเด็นต่อมาคือ "ลม" จะส่งผลให้ประเทศแถบออสเตรเลีย อินโดนีเซีย รวมถึง ไทย ร้อนขึ้น ในขณะที่ยุโรปตอนเหนือจะมีสภาพอากาศเย็นกว่าปกติ อุปสงค์ด้านอาหารและพลังงานในทั้งสองทวีปนี้จะมีการเปลี่ยนแปลง และเมื่อทั้งน้ำและลมเปลี่ยน "ผลผลิตทางการเกษตร" ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบ ปริมาณที่ผลิตข้าว ปุ๋ย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล หรือถั่วเหลืองจะลดลง ราคาจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น กระทบต้นทุนด้านการเกษตรอื่น ๆ เช่น ปศุสัตว์ เป็นต้น
สำหรับนักลงทุนไทย เมื่อมองผลกระทบของเอลนีโญกับธรรมชาติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในประเทศ จะพบโอกาสและความเสี่ยงที่หลากหลาย ดังนี้
1. น้ำลด ไฟตก เรือแพง
ผมมองว่า หุ้นเดินเรือ อย่าง PSL หรือ Precious Shipping เป็นผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มเรือสินค้าแห้ง เทกองขนาด Supramax จะได้ประโยชน์จากอัตราค่าระวาง (TC Rate) ที่ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับดัชนีค่าระวางเรือ หรือเรียกโดยย่อว่า BDI (Baltic Dry Index: เป็นดัชนีที่ใช้เป็นค่ากลางกำหนดราคาค่าขนส่งสินค้าทางทะเล) โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาหุ้น PSL มีค่าความสัมพันธ์ (Correlation) กับ BDI ในทิศทางบวก สูงถึง 50bp
แต่เมื่อ "น้ำลด" หุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่ใช้น้ำเป็นตัวปั่นกระแสไฟฟ้าราว 45% ของรายได้ทั้งหมด อย่าง CK Power (CKP) จึงอาจถูกกดดันจากข่าวปริมาณน้ำในเขื่อน เพราะมีความเสี่ยงที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจะลดลงไปพร้อมกัน
2. ลมร้อน หิวน้ำ และความหวาน
เมื่ออากาศในแถบเอเชียร้อนขึ้น SAPPE เป็นหนึ่งในหุ้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากสัดส่วนยอดขาย มาจากการขายในประเทศไทย 20% เอเชีย 36% และตะวันออกกลาง 18%
ในขณะเดียวกัน หุ้น KSL (บริษัท น้ำตาลขอนแก่น) ที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลและอ้อยรายหลักของไทย จะได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับตัวขึ้น โดยทางศูนย์วิจัย CIMB Thai และบล. CGS-CIMB เชื่อว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปที่ 20 – 23 เซนต์/ปอนด์ เนื่องจากผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกอย่างบราซิลจะประสบปัญหาท่าเรือที่แออัดและผลผลิตที่น้อยลง ส่วนผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกอย่างอินเดีย กลับกำลังใช้มาตรการลดโควตาการส่งออก จึงเป็นโอกาสของไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 3 ของโลก
3. ต้นทุนการเกษตร และกำลังซื้อพลังงาน
สำหรับนักลงทุนไทย เรื่องที่ต้องระวังจากเอลนีโญ คือ ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่จะเพิ่มขึ้น เป็นแรงกดดันกับผู้ประกอบการเกษตร เช่น CPF (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) เพราะต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์จะสูงขึ้น เช่น ราคาข้าวโพดหรือกากถั่วเหลือง เหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของต้นทุนการขายทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น อาจไม่เป็นเชิงบวกไปทั้งหมด เช่น ถ่านหินกับ BANPU นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า อากาศที่หนาวเย็นในโซนยุโรปเหนือจะช่วยหนุนราคาถ่านหิน แต่ถ้ามองลึกลงไป ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาด TTF (Title Transfer Facility) ของเนเธอร์แลนด์ยังคงปรับตัวลดลง เพราะสต๊อก LNG ในยุโรปอยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ปริมาณความต้องการพลังงาน อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการใช้พลังงานซึ่งจะเป็นเชิงลบต่อบริษัทได้
โดยสรุป การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่นักลงทุนไทยต้องเรียนรู้และฝึกวิเคราะห์ "เอลนีโญ" ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักลงทุนไทย และผมมองว่า น้ำลด ลมร้อน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของธุรกิจ จะเป็นธรรมชาติที่สนับสนุนหุ้น PSL SAPPE และ KSL ขณะเดียวกัน ก็กดดันหุ้น CKP BANPU และ CPF บนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ครับ
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวคิด ความสำคัญ และแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เทรนด์การลงทุนระยะสั้น แต่กำลังเป็นการลงทุนกระแสหลักของโลก สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ESG วิถีใหม่ลงทุนอย่างยั่งยืน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่