กลยุทธ์ลงทุน เมื่อตลาดหุ้นมีแรงต้านมากกว่าแรงส่ง

โดย สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์
3 Min Read
14 กรกฎาคม 2566
17.792k views
TSI_Article_500_Inv_กลยุทธ์ลงทุน เมื่อตลาดหุ้นมีแรงต้านมากกว่าแรงส่ง_Thumbnail
Highlights
  • หากครึ่งหลังของปี 2566 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอก ประกอบกับการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอน และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไม่มาตามนัด อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีแรงต้านมากกว่าแรงส่ง

  • นักลงทุนต้องปรับแผนการลงทุนด้วยการวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน (Bottom Up) และคัดเลือกหุ้นที่ปลอดภัย มีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่เติบโตแข็งแกร่ง มีอำนาจในการกำหนดราคาสูง มีฐานะทางการเงินที่แข็งแรง หรือได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลใหม่เพียงเล็กน้อย

ย้อนกลับไปช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 ดัชนีหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับ 1,600 จุดขึ้นไป เนื่องจากได้รับปัจจัยเชิงบวกจากการเปิดเมืองเต็มที่ แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ดัชนีหุ้นเริ่มปรับลดลง จากการชะลอตัวของภาคการผลิต เงินเฟ้อที่ลดลง การหดตัวของภาคส่งออก เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากการเปลี่ยนมุมมองการลงทุน

 

หากพิจารณาความเคลื่อนไหวของกระแสเงินลงทุนช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่าเงินไหลเข้าพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade จากการประเมินว่าเงินเฟ้อเริ่มปรับลดลง นโยบายการเงินเริ่มลดระดับความตึงตัว และความต้องการลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเงินบางส่วนก็ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นจีนที่มีความคาดหวังเชิงบวกกับการเปิดประเทศของจีน

 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกระเพื่อมจากผลการเลือกตั้งที่สร้างเซอร์ไพรส์ ได้สร้างแรงกดดันต่อบริษัทขนาดใหญ่และธีมลงทุนการเปิดประเทศ นักลงทุนจึงมีความกังวลต่อนโยบายของรัฐบาลใหม่ รวมถึงยังหวาดกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ใช้กลยุทธ์ Wait & See เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง

 

ครึ่งหลังของปี 2566 ต้องเจออะไรบ้าง

ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับ 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังอยู่ระดับสูง ความเสี่ยงจากสภาพคล่องทางการเงินที่จะตึงตัวยาวขึ้น และเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จะชะลอการขยายตัวลง

 

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยมีโอกาสไม่เติบโต นั่นหมายความว่า หากเกิดภาพดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวพร้อมเพรียงกัน (Synchronized Slowdown) ในครึ่งหลังของปีนี้

 

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในระยะอันใกล้ ที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน คือ การจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่มีความแน่นอน เพราะหากเกิดความล่าช้าจะส่งผลต่อกระบวนการทำงบประมาณ และการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ต้องมีการเซ็นสัญญาใหม่ให้ล่าช้าไป 2 - 3 ไตรมาส

 

ในทุกปีที่การเมืองมีการเปลี่ยนแปลง จะกระทบกับการเบิกจ่ายของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนในช่วงถัดไป เช่น การเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2550 – 2551 หรือปี 2554 – 2555 ทำให้การลงทุนภาครัฐหดตัว ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายมาก (เพียง 37% จากค่าเฉลี่ย 60%) ขณะที่การรัฐประหารในปี 2557 ทำให้การลงทุนภาครัฐและเอกชนหดตัว รวมถึงทำให้งบประมาณภาครัฐ (ทั้งประจำและลงทุน) เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายยาวนานถึง 3 ปี จึงมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าในปีนี้ จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งประจำและลงทุน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะหดตัว

 

สำหรับการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมหลักของไทย ประเมินว่ายังคงหดตัว บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ได้รับผลจากการฟื้นตัวของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้สดที่ส่งไปยังจีน และในระยะต่อไป สินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น จะทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำและกดดันภาคการส่งออกไทยต่อไป

 

เน้นหุ้นกลุ่มปลอดภัย

จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ประเมินว่าจะเห็นดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นได้ไม่มาก โดยอาจปรับขึ้นไปที่ระดับ 1,650 จุด ขณะที่อาจปรับลงไปที่ระดับ 1,450 จุด หมายความว่า ครึ่งหลังของปีนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น เนื่องจากเป็นปีที่ประเมินสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจโลกได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น ต้องพิจารณาข้อมูลรายบริษัทเป็นหลัก พูดง่าย ๆ ให้ใช้การวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน (Bottom Up) และคัดเลือกลงทุนหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) ที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่เติบโตแข็งแกร่ง มีอำนาจในการกำหนดราคาสูง มีฐานะทางการเงินที่แข็งแรง หรือได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลใหม่เพียงเล็กน้อย

แนวโน้มรายกลุ่มอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2566


กลุ่ม


ปัจจัยกระตุ้น


ปัจจัยเสี่ยง

ท่องเที่ยว

คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจชะลอตัวและค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร

เครื่องดื่ม

อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นจากต้นทุนที่ลดลงและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ

การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังพร้อมกับต้นทุนที่ผันผวนและค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงขึ้น

พาณิชย์

กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง

การเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อ ต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล (ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้นและการยกเลิกการผูกขาด)

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

คาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวในไตรมาส 3/2566 จากช่วงไฮซีซั่นและการติดตั้งกำลังการผลิตใหม่เพื่อสนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับรถยนต์ EV ที่แข็งแกร่ง ในขณะที่เงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมและการใช้จ่ายด้าน IT

พลังงาน (น้ำมันและก๊าซ)

อุปสงค์น้ำมันเบนซินตามฤดูกาลจะช่วยสนับสนุนค่าการกลั่น

ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบที่สูงขึ้นหลังจากซาอุดิอาระเบียลดกำลังการผลิตลงอีก การเติบโตของอุปสงค์อ่อนแอกว่าคาด จากความกลัวว่าเศรษฐกิจชะลอตัว นโยบายของรัฐบาลใหม่ในการเข้าแทรกแซงธุรกิจการตลาดน้ำมัน

การแพทย์

บริการที่ไม่เกี่ยวกับ COVID-19 ที่เติบโตมากขึ้น EBITDA Margin ที่แข็งแกร่งขึ้นจากการมีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติและการให้บริการรักษาโรคเฉพาะทางที่เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวประกันสังคมในเดือนพฤษภาคม ปี 2566

เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่จะส่งผลกระทบ ทำให้ผู้ป่วยชะลอการเข้าใช้บริการ การแข่งขันรุนแรง เนื่องจากโรงพยาบาลเริ่มกลับมาขยายจำนวนเตียง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

สาธารณูปโภค

ต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง

ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงจากลูกค้าอุตสาหกรรม จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ค่า Ft ลดลง นโยบายของรัฐบาลใหม่ในการเข้าแทรกแซงธุรกิจไฟฟ้า

ธนาคาร

ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ประกัน

กรมธรรม์ใหม่ที่เพิ่งขายออกไป และกรมธรรม์ที่ขายไปแล้ว เพิ่มสูงขึ้น

ความเสี่ยงต่อการเติบโตของเบี้ยประกันรับอันเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ลดลง จากเงินเฟ้อสูง

อสังหาริมทรัพย์

กำไรจะลดลงจากปีที่แล้ว แต่จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้น

ปิโตรเคมี

อุปสงค์ตามฤดูกาลจากการผลิตสูงสุดของผู้ผลิตปลายน้ำ ผลกระทบเชิงบวกอย่างต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของจีน

กำลังการผลิตเพิ่มเติม (ส่วนใหญ่จากจีน) ต้นทุนแนฟทาที่สูงขึ้น วัตถุดิบก๊าซจากอ่าวไทยที่ต่ำกว่า

วัสดุก่อสร้าง

ต้นทุนค่าสาธารณูปโภคระดับสูงจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อ และต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ

ไอซีที

ผลการดำเนินงานจะเติบโตจากรายได้ส่วนการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายด้านไอทีที่สูงขึ้น

จับตานโยบายของรัฐบาลใหม่

ขนส่งทางบก

ผลประกอบการดีขึ้นจากปริมาณการจราจรและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น

ความเสี่ยงด้านกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น

ยานยนต์

คำสั่งซื้อใหม่และการเปิดตัวรถรุ่นใหม่

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ลดลง

เงินทุน

การเติบโตของสินเชื่อถึงแม้จะชะลอตัวลง แต่ยังถือว่าแข็งแกร่ง

ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากแรงกดดันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และการแข่งขันที่สูงขึ้นจากธนาคาร

อาหาร

กำไรจะปรับตัวขึ้นจากความต้องการสูงตามฤดูกาล

ราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง จากอุปทานเพิ่มเติม กำลังซื้อที่เปราะบางจากแรงกดดันเงินเฟ้อ ต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รัฐบาล (ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น)

ที่มา : บล.อินโนเวสท์ เอกซ์



หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ ค้นหาหุ้นดี น่าลงทุนด้วย Stock Screening เพื่อให้ได้หุ้นดี โดนใจ โดยไม่ต้องใช้เวลาค้นหานาน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Screening” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: