ตลาดเงินและตลาดทุนผันผวนในเดือนมิถุนายนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้รอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินล่าสุดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% แต่ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสขึ้นไปแตะที่ 5.75% ในปลายปีนี้ และไม่น่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยในปีนี้เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูงและเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร) ยังไม่มีท่าทีจะปรับลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่ตัวเลขภาคการค้าปลีกในสหรัฐฯ เริ่มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง และภาคการผลิตเริ่มหดตัว ผมจึงมองว่าผลการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ตึงตัวมาปีเศษ ๆ นี้ น่าจะเริ่มเห็นผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดความร้อนแรงลง จนเฟดอาจขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกเพียงหนึ่งครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้
เราคงต้องจับตาท่าทีของประธานเฟดว่า จะมีมุมมองต่อภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ อย่างไร แต่ด้วยภาพการขึ้นดอกเบี้ยที่ใกล้สิ้นสุดนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะเริ่มทรงตัวหรือปรับย่อลงได้ในที่สุด โดยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการเข้าสะสมตราสารหนี้คุณภาพดี ที่ให้ผลตอบแทนสูงและเปิดโอกาสได้รับ Capital Gains จากการปรับลงของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมเป็นจังหวะที่นักลงทุนจะติดตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนช่วงไตรมาส 2/2566 ที่จะทยอยประกาศออกมา ซึ่งเราน่าจะเห็นการที่บริษัทขนาดใหญ่ทั้งที่ลงทุนในสหรัฐฯ และทั่วโลก รวมทั้งบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยียังมีกำไรที่น่าสนใจอยู่
ในส่วนของตลาดจีน นักลงทุนอาจผิดหวังในเดือนก่อนที่รัฐบาลจีนยังไม่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจีนมากพอ มีเพียงการลดอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบหลังเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนต่าง ๆ มีสัญญาณการเติบโตที่ช้าลง ทั้งภาคการผลิต การค้าปลีก อีกทั้งการส่งออกที่พลิกกลับมาติดลบช่วงเดือนพฤษภาคม และราคาบ้านยังปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ดี ผมมองว่าตลาดหุ้นจีนได้ปรับตัวลงมามากแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังมีท่าทีจะขยายตัวได้เกือบ 5% ในปีนี้ รวมทั้งรัฐบาลจีนมีโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะชะลอมากไปกว่านี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการบริโภคของจีน นอกจากนี้ ภาคเทคโนโลยีของจีนปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งไม่ได้มีมาตรการจำกัดกลุ่มเทคเช่นในอดีต น่าจะช่วยให้ตลาดจีนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้
สำหรับหุ้นไทยที่ปรับย่อตัวลงมาในเดือนมิถุนายนจากความกังวลในการจัดตั้งรัฐบาลและความผันผวนของตลาดทุนทั่วโลกนั้น ผมมองว่า แม้ความไม่แน่นอนจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในเดือนนี้ แต่ด้วยมูลค่าหุ้นที่ลดลงมาค่อนข้างมาก ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังมีท่าทีสดใสขึ้นกว่าครึ่งปีแรกด้วยรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน และการส่งออกจะหดตัวน้อยลงและเริ่มเป็นบวกได้จากการฟื้นตัวในภาคอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเกษตรแปรรูป ขณะที่ความต้องการด้านอสังหาริมทรัพย์จะทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะจากอุปสงค์นักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ เราน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนทางการเมืองหลังเปิดประชุมสภาฯ และลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี แม้อาจมีความไม่แน่นอนบ้าง แต่เชื่อว่าสุดท้ายเราจะมีคณะรัฐบาลชุดใหม่มาบริหารประเทศได้ในไม่ช้า น่าจะสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้กลับมาได้ โดยหุ้นไทยขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการที่ดีและมีการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นน่าจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนได้ในเดือนนี้
โดยสรุป ผมมองว่า เดือนกรกฎาคมนี้นักลงทุนน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่ไม่น่าจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปมากกว่าที่คาด ดังนั้น หุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ และที่ลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว รวมทั้งหุ้นจีนน่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อตลาดทุน โดยเฉพาะกลุ่มเทคจีนที่น่าจะฟื้นตัวจากมาตรการภาครัฐที่เอื้อต่อกลุ่มนี้มากขึ้น ในส่วนของตลาดหุ้นไทยน่าจะได้แรงสนับสนุนจากเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติหลังมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลในไม่ช้า นอกจากสินทรัพย์ประเภทหุ้นแล้ว ผมยังมองว่านักลงทุนน่าจะหาโอกาสสะสมสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี ที่น่าจะได้โอกาสจากทั้งผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูงและจากโอกาสได้รับมูลค่าที่สูงขึ้นหรือ Capital Gains หลังอัตราผลตอบแทนเริ่มปรับลดลง
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่