ปัจจุบันรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 ของคนไทยไปแล้ว เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนสาธารณะยังเข้าไม่ถึงคนทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด ทำให้หลายคนยังต้องดิ้นรนหาซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์มาใช้เป็นพาหนะในการไปทำงาน รับส่งบุตรหลานไปโรงเรียน รวมถึงใช้เพื่อเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีคนไทยจำนวนไม่มากที่มีกำลังซื้อรถ (รถใหม่ รถมือสอง) ด้วยเงินสด หมายความว่าส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสถาบันการเงินในการขอสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถ ซึ่งก็มีการผ่อนตั้งแต่ 24 เดือนไปจนถึง 60 เดือน หรือรถยนต์บางประเภทก็สามารถเลือกผ่อนได้ถึง 84 เดือน (ขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้เช่าซื้อ)
ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจุบันบัญชีสินเชื่อรถยนต์รวม 1 ล้านคัน ที่มีความเสี่ยงที่จะถูกยึด โดยแบ่งเป็นกลุ่ม Gen Y จำนวน 600,000 บัญชีที่มีปัญหา ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นหนี้เสียไปแล้ว 350,000 บัญชี ในขณะที่กลุ่ม Gen X มีบัญชีที่เป็นปัญหาประมาณ 400,000 บัญชี ซึ่งปัจจุบันเป็นหนี้เสียไปแล้วประมาณ 200,000 บัญชี
โดยในกลุ่มที่หนี้ยังไม่เสียแต่มีความเสี่ยง จะเป็นกลุ่มของลูกหนี้ที่มีการเลี้ยงงวดหรือผ่อนแบบฟันหลอ คือ หยุดผ่อน 1 – 2 งวด แล้วกลับมาผ่อนใหม่ 1 งวด หลังจากนั้นก็จะหยุดผ่อน 1 – 2 งวดอีก แล้วก็กลับมาผ่อนใหม่ 1 งวด หมุนวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกปรับลดชั้นไปเป็นหนี้เสีย เพราะหากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ 3 งวดติดต่อกัน ก็จะกลายเป็นการผิดสัญญาเช่าซื้อ และทำให้สถาบันการเงินมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที
สำหรับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียหรือเป็นหนี้เสียไปแล้ว หากไม่รู้ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง ขอแนะนำแนวทางเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เริ่มผ่อนไม่ไหว แต่ยังไม่ผิดสัญญาเช่าซื้อ
กลุ่มนี้จะเป็นลูกหนี้ที่เริ่มผ่อนแบบเลี้ยงงวดหรือผ่อนแบบฟันหลอ คำแนะนำ คือ ให้คิดเสียก่อนว่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เป็นของนอกกาย (ไม่ตายก็หาใหม่ได้) ซึ่งจะทำให้มี 3 ทางเลือก ได้แก่
วิธีการที่ถูกต้องในกรณีนี้ คือ ผู้ขายต้องเปลี่ยนให้ผู้ซื้อเข้ามาเป็นผู้เช่าซื้อหรือลูกหนี้โดยตรงกับไฟแนนซ์ ซึ่งปกติก็จะทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อรับเงินมัดจำไว้ก่อน หลังจากนั้นก็ให้ผู้ซื้อติดต่อกับไฟแนนซ์เพื่อขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยอาจจะติดต่อกับไฟแนนซ์เดิมที่ผู้ขายทำสัญญาเช่าซื้ออยู่หรือติดต่อกับไฟแนนซ์เจ้าใหม่ก็ได้ และหากไฟแนนซ์อนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ซื้อแล้ว ก็นัดหมายกันเข้าไปเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อที่ไฟแนนซ์ ซึ่งผู้ขายต้องอ่านในสัญญาที่เปลี่ยนใหม่นั้นให้มั่นใจว่าผู้ซื้อจะเข้ามาเป็นลูกหนี้ตามสัญญาแทน และผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบหนี้หรือความเสียหายใด ๆ หลังจากวันที่เปลี่ยนสัญญาอีก
สำหรับผู้ที่เลือกการรีไฟแนนซ์ จะต้องประเมินให้ดีด้วยว่าหลังจากรีไฟแนนซ์ไปแล้ว แม้ว่าจำนวนที่ผ่อนต่อเดือนจะน้อยลง แต่ก็ยังมีภาระรายจ่ายประจำเดือนที่ต้องผ่อนรถเป็นประจำทุกเดือน กระแสเงินสดที่จะได้รับมาในแต่ละเดือนนั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ยังเหลือพอที่จะนำมาผ่อนชำระค่างวดได้หรือไม่ เพราะหากมีกระแสเงินสดรับที่ไม่แน่นอนหรือไม่เพียงพอ ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคต ถ้าเป็นแบบนี้ ยอมตัดใจขายดาวน์ต่อหรือคืนรถให้ไฟแนนซ์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
กลุ่มที่ 2 ผิดสัญญาเช่าซื้อ และผ่อนต่อไม่ไหวแล้ว
ในกรณีที่ขาดส่งเงิน 3 งวดติดต่อกัน ก็จะถือว่าคุณผิดสัญญา และไฟแนนซ์จะมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ไปชำระเงินภายใน 30 วัน หากไม่ได้ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ไฟแนนซ์ก็จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งการที่ถูกบอกเลิกสัญญาก็จะต้องนำรถไปคืน พร้อมกับชดใช้หนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมดคืนให้กับไฟแนนซ์ รวมถึงต้องชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ให้กับไฟแนนซ์ด้วย
โดยค่าขาดราคานั้นจะเกิดจากการที่ไฟแนนซ์นำรถที่นำมาคืนหรือไฟแนนซ์ไปยึดมาไปขายทอดตลาด และหากขายได้ต่ำกว่าราคาขายรถยนต์ยี่ห้อและรุ่นเดียวกันซึ่งมีสภาพ อายุการใช้งาน ตลอดจนระยะทางการใช้งานที่ใกล้เคียงกันในท้องตลาดเท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเท่านั้น เช่น รถที่เช่าซื้อไปนั้น ปกติมือสองที่ขายในท้องตลาดขายกันอยู่ที่ราคา 700,000 บาท แต่รถที่ไฟแนนซ์ได้คืนไปแล้วนำไปขายทอดตลาดได้ราคาเพียง 600,000 บาท ผู้ซื้อก็มีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาให้กับไฟแนนซ์อีก 100,000 บาท
หากไม่ชำระค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ให้กับไฟแนนซ์ ไฟแนนซ์ก็จะมีการแต่งตั้งทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องคดีโดยผู้ซื้อจะได้รับหมายศาลส่งมาตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในบัตรประชาชน แต่ไม่ต้องตกใจเพราะการผิดสัญญาเช่าซื้อเป็นเพียงความผิดทางแพ่งเท่านั้น ไม่ได้มีโทษจำคุกแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ข้อแนะนำเวลาที่ได้รับหมายศาล คือ ให้ไปที่ศาลตามวันเวลา (จะมีทนายความหรือไม่ก็ตาม ก็ขอให้ไปตามนัดดังกล่าว) โดยในนัดแรกนั้นศาลจะให้ผู้ซื้อกับทางไฟแนนซ์ได้ไกล่เกลี่ยกันว่าจะชำระหนี้ส่วนที่ขาดได้หรือไม่ เพียงใด ซึ่งผู้ซื้อสามารถเจรจาขอลดหนี้ลงได้พอสมควร เพราะผู้ไกล่เกลี่ยประจำศาลหรือผู้พิพากษาก็จะช่วยคุณเจรจาไกล่เกลี่ยด้วย แต่ถ้าไม่สามารถเจรจากันได้ก็อาจจะต้องแต่งตั้งทนายความเพื่อต่อสู้คดีต่อไป และท้ายที่สุดหากผู้ซื้อแพ้คดี นอกจากที่จะต้องชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์แล้ว ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 5% ต่อปีเพิ่มอีกด้วย
สรุปแล้ว หากอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะผ่อนรถต่อไม่ไหว ข้อแนะนำ คือ ต้องรีบจัดการปัญหานี้ก่อนที่จะผิดนัดชำระ 3 งวดติดกัน เพราะเมื่อถึงจุดนั้นแสดงว่าจะเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ และแม้ว่าจะนำรถยนต์ไปคืนไฟแนนซ์ ก็ยังจะต้องชำระเงินค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ด้วย
แต่หากมั่นใจว่าผ่อนต่อไปไม่ไหวก็สามารถเลือกที่จะขายดาวน์ หรือนำรถยนต์ไปคืนและบอกเลิกสัญญาก่อนที่จะเป็นฝ่ายผิดนัด ก็จะไม่ต้องชดใช้หนี้เพิ่มเติมนอกจากหนี้ที่ค้างอยู่ก่อนวันเลิกสัญญาเท่านั้น และสำหรับผู้ที่ยังตัดใจขายหรือคืนรถไม่ได้ และต้องการที่จะรีไฟแนนซ์เพื่อลดเงินผ่อนต่องวดลง ก็ขอให้พิจารณาถึงกระแสเงินสดรับจ่ายในแต่ละเดือน หากยังพอไหวก็เลือกที่จะไปต่อได้ แต่ถ้าไม่ไหวก็ขอว่าอย่าฝืน ตัดใจวันนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาหนี้เสียและมีประวัติไม่ดีในเครดิตบูโรจะดีกว่า
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้วิธีจัดการหนี้เมื่อหนี้เริ่มมีปัญหา โดยจะอธิบายขั้นตอนและวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ด้วยตนเอง และการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เหมาะกับผู้ที่เป็นหนี้แล้วหรือผู้ที่ภาระหนี้เริ่มพอกพูนกังวลว่าจะมีปัญหาในอนาคต สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “เป็นหนี้แล้วจัดการยังไง” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่