สนามหุ้นไทย เวทีลงทุนระยะยาว

โดย เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส
3 Min Read
11 กรกฎาคม 2566
9.085k views
TSI_Article_497_Inv_สนามหุ้นไทย เวทีลงทุนระยะยาว_Thumbnail
Highlights
  • ท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนที่ขาดความเชื่อมั่น เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และปัจจัยลบรุมเร้า จึงเป็นช่วงเวลาที่ลงทุนได้ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะนักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะสั้น (เทรดดิ้ง)

  • ความหวังอยู่ที่การตั้งรัฐบาลใหม่ หากผ่านไปด้วยดี ตลาดหุ้นมีโอกาสดีดตัวขึ้น และหากนำส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล หรือที่เรียกว่า Earning Yield Gap มาพิจารณา พบว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ

  • หากลงทุนในระยะยาว โดยเลือกหุ้นที่ดี ในราคาที่เหมาะสม จากนั้นก็ถือข้ามช่วงเวลาที่อึมครึมนี้ไป เชื่อว่าจะมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถูกกดดันต่อเนื่อง เริ่มจากปัจจัยภายในประเทศ จากประเด็นทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านของนโยบายต่าง ๆ ตามที่หาเสียงไว้ รวมถึงปัจจัยหุ้นรายตัวที่มีการตกแต่งงบการเงิน ความผิดปกติด้านการซื้อขาย ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ มาจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความกังวลการเกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ รวมถึงศึกภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังอึมครึม ปัจจัยเหล่านี้ โดยเฉพาะปัจจัยภายในประเทศ ทำให้นักลงทุนขาด “ความเชื่อมั่น” ต่อการลงทุน สังเกตจากมูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลง ทั้งการซื้อขายผ่านบัญชีมาร์จิ้น เม็ดเงินลงทุน (Fund Flow) ของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออก โดยปัจจัยสำคัญมาจากการขาดความเชื่อมั่นใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้

 

1. การเมือง

ในอดีต หลังการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในโหมด Election Rally (ตลาดหุ้นจะปรับขึ้นก่อนและหลังการเลือกตั้ง) แต่จากผลการเลือกตั้งรอบล่าสุด (วันที่ 14 พฤษภาคม 2566) เมื่อนักลงทุนทราบผลการเลือกตั้ง พบว่าผิดจากความคาดหมายในหลายส่วน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ 2 ระดับ คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะราบรื่นหรือไม่ และถ้าไม่ราบรื่น เหตุการณ์จะพัฒนาไปเป็นอย่างไร และจะมีผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงของการพยายามฟื้นตัวหรือไม่ ทำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ Wait & See หรือลดน้ำหนักการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์

 

2. นโยบายหาเสียงกับฐานะการคลัง

จาก 8 พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ได้ทำการเซ็น MOU มีทั้งหมด 23 ข้อ 5 แนวทางปฏิบัติ พบว่ามี 11 นโยบาย ที่สอดคล้องกับนโยบาย 100 วันแรกของพรรคก้าวไกล ทับซ้อนข้อตกลง MOU 23 ข้อ และนโยบายที่ทับซ้อนกันนี้ มีผลกระทบต่อหุ้นในตลาดเพียงเล็กน้อย

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีนโยบายในการกระจายงบประมาณสู่กระทรวงต่าง ๆ ซึ่งเม็ดเงินจะถูกใช้จ่ายทั้งหมดราว 650,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินที่จะนำมาสนับสนุน ส่วนใหญ่มาจากการปฎิรูปเชิงโครงสร้างของงบประมาณในกระทรวงต่าง ๆ การปรับโครงสร้างภาษี เป็นต้น

 

ส่วนแนวทางในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ก็อาจมาจากการกู้ ซึ่งหากสามารถรักษากรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดหนี้สาธารณะ (Public Debt) ต่อ GDP ไม่เกิน 70% ก็จะกู้เพิ่มได้อีกราว 1.36 ล้านล้านบาท (บนสมมุติฐาน GDP 17.54 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวต้องผ่านอุปสรรคที่สำคัญ เช่น แนวคิดการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (Zero-Base Budgeting) การปฎิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างสมดุล ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามต่อไป เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และจะมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน

 

3. ความเชื่อมั่นจากหุ้นรายตัว

กรณีที่หุ้นถูกตรวจพบว่ามีการตกแต่งบัญชี ทำให้เกิดความเสียหาย ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อการลงทุน โดยปัจจัยหนึ่งที่สังเกตได้ คือ มูลค่าการซื้อขายที่ลดลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายผ่านบัญชีมาร์จิ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้บรรยากาศตลาดหุ้นโดยรวมลดความคึกคักลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

 

ความหวัง ยังมีเสมอ

สมมติว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีราบรื่น หลังจากนั้นรัฐบาลเริ่มทำงานอย่างเต็มที่และเป็นไปตามกลไก ประเมินว่าตลาดหุ้นจะ “ดีดตัวขึ้น” ทั้งปริมาณและมูลค่าการซื้อขาย อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยที่ทำให้การดีดตัวมีข้อจำกัด เช่น กำไรของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 2.67 แสนล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2 ประเมินว่าอาจจะทรง ๆ ซึ่งเป็นด่านหินที่มีผลต่อภาพการลงทุนในไตรมาส 3 ของปีนี้

 

นอกจากนี้ นักลงทุนต้องรอดูนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2% หากปรับขึ้นต่อจะส่งผลต่อความน่าสนใจของตลาดหุ้น คือ ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้น (Earning Yield) กับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield) หรือเรียกว่า Earning Yield Gap 

 

โดย Earning Yield Gap เกิดจากการนำผลตอบแทนของตลาดหุ้น (กำไรต่อหุ้นของตลาดหารด้วยดัชนีหุ้นไทย) ลบด้วยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุ 1 ปี ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการย้ายเงินลงทุนจากตลาดพันธบัตรไปตลาดหุ้น หรือเรียกว่า Risk Premium 

 

เหตุผลที่เลือกใช้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล อายุ 1 ปี เนื่องจากจะสะท้อนความเคลื่อนไหวได้ดีกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับขึ้นหรือลง ประกอบกับพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยไทยส่วนใหญ่ลงทุนระยะสั้น จึงเลือกใช้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 1 ปี มาคำนวณ

 

จากการวัดค่าเฉลี่ย Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.20% หมายความว่า หากนักลงทุนยอมย้ายเงินลงทุนจากพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี มาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 4.20% แต่จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยล่าสุดอยู่ที่ 2% ทำให้ Earning Yield Gap อยู่ที่ระดับ 3.91%

 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หมายความว่า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะปรับขึ้นตาม ทำให้ Earning Yield Gap แคบลง ผลที่ตามมา คือ ความสนใจที่จะลงทุนในตลาดหุ้นจะลดน้อยลง เนื่องจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไม่แตกต่างกันมากเท่าที่ควร อาจเป็นสาเหตุให้นักลงทุนจัดสรรเม็ดเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในสัดส่วนที่เพิ่มขี้น แทนที่จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น ซึ่งเป็นกลไกของการสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน

 

อย่างไรก็ตาม Earning Yield Gap ตลาดหุ้นไทยก็อยู่ในระดับสูงกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่อยู่ระดับ 3.07%, 1.52% และ 1.87% ตามลำดับ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

 

นอกจากนี้ เชื่อว่า Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสไหลกลับเข้ามา เนื่องจากตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ถือว่า Laggard กว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ เชื่อว่าครึ่งหลังของปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำประมาณ 22 – 23% (ไม่รวม NVDR) เทียบกับในอดีตที่เคยสูงกว่า 30% จึงเชื่อว่ายังมีช่องว่างให้เติมเต็ม เมื่อความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง

 

ประเมินดัชนีเป้าหมาย

Bloomberg Consensus ประมาณอัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทย (EPS Growth) ปี 2566 ว่าจะอยู่ราว 94.40 บาทต่อหุ้น ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประมาณการที่ระดับ 91.80 บาทต่อหุ้น ซึ่งหากอิง Earning Yield Gap ระดับ 4.0% และนำ EPS Growth ที่ระดับ 91.80 บาทต่อหุ้น มาคิดเป็นดัชนีเป้าหมายปี 2566 จะได้ 4 สมมติฐาน

 

  • EPS Growth 91.80 + อัตราดอกเบี้นโยบาย 2% ได้ดัชนีเป้าหมาย 1,542 จุด
  • EPS Growth 91.80 + อัตราดอกเบี้นโยบาย 25% ได้ดัชนีเป้าหมาย 1,480 จุด
  • EPS Growth 94.40 + อัตราดอกเบี้นโยบาย 2% ได้ดัชนีเป้าหมาย 1,586 จุด
  • EPS Growth 94.40 + อัตราดอกเบี้นโยบาย 25% ได้ดัชนีเป้าหมาย 1,522 จุด

 

ขณะที่หากพิจารณาเฉพาะ EPS Growth ที่ระดับ 91.80 บาทต่อหุ้น อิงระดับ Earning Yield Gap 4% ดัชนีเป้าหมายจะอยู่ระดับ 1,542 จุด ซึ่งหาก กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง ดัชนีเป้าหมายจะอยู่ที่ระดับ 1,480 จุด อย่างไรก็ตาม หากต้องการดัชนีเป้าหมายระดับเดิมที่ 1,542 จุด EPS Growth จะต้องเพิ่มขึ้น 4.4% หรือที่ระดับประมาณ 95.80 บาทต่อหุ้น

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้หลักการวิเคราะห์ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน และแนวทางการปรับพอร์ตให้เหมาะกับตนเองและสถานการณ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Portfolio Rebalancing” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: