สำรวจโอกาสลงทุน ด้วยสินทรัพย์เสี่ยงต่ำไปถึงเสี่ยงสูง

โดย เพชรดา ปรารถนาผาติสุข นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี
2 Min Read
7 กรกฎาคม 2566
14.238k views
TSI_Article_496_Inv_สำรวจโอกาสลงทุน ด้วยสินทรัพย์เสี่ยงต่ำไปถึงเสี่ยงสูง_Thumbnail
Highlights

หลายคนคงเคยมีคำถามว่า ลงทุนอะไร ให้ผลตอบแทนดีที่สุด? บทความนี้จะพามาสำรวจสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทว่ามีลักษณะ ผลตอบแทน และความเสี่ยงเป็นอย่างไร ตลอดจนข้อดี ข้อเสียของสินทรัพย์นั้น โดยไล่เรียงตั้งแต่สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง สินทรัพย์ที่ว่านี้มีอะไรบ้าง โอกาสการลงทุนเป็นอย่างไร มาหาคำตอบกัน

ย้อนกลับไปไม่นานนี้ หากจะลงทุนในสินทรัพย์อะไรสักอย่าง ต้องยอมเสียเวลาเป็นวันไปต่อคิวที่สถาบันการเงิน กรอกเอกสาร แต่ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน แค่ตัดสินใจลงทุนทุกอย่างก็เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว

 

อย่างไรก็ดี ความง่ายอาจไม่ใช่ทุกอย่าง หลายท่านยังไม่รู้ว่าจะลงทุนก้าวแรกอย่างไรดี บทความนี้จะมาแนะนำตัวเลือกการลงทุนจากสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำไปสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงสำหรับครึ่งหลังของปี 2566

 

เริ่มต้น ฝึกนิสัยการออมด้วย "เงินฝากประจำ"

การฝากประจำคือการนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารตามระยะสัญญา ซึ่งผลตอบแทนหรือยีลด์ (Yield) ที่ได้รับจะมาในรูปของ "ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ" หรือ Term Deposit Rate โดยจะระบุผลตอบแทนไว้อย่างชัดเจน เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ณ ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.3 – 1.7% ต่อปี แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร

 

ข้อดี คือ ได้รับดอกเบี้ยคงที่ และสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป รวมถึงมีการรับประกันเงินฝากบางส่วน ส่วนข้อเสีย คือ บัญชีเงินฝากประจำทั่วไปจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากดอกเบี้ยที่ได้รับ และมีค่าปรับหากถอนก่อนกำหนดจึงต้องอยู่ให้ครบตามระยะสัญญา ทำให้เสียโอกาสในการลงทุนสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และที่สำคัญคือให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด

 

ผลตอบแทนที่สูงขึ้นแต่ความเสี่ยงยังต่ำคือ "พันธบัตรออมทรัพย์"

ในตลาดการเงินจะรู้จักกันในชื่อ Saving Bond เป็นตราสารทางการเงินที่กระทรวงการคลังออกมาเพื่อกู้เงินประชาชน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ มีการระบุผลตอบแทนที่ชัดเจน และได้เงินต้นคืนเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดสัญญา ซึ่งสามารถลงทุนได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารชั้นนำทั่วไปเหมือนเงินฝาก

 

แต่ความแตกต่างหลักคือ ความน่าเชื่อถือ (Credit) ของผู้ออกซึ่งเป็นภาครัฐ จึงมักมีอายุพันธบัตรที่ยาวกว่า 3 ปีขึ้นไป เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ล่าสุด เดือนพฤษภาคม 2566 มีพันธบัตรออมทรัพย์ออกจำหน่ายชื่อ “รุ่นออมอุ่นใจ” อายุสัญญา 7 ปี ได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.7%

 

จุดเด่นเหมือนเงินฝากคือ ความเสี่ยงต่ำเพราะเป็นรัฐค้ำประกันและให้ดอกเบี้ยคงที่ แต่จุดอ่อนสำคัญคือ มีปริมาณและระยะเวลาเสนอขายจำกัด ใช่ว่าอยากลงทุนแล้วจะทำได้ทันทีเหมือนการฝากเงิน นอกจากนี้ยังต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ย และลงทุนนานกว่าเงินฝากประจำ ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์อื่นนานขึ้น

 

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอนแทนสูงขึ้น และรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ป้ายต่อไปคือ "หุ้นกู้"

สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือหรือเครดิตของผู้ออกซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งแลกมาด้วยผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามอันดับความน่าเชื่อถือหรือเครดิตเรทติ้ง (Credit Rating) ของหุ้นกู้ และอายุของตราสาร

 

ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ SCBX โดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตเรทติ้ง AA+ อายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 3.1% ต่อปี หรือ หุ้นกู้ ORI ของบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตเรทติ้ง BBB+ อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 4.3 – 4.4 % ต่อปี เป็นต้น

 

เทคนิคที่สำคัญในการเลือกลงทุนคือ การดูอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท และพิจารณาว่าบริษัทมีศักยภาพในการชำระหนี้คืนหรือไม่ ข้อดีคือ ผลตอบแทนมักสูงกว่าพันธบัตรที่อายุใกล้เคียงกัน ส่วนข้อเสียคือ ความเสี่ยงที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะผิดนัดชำระหนี้

 

และถ้ารับความเสี่ยงบริษัทได้แล้ว ก็ต้องพูดถึงโอกาสลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงสุดนั่นคือ "หุ้นพื้นฐานดี มีเงินปันผล" 

ความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาอย่างเห็นได้ชัดที่สุดคือ ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk) และความไม่แน่นอนของผลตอบแทน ไม่ใช่ว่าหุ้นกู้หรือพันธบัตรไม่มีความเสี่ยงด้านตลาด แต่ Market Risk มักสูงเมื่อสินทรัพย์นั้นไม่มีผลตอบแทนที่ชัดเจน ขณะที่หุ้นราคามักเคลื่อนไหวตลอด ทำให้ระดับเงินปันผลเป็นอัตราที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้การจ่ายเงินปันผล ก็มักจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารอีกด้วย

 

แน่นอนว่า ความเสี่ยงมาคู่กับโอกาสเสมอ บริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีการจ่ายเงินปันผลดี มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ต่อเนื่อง อาจมีราคาปรับตัวขึ้นได้ด้วย นอกจากนี้ระดับเงินปันผล ก็มักจะสูงกว่าดอกเบี้ยของหุ้นกู้เพื่อทดแทนความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องรับความไม่แน่นอนของรายได้

 

ตัวอย่างหุ้นปันผลที่น่าสนใจ เช่น ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP มีอัตราเงินปันผลโดดเด่นในหุ้นกลุ่มการเงินที่ราว 6% ภายใต้แนวโน้มการเติบโตของรายได้ที่สม่ำเสมอ หรือ บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH อัตราปันผลอยู่ที่ประมาณ 7% หนึ่งในหุ้นที่จ่ายปันผลสูงในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอมาโดยตลอด นอกจากนี้ ข้อดีของเงินปันผลเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยจากตราสารหนี้คือ เสียภาษีที่ระดับ 10% ขณะที่ตราสารหนี้เสียภาษีดอกเบี้ยที่ระดับ 15%

 

สำหรับนักลงทุนไทย ครึ่งหลังของปี 2566 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทาย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น และตลาดการเงินเริ่มเจอแนวต้าน ทิศทางนโยบายการเงินยังเข้มงวด แถมมีความไม่แน่นอนทางการเมืองเข้ามาเสริม

 

ดังนั้น นักลงทุนอาจเริ่มด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและความผันผวนต่ำ ฝึกตัวเองให้มีวินัยในการลงทุน ขณะเดียวกัน ก็ติดตามข่าวสาร แนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจและค่อย ๆ เข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำว่า ผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นสิ่งที่มาคู่กันเสมอ จึงควรเลือกลงทุนจากระดับความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถยอมรับได้ด้วยเช่นกัน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้สไตล์การลงทุนแบบต่าง ๆ รวมไปถึงสไตล์หุ้นแต่ละประเภท เพื่อคัดเลือกหุ้นและวางกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Investment Styles” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: